สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2552 (อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 31, 2009 15:00 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีปริมาณการผลิต 2.95 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.43 และ 27.71 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะตลาดระดับกลางและตลาดระดับบน ตลอดจนโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ เช่น คอนโดมิเนียม ส่งผลต่อความต้องการไม้และเครื่องเรือน รวมทั้งปัจจัยเสริมของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลง

2. การตลาด

2.1 การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีปริมาณการจำหน่าย 0.95 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 20.83 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.06 ทั้งนี้ปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่เชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนราคาน้ำมันที่ยังผันผวน ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่าย

2.2 การส่งออก

การส่งออกของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 493.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.60 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 20.34 มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ จากการที่เศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ส่งสัญญาณที่ดีขี้น อีกทั้งการส่งออกไปยังตลาดรองของไทย เช่น ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนและประเทศแถบเอเซียใต้ ยังขยายตัวได้ดี

สำหรับรายละเอียดการส่งออกในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ของสินค้าในกลุ่ม อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ในไตรมาสนี้ มีมูลค่าการส่งออก 201.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 41 ของมูลค่าการส่งออกในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.21 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 26.95 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทเครื่องเรือนไม้ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน คือ ประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย

2)กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วยเครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบ รูปไม้ และ รูปแกะสลักไม้ ในไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 61.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกร้อยละ 12 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.96 และ 29.83 ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ กรอบรูปไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์

3)กลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ โดยไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 230.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 47 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด มูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.52 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 9.99 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไฟเบอร์บอร์ดและไม้อัด สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม

2.3 การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีจำนวน 116.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อ เทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.36 และ 36.91 ตามลำดับ การนำเข้าสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ท่อนประเภทไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้แปรรูปและไม้ซุง ซึ่งนำเข้ามาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น เครื่องเรือนประเภทต่าง ๆ โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว และสหรัฐอเมริกา สำหรับไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์และมาเลเซีย และในส่วนของผลิตภัณฑ์ไม้อัดและไม้วีเนียร์นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย และเมียนมาร์

3.สรุปและแนวโน้ม

การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบน ตลอดจนโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ รวมทั้งปัจจัยบวกของดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลง

การจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง เนื่องจากผู้บริโภคยังระมัดระวังกับการจับจ่ายใช้สอย อันเป็นผลจากความไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ยังไม่ชัดเจน อีกทั้งการเมืองภายในประเทศยังไม่มีเสถียรภาพมากนัก ประกอบกับผู้ผลิตประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่าย และราคาน้ำมันที่ผันผวน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกได้แก่ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่ต่ออายุไปจนถึงปีหน้า และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังหันมาให้ความสนใจและเจาะตลาดภายในประเทศมากขึ้น

การส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 เมื่อเทียบ

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 3 ปี 2552คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักของไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งคาดว่าจะมีเสถียรภาพยิ่งขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 หรือ ต้นปี 2553 อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ เริ่มเห็นผล นอกจากนี้ อุปสงค์ของตลาดส่งออกใหม่ เช่น ประเทศแถบเอเซียใต้ ยังขยายตัวได้ดี

ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว แต่ยังไม่ชัดเจนนักเช่นนี้ ผู้ประกอบการควรเร่งบริหารต้นทุน ทั้งการบริหารจัดการสต๊อกสินค้า ระบบโลจิสติกส์ และพัฒนากระบวนการผลิต รวมทั้งแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น โครงการที่อยู่อาศัย หรือสถาบันการเงิน ตลอดจนเน้นการสร้างความแตกต่าง เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการบริการหลังการขาย เป็นต้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ