สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2552 (อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 31, 2009 15:03 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1.การผลิตในประเทศ

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 มีปริมาณ 6,324.6 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.3 และในครึ่งแรกของปี 2552 มีปริมาณการผลิต 13,589 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.6 ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาก คือ ยาน้ำ เนื่องจากผู้ผลิตทำการวางแผนการผลิตที่แตกต่างไปจากปีก่อน โดยเปลี่ยนมาทำการผลิตสินค้าแต่ละประเภทในแต่ละครั้งเป็นปริมาณมาก ก่อนเปลี่ยนไปผลิตสินค้าประเภทอื่นแทน ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิต สำหรับสาเหตุที่ผู้ผลิตให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาในอุตสาหกรรมยามีสูง เพราะยาที่ผู้ผลิตในประเทศผลิตได้เป็นยาสามัญ ซึ่งมีคู่แข่งจำนวนมาก อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปริมาณการผลิตลดลง ร้อยละ 12.9 โดย ยาน้ำ เป็นประเภทยาที่ลดลงมาก เนื่องจากความต้องการในตลาดลดลง ประกอบกับมีการผลิตไว้ปริมาณมากตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนและในไตรมาสแรกของปีนี้แล้ว จึงลดปริมาณการผลิตลง เพราะยามีอายุการใช้งาน

2. การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 มีปริมาณ 6,008.4 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.3 และในครึ่งแรกของปี 2551 มีปริมาณการจำหน่าย 12,786.4 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.1 ซึ่งยาน้ำเป็นประเภทสินค้าที่มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตต่ำ จึงจำหน่ายได้ง่ายกว่ายาชนิดอื่น อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปริมาณการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 11.4 เนื่องจากมีความต้องการลดลง ทั้งจากโรงพยาบาล ซึ่งมีการซื้อยานอกการประมูลลดลง รวมทั้งร้านขายยา และคลินิก สั่งซื้อยาปริมาณน้อยลง โดยจะสั่งเท่าที่พอใช้ ไม่ทำการสต็อกสินค้าไว้มาก

3. การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 มีมูลค่า 9,088 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.9 อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 1.7 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 4,046.3 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 44.5 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สำหรับในครึ่งแรกของปี 2551 มูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคมีมูลค่า 18,332.3 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.9 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 8,096.1 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 44.2 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

ยารักษาหรือป้องกันโรคที่นำเข้าเหล่านี้ส่วนใหญ่มีสิทธิบัตร และมีราคาแพง เช่น ยาที่ใช้สำหรับกลุ่มคนวัยชรา เป็นต้น โดยนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลก นอกจากนี้การนำเข้ายาสามัญ ที่เป็นคู่แข่งกับผู้ผลิตในประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า แม้มูลค่าการนำเข้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่การขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มผู้ป่วยจากต่างประเทศเข้ามารักษาตัวในประเทศไทยลดลง ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อยานำเข้าจากโรงพยาบาลเอกชนลดลงด้วย ประกอบกับโรงพยาบาลภาครัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มูลค่าการนำเข้ายาไม่เติบโตมากเช่นปีก่อน

4. การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 มีมูลค่า 1,384.8 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.2 ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อาจสร้างความไม่แน่นอนให้กับผู้แทนจำหน่ายในต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการชะลอการนำเข้าสินค้า เพื่อลดค่าใช้จ่ายใน การจัดการต่าง ๆ ลง อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.6 ตลาดส่งออกสำคัญใน ไตรมาสนี้ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยการส่งออกไปประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 947.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 68.4 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สำหรับในครึ่งแรกของปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 2,671.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.5 ตลาดส่งออกสำคัญในครึ่งแรกของปี ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยการส่งออกไปประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 1,865.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 69.8 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด การขยายตลาดส่งออก ยังมีปัญหาบ้างในเรื่องความสะดวกและความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยาในประเทศคู่ค้า รวมถึงการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งขัน

5. สรุปและแนวโน้ม

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ยาน้ำ มีการผลิตและจำหน่าย เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมีความต้องการมากขึ้น และผู้ผลิตทำการวางแผนการผลิตที่แตกต่างไปจากปีก่อน โดยเปลี่ยนมาทำการผลิต

สินค้าแต่ละประเภทในแต่ละครั้งเป็นปริมาณมาก ก่อนเปลี่ยนไปผลิตสินค้าประเภทอื่นแทน เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ด้านการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการนำเข้ายาสิทธิบัตร และยาสามัญ ส่วนการส่งออกมีมูลค่าลดลง ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อาจสร้างความไม่แน่นอนให้กับผู้แทนจำหน่ายในต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการชะลอการนำเข้าสินค้าลง

สำหรับไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยามีแนวโน้มทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากยาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการการดำรงชีวิตของมนุษย์จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ประกอบกับภาครัฐให้ความสำคัญกับการควบคุมการเบิกค่าใช้จ่ายด้านยา และสนับสนุนให้มีการใช้ยาที่ผลิตในประเทศ แทนยานำเข้ามากขึ้น สำหรับมูลค่าการส่งออกคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับยังมีปัญหาในเรื่องความสะดวกและความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนยาในประเทศคู่ค้า รวมถึงการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งขัน อย่างไรก็ตามหากมีการรณรงค์ให้มีการยอมรับสินค้าไทย เพื่อสร้างความมั่นใจกับประเทศคู่ค้า จะทำให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้น ในส่วนมูลค่าการนำเข้าคาดว่ามีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ลดลง เนื่องจากโรงพยาบาลภาครัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตจากในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาครัฐมีความเข้มงวดในการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักมากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ