สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2552 (อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 31, 2009 15:09 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 36.51 และ 40.97 ตามลำดับ โดยลดลงทั้งในยางแผ่นและยางแท่ง เนื่องจากเป็นช่วงฝนตกบ่อย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง ทำให้ได้ผลผลิตน้อยลง ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ราคายางพารายังคงตกต่ำ โดยราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละ 55.00บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42.13 ทั้งนี้เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์ในตลาดหลักของโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลง และกระทบต่อความต้องการยางล้อรถยนต์ในประเทศดังกล่าวลดลง ซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ของโลกและเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย มีความต้องการลดลงตามไปด้วย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนราคายางพาราสูงขึ้นร้อยละ 13.08 เนื่องจากอุปทานยางมีจำกัด ซึ่งเป็นผลกระทบจากฝนตก ทำให้กรีดยางได้น้อย และความต้องการซื้อยางจากผู้ผลิตยางล้อจากจีนมีอยู่ต่อเนื่อง อันเป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจีน

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ลดลงร้อยละ 31.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากบริษัทร่วมทุนระหว่างประเทศไทย มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ซึ่งผลิตยางพารารวมกันสูงถึงร้อยละ 70 ของปริมาณการผลิตยางพาราทั่วโลก ได้ร่วมมือกันลดกำลังการผลิตและปริมาณการส่งออกยางลงร้อยละ 10 ในปี 2552 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง

การผลิตผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ของกลุ่มยางยานพาหนะโดยรวมสูงกว่าไตรมาสก่อนแต่ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มยางนอกรถยนต์มีปริมาณการผลิตประมาณ 4.40 ล้านเส้น เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 6.04 โดยเพิ่มขึ้นในยางนอกรถกระบะ ยางนอกรถบรรทุกและรถโดยสาร และยางนอกรถแทรกเตอร์ แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.10 โดยลดลงในยางนอกรถยนต์เกือบทุกประเภท ยกเว้นยางรถแทรกเตอร์ ส่วนกลุ่มยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยานมีปริมาณการผลิตประมาณ 9.24 ล้านเส้น เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 4.07 โดยเพิ่มขึ้นในยางนอกรถจักรยานยนต์ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 16.59 สำหรับกลุ่มยางในมีปริมาณการผลิต 14.63 ล้านเส้น เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 11.98 โดยเพิ่มขึ้นในยางในทุกประเภท และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนกลุ่มยางในทรงตัวโดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.47 โดยการผลิตยางในรถบรรทุกและรถโดยสารทรงตัว ยางในรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น แต่ยางในรถจักรยานลดลง สำหรับถุงมือยางมีการผลิตในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.07 และ 14.65 ตามลำดับ

การผลิตผลิตภัณฑ์ยางในครึ่งแรกของปี 2552 ของกลุ่มยางนอกรถยนต์ 8.56 ล้านเส้น กลุ่มยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน 18.13 ล้านเส้น และกลุ่มยางใน 27.69 ล้านเส้น เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2551 ลดลงร้อยละ 32.52 18.10 และ 5.72 ตามลำดับ โดยลดลงในยางเกือบทุกประเภท ยกเว้นยางนอกรถแทรกเตอร์ ส่วนยางในรถจักรยานยนต์ทรงตัว ในภาพรวมผลผลิตยางยานพาหนะหดตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย ส่งผลให้ผู้บริโภคต่างชะลอการใช้จ่าย ทำให้ยอดการจำหน่ายยานยนต์ลดลง ทำให้กระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตยางยานพาหนะตามไปด้วย สำหรับถุงมือยางมีการผลิตในครึ่งแรกของปี 2552 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.14 เนื่องจากราคาน้ำยางสดซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางมีราคาตกต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ต้นทุนการผลิตถุงมือยางถูกลง ส่งผลให้มีการขยายการผลิต นอกจากนี้ การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางในตลาดโลกขยายตัว เนื่องจากถุงมือยางเป็นสินค้าจำเป็นในการป้องกันเชื้อโรค และการดูแลรักษาสุขภาพอนามัย

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศโดยรวมลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 9.21 โดยลดลงในยางแผ่น และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.23 โดยเพิ่มขึ้นในยางแท่ง สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.16 โดยเพิ่มขึ้นในยางแท่ง

การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ของกลุ่มยางนอกรถยนต์ 3.30 ล้านเส้น กลุ่มยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน 4.99 ล้านเส้น และกลุ่มยางใน 9.25 ล้านเส้น การจำหน่ายในประเทศของกลุ่มยางนอกรถยนต์ค่อนข้างทรงตัวโดยลดลงเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.49 โดยลดลงในยางนอกรถยนต์นั่ง และยางนอกรถกระบะ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 31.83 โดยลดลงในยางนอกรถยนต์ทุกประเภท ยกเว้นยางนอกรถแทรกเตอร์ การจำหน่ายในประเทศของกลุ่มยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยานเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.13 และ 0.66 ตามลำดับ กลุ่มยางในเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 15.34 โดยเพิ่มขึ้นในยางในทุกประเภท และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.08 โดยเพิ่มขึ้นในยางในรถจักรยานยนต์และยางในรถจักรยาน สำหรับถุงมือยางการจำหน่ายในประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 10.32 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนยังคงขยายตัวร้อยละ 12.45

การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศในครึ่งแรกของปี 2552 ยางยานพาหนะโดยรวมมีการหดตัวในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นยางรถแทรกเตอร์ ดังจะเห็นได้จากกลุ่มยางนอกรถยนต์ กลุ่มยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน และกลุ่มยางในที่มีปริมาณการจำหน่าย 6.62 9.37 และ 17.27 ล้านเส้น ตามลำดับ เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2551 ลดลงร้อยละ 31.68 8.04 และ 3.70 ตามลำดับ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย ส่วนการจำหน่ายถุงมือยางในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 15.56 เนื่องจากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางในการป้องกันเชื้อโรคและการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยเพิ่มขึ้น

2.2 ตลาดส่งออก

การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่ารวม 1,743.26 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.03 และ 36.15 ตามลำดับ

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 จำนวน 747.08 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.83 และ 52.97 ตามลำดับ สำหรับการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นในช่วงครึ่งแรกปี 2552 มีมูลค่า 1,702.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49.07 โดยลดลงในยางแปรรูปขั้นต้นทุกประเภท ทั้งนี้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้ผู้บริโภคต่างชะลอการใช้จ่าย ทำให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์ลดลง ส่งผลให้การส่งออกยางพาราของไทยลดลง ตลาดส่งออกยางพาราของไทยที่สำคัญ ได้แก่ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ ต่างพากันลดการนำเข้ายางพาราจากไทย

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้ประเทศได้ประมาณร้อยละ 57.13 ของการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมด ผลิตภัณฑ์ยางที่ไทยส่งออก ประกอบด้วยยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 จำนวน 996.18 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 8.35 โดยเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ยางเกือบทุกประเภท ยกเว้นยางยานพาหนะซึ่งมีผลมาจากภาวะตลาดยางยานพาหนะโลกที่ยังคงซบเซา และเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางลดลงร้อยละ 12.75 โดยลดลงในผลิตภัณฑ์ยางเกือบทุกประเภท ยกเว้นผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม

สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง 1,915.57 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.44 โดยลดลงในยางยานพาหนะ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง และยางรัดของ โดยเฉพาะยางยานพาหนะซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง ได้ลดการส่งออกลงร้อยละ 20.90 ทั้งนี้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ยางส่วนใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ต่างพากันลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางจากไทย ยกเว้นจีนที่ยังคงเพิ่มการนำเข้าจากไทย เนื่องจากจีนได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำไม่มากเหมือนประเทศอื่น

2.3 ตลาดนำเข้า

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มูลค่านำเข้ายาง วัสดุยาง และผลิตภัณฑ์ยางโดยรวม 221.27 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.23 โดยเพิ่มขึ้นในยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์ยาง วัลแคไนซ์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 38.37 โดยลดลงในสินค้ายางทุกประเภท ประเภทสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางวัลแคไนซ์ ยางรถยนต์ ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง โดยยางสังเคราะห์มีมูลค่าการนำเข้า 82.35 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.60 และ 50.10 ตามลำดับ ยางวัลแคไนซ์ มีมูลค่าการนำเข้า 58.09 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 10.69 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.51 ยางรถยนต์มีการนำเข้า 49.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 20.87 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.94 ส่วนท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียงมีการนำเข้า 24.00 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.46 และ 44.64 ตามลำดับ

สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 มูลค่านำเข้ายาง วัสดุยาง และผลิตภัณฑ์ยางโดยรวม 437.72 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 37.90 โดยลดลงในสินค้าทุกประเภท ส่วนใหญ่นำเข้าจาก ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา

3. สรุปและแนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2552 การผลิตยางพาราลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางยานพาหนะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนแต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนการผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สำหรับการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางโดยรวมลดลงจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เนื่องจากยางพารายังคงชะลอตัวจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยางเริ่มฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนแต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สำหรับภาวะราคายางพาราในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี2552 ราคาเฉลี่ยยางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละ 55.00 บาท ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนแต่ยังคงต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เป็นผลกระทบมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย อุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นมียอดจำหน่ายตกต่ำทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางยานพาหนะ และความต้องการยางพาราจากไทยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยางยานพาหนะ

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 คาดว่าจะฟื้นตัว ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว มาตรการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น เริ่มเห็นผล ปริมาณสต๊อกสินค้าของลูกค้าเริ่มลดลง ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการถามซื้อยางพาราจากจีน เนื่องจากจีนมีการเร่งรัดพัฒนาการก่อสร้างทางหลวงและอุตสาหกรรมขนส่งเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน รวมทั้งการที่จีนออกมาตรการจูงใจให้คนซื้อรถยนต์ ทำให้ความต้องการรถยนต์สูงขึ้น ซึ่งผลักดันให้เกิดความต้องการยางรถยนต์ เป็นการส่งสัญญาณการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางยานพาหนะ จึงคาดว่าการส่งออกยางพาราของไทยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นด้วย สำหรับอุตสาหกรรมถุงมือยางคาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวเช่นเดียวกัน เนื่องจากวัตถุดิบน้ำยางมีราคาถูกลง ทำให้ต้นทุนการผลิตถุงมือยางต่ำลง ส่งผลให้มีการขยายการผลิต นอกจากนี้ยังเป็นการขยายตัวตามความต้องการใช้ถุงมือยางในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากถุงมือยางเป็นสินค้าจำเป็นในการป้องกันเชื้อโรคและการดูแลรักษาสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะปัจจุบันซึ่งยังอยู่ในช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหญ่ 2009

สำหรับแนวโน้มราคายางคาดว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่าเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจัดสรรเงินกู้แบบปลอดดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกร วงเงิน 8,000 ล้านบาท นำไปรับซื้อยางพารา 2 แสนตัน เพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นยางแท่งหรือยางก้อนเพื่อส่งออก ซึ่งสามารถเก็บสต๊อกไว้รอราคาที่ดีขึ้นได้ เมื่อยางมีราคาสูงขึ้นจึงจะนำออกจำหน่าย โดยเฉพาะการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักที่ยังคงมีความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ เนื่องจากจีนได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำไม่มากเหมือนประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ