สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2552 (อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 1, 2009 14:35 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย)เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากไตรมาสที่ 1 ปี 2552 เนื่องจากการผลิตในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและกระป๋อง และน้ำมันพืช เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 และ 8.4 (ตารางที่ 1) เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากเดิมที่ชะลอตัว และจากการประกาศยกเลิกเก็บภาษี AD สินค้ากุ้งจากไทยของสหรัฐอเมริกา รวมถึงการลดลงของราคาวัตถุดิบหลายรายการ เช่น ปลาทูน่า ถั่วเหลือง และนมผง แต่หากพิจารณารวมการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 51.2 เนื่องจากเป็นช่วงปิดหีบการผลิต สำหรับภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของครึ่งปีก่อน มีการผลิตน้ำตาลทรายลดลงร้อยละ 3.7 จากปริมาณอ้อยเข้าโรงงานลดลง

ประเภทอุตสาหกรรมอาหาร ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะภัยธรรมชาติ ทำให้พืชผลซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักลดลง ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปผักผลไม้ การผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนและปีก่อน ร้อยละ 8.7 และ 18.7 และกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปจากธัญพืชและแป้ง การผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 0.5 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.0 เป็นผลจากนโยบายการรับจำนำของภาครัฐ ทำให้ผลผลิตที่แปรรูปรวมมีปริมาณมากอยู่ในโกดังของรัฐ นอกจากนี้กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปปศุสัตว์ การผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนเช่นกัน ร้อยละ 0.3 แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.2 เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นหันมานำเข้าไก่แปรรูปจากไทยแทนจีนที่พบสารตกค้าง

ประเภทอุตสาหกรรมอาหารสำคัญ ที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปประมง มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.3 และ 1.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและปีก่อน เนื่องจากวัตถุดิบปลาทูน่าในตลาดโลกมีจำนวนมากขึ้น สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ผลิตเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ และบริโภคในประเทศ ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ได้แก่ น้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชน้ำมันเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.4 แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 อัตราการผลิตของน้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์จากพืชน้ำมันชะลอตัวลงร้อยละ 17.4 เป็นผลจากการบริโภคที่ลดลงจากราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้อุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบไตรมาสก่อนร้อยละ 7.9 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.1 เป็นผลจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีผลโดยตรงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่จะระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

ภาพรวมการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารครึ่งปี 2552 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของครึ่งปีก่อน เนื่องจากในช่วงไตรมาสที่ 1 มีการชะลอตัวลงในเกือบทุกหมวดและหากพิจารณาเป็นรายกลุ่ม กลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกสำคัญ เช่น ประมงลดลง ร้อยละ 1.3 ผักผลไม้ลดลง ร้อยละ 17.8 และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เช่น น้ำมันพืชลดลง ร้อยละ 14.9 อาหารสัตว์ลดลง ร้อยละ 3.1 รวมถึงน้ำตาลลดลง ร้อยละ 3.7 ส่งผลให้ภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารลดลง

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่2) เป็นผลมาจากความกังวลในภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศเริ่มลดลง และการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการลดภาระค่าครองชีพ และการแจกเช็คช่วยชาติกับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ ทำให้ความต้องการที่จะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในเกือบทุกกลุ่มสินค้า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากแป้งมันสำปะหลัง และธัญพืช ร้อยละ 62.4 ปศุสัตว์ ร้อยละ 14.8 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 16.4 และประมง ร้อยละ 1.8

ภาพรวมการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศระหว่างครึ่งปี 2551 และ 2552 พบว่า มีการจำหน่าย (ไม่รวมน้ำตาล) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของครึ่งปีก่อน ร้อยละ 0.8 และเมื่อพิจารณาเป็นหมวดสินค้าส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธัญพืชและแป้งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.5 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ 8.5 ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ ร้อยละ 10 และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 5.7 อย่างไรก็ตามประชาชนยังมีความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการเมืองโดยรวม จากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ส่งผลต่อต้นทุนและราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น การแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แม้จะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศแล้วก็ตาม

2.2 ตลาดต่างประเทศ

1) การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 5,100.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 177,945.0 ล้านบาท โดยขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.6 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ17.3 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 17.7 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 8.5 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3-4) ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 จะพบว่า ภาวะการส่งออกในรูปของมูลค่ามีการหดตัวลงในเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ขณะที่ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่า จึงสรุปได้ว่า แม้ว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่จากภาวะเศรษฐกิจของตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ราคาเปรียบเทียบลดลง ซึ่งทำให้การส่งออกชะลอตัวลง และเมื่อเทียบระหว่างครึ่งปี 2552 และ 2551 จะเห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ14.3 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 7.0 ในรูปของเงินบาท สำหรับการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ มีดังนี้

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป มีมูลค่าการส่งออก 1,463.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 51,075.5 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 16.7 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของอาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 24.6 ในรูปดอลลาร์ฯและร้อยละ 25.3 ในรูปเงินบาท ส่วนอาหารทะเลกระป๋อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ11.2 ในรูปเงินบาท และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกลดลงร้อยละ 8.1 ในรูปดอลลาร์ฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ในรูปเงินบาท สำหรับมูลค่าการส่งออกโดยเปรียบเทียบครึ่งปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 2,726.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 94,859.9 ล้านบาท ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 8.2 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 0.4 ในรูปเงินบาท ซึ่งสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง สามารถส่งได้เพิ่มขึ้น จากการที่สหรัฐอเมริกาประกาศยกเลิก AD ทำให้สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ในส่วนปลาทูน่ากระป๋อง กลับมีมูลค่าส่งออกลดลง จากราคาตลาดโลกที่ปรับลดลง
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้แปรรูป มีมูลค่าการส่งออก 613.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 21,407.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.3 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 30.0 ในรูปเงินบาทจากไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 10.5 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 0.6 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเป็นผลมาจากการหดตัวของความต้องการสับปะรดกระป๋องจากตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป และหากเทียบระหว่างครึ่งปี 2552 และ 2551 พบว่า มูลค่าส่งออกผักผลไม้แปรรูปในภาพรวมลดลงร้อยละ 11.3 และ 3.7 ในรูปดอลลาร์ฯ และเงินบาท ตามลำดับ
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์แปรรูป มีมูลค่าการส่งออก 366.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 12,797.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.0 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 2.3 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อนและลดลงร้อยละ 2.0 ในรูปดอลลาร์ฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ในรูปเงินบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไก่แปรรูปที่มีการขยายตัวสูงขึ้น และได้มีการรับรองโรงงานแปรรูปเพิ่มขึ้นจากประเทศผู้นำเข้าหลักสินค้าไก่แปรรูป คือ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปสั่งซื้อไก่จากไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศแถบตะวันออกกลางที่เป็นมุสลิมให้การยอมรับอาหารฮาลาลจากไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างครึ่งปี 2552 และ 2551 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 13.2 ในรูปเงินบาท โดยเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกไก่แช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป ในช่วงไตรมาสแรกและชะลอตัวลงบ้างในไตรมาสที่ 2
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 1,808.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 63,064.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 14.3 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากราคาส่งออกที่ยังทรงตัวในระดับสูงของสินค้าข้าว เนื่องจากประเทศผู้ผลิตและส่งออก ได้แก่ อินเดีย ประสบภัยแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ส่วนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 จากประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังของไทย รวมทั้งมีตลาดรองรับอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเลเซีย แต่หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 31.2 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 23.7 ในรูปเงินบาท จากราคาที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งหากเปรียบเทียบระหว่างครึ่งปี 2552 และ 2551 มูลค่าการส่งออกทั้งกลุ่มปรับตัวลดลงร้อยละ 26.2 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 19.9 ในรูปเงินบาท
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 514.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ17,958.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 35.4 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.1 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 40.8 ในรูปเงินบาท ขณะที่เมื่อเทียบระหว่างครึ่งปี 2552 และ 2551 พบว่า มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 29.2 ในรูปเงินบาท เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่เพิ่มขึ้นของตลาดโลก เนื่องจากปริมาณสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกลดต่ำลง จากการที่อินเดียประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้การผลิตและส่งออกลดลง
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 333.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 11,641.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 11.2 ในรูปเงินบาทจากไตรมาสก่อนและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 31.9 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 24.2 ในรูปเงินบาท และเมื่อเทียบระหว่างครึ่งปี 2551 และ 2552 มูลค่าการส่งออกในภาพรวมของกลุ่มลดลงร้อยละ 21.3 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 14.2 ในรูปเงินบาท ซึ่งเป็นผลจากราคาส่งออกที่ปรับตัวลดลงในเกือบทุกกลุ่มสินค้า

2) การนำเข้า

การนำเข้าสินค้าอาหารของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552 มีมูลค่ารวม 1,480.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 71,875.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 28.9 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 19.0 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 19.5 ในรูปเงินบาท (ตารางที่ 5) และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จะพบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมลดลงร้อยละ 16.5 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 9.0 ในรูปเงินบาท จากการลดลงของการนำเข้าเมล็ดพืชน้ำมันในอัตราร้อยละ 24.8 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 16.4 ในรูปเงินบาท จากความต้องการใช้เพื่อผลิตน้ำมันพืชลดลง

การนำเข้าสินค้าอาหารในช่วงระหว่างครึ่งปี 2551 และ 2552 พบว่า มูลค่าการนำเข้าโดยรวมลดลง ร้อยละ 21.8 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 18.1 ในรูปเงินบาท โดยเป็นการลดลงของการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมมากที่สุด ร้อยละ 59.9 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 56.7 ในรูปเงินบาท ส่วนหนึ่งมาจาก Stock ที่มีปริมาณมาก ประกอบกับความต้องการผลิตและบริโภคในประเทศชะลอตัวลงรองลงมา คือ เมล็ดพืชน้ำมัน ร้อยละ 37.1 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 31.5 ในรูปเงินบาท และกากพืชน้ำมัน ร้อยละ 28.1 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 21.9 ในรูปเงินบาท ส่วนการนำเข้าปลาทูน่าแช่เย็นแช่แข็งลดลงทั้งในรูปดอลลาร์ฯ ร้อยละ 23.6 และในรูปเงินบาท ร้อยละ 17.5 แม้ว่าราคาทูน่าจะลดลง แต่ปริมาณความต้องการเพื่อผลิตทูน่าชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าที่ยังไม่ฟื้นตัว

3. นโยบายของภาครัฐ

ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนใหญ่เป็นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ เนื่องจากประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ได้แก่

3.1 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 เห็นชอบในหลักการแนวทางใหม่ในการรักษาเสถียรภาพราคามันสำปะหลังปี 2552/53 โดยการประกาศราคาขั้นต่ำหัวมันสดล่วงหน้ากิโลกรัมละ 1.70 บาท และให้ ธ.ก.ส. ทำสัญญาประกันราคากับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อครบกำหนดหากราคาต่ำกว่าสัญญาจะได้รับเงินส่วนต่าง ซึ่งจะมีคณะอนุกรรมการด้านการตลาดมันสำปะหลังคณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง เป็นผู้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีดำเนินโครงการฯ

3.2 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2552 ที่เห็นชอบหลักการและกลไกการดำเนินงานโครงการประกันราคาข้าวเปลือกและการประกันภัยข้าวเปลือก โดยให้ยกเว้นเบี้ยประกันตามโครงการประกันราคาข้าวเปลือกในปีแรก เพื่อเป็นมาตรการแทรกแซงราคาที่เป็นไปตามกลไกตลาดและช่วยภาระงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งการประกันภัยจะเริ่มโครงการนำร่องที่จังหวัดขอนแก่นในลักษณะโครงการเสมือนจริง แต่ไม่มีการจ่ายเงินจริง และให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้เอาประกัน ในส่วนราคาประกัน กขช. จะพิจารณากำหนดต่อไป

3.3 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2552 เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เรื่อง การแก้ไขปัญหานมล้นของเกษตรกรที่ผลิตเป็นนมโรงเรียน (ยู.เอช.ที) โดยใช้งบประมาณที่ได้รับไว้แล้วตามมติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 สำหรับจัดซื้อนมเพื่อให้เด็กก่อนวัยเรียนถึงชั้นประถมปีที่ 4 จำนวน 5.3 ล้านคน ได้ดื่มช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นเวลา 15 วัน ชดเชยช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมา และทบทวนมติ ค.ร.ม. เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 เรื่อง การแก้ไขปัญหานมทั้งระบบเฉพาะในส่วนเงินส่วนที่เหลือ ที่ใช้จัดซื้อนมโรงเรียนให้เด็กได้ดื่มครบตามเป้าหมาย จำนวน 604 ล้านบาทโดยให้ใช้เงินจากงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น

4. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552 ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงไตรมาสแรก โดยภาคการผลิตบางส่วนอาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบ เนื่องจากภาวะภัยแล้งหรืออุทกภัยอยู่บ้าง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับชะลอตัวจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท แต่ในภาพรวมภาคการผลิตเพื่อการส่งออกกลับได้รับการยอมรับจากประเทศผู้นำเข้า จากอุปทานในตลาดโลกที่ลดลง เพราะประเทศผู้ผลิตที่สำคัญประสบปัญหาภัยธรรมชาติ และโรคระบาด นอกจากนี้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดในการแสวงหาตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 คาดว่า จะยังคงมีทิศทางการผลิต และส่งออกที่ชะลอตัว ตามฤดูกาลของอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวนจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนทางการเมืองและภาวะสงครามในตะวันออกกลาง รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เป็นตัวชี้นำราคาน้ำมันในตลาดโลก และการใช้นโยบายแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าโดยการกดค่าเงินดอลลาร์ให้อ่อนตัวเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ นอกจากนี้สินค้าอาหารมักถูกกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะทำให้การส่งออกช่วงไตรมาสที่ 3 ชะลอตัวลงได้ ในส่วนการจำหน่ายในประเทศมีแนวโน้มจะยังคงชะลอตัว เนื่องจากยังมีกระแสความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอย ประกอบกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น และราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รวมถึงปัญหาภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ