สศอ.ระดมกึ๋นจอมเก๋าแวดวงอุตฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์ป้อนรถไฟฟ้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 11, 2009 14:16 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ.เร่งระดมมันสมองจอมเก๋าแวดวงอุตฯ ร่างแผนพัฒนาระยะยาว หนุนผู้ประกอบการไทย ยกระดับผลิตภัณฑ์ใช้กับโครงการรถไฟฟ้า ลดนำเข้า หนุนเป็นสินค้าส่งออกในอนาคต

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศอ. กำลังดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการสร้างโอกาสสำหรับภาคอุตสาหกรรมไทยในการเชื่อมโยงกับโครงการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยจะเร่งนำผลการศึกษาไปผลักดันนโยบายในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านการส่งเสริมการลงทุน สิทธิประโยชน์ การกำหนดมาตรฐานและรับรองมาตรฐาน การเตรียมผลิตบุคลากร และการวางแผนถ่ายทอดและบริหารจัดการเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน โดยได้รับความร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ซึ่งเห็นประโยชน์ร่วมกันในแนวทางการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ช่วงเวลานี้ถือว่าเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะเร่งผลักดันอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องให้เกิดขึ้น เนื่องจากประเทศไทยได้นำระบบรถไฟฟ้ามาใช้เป็นระยะเวลา 10 ปี ได้พิสูจน์ว่า ระบบรางเป็นระบบคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงานและเวลา โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมือง จึงทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐขยายเส้นทางรถไฟฟ้าให้มากขึ้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จึงได้กำหนดแผนขยายเส้นทางเดินรถไฟฟ้าสำหรับเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในระยะ 10 ปีข้างหน้า อีก 18 เส้นทาง รวมระยะทาง 362 กิโลเมตร โดยในระยะ 5 ปีแรก จะมี 10 เส้นทาง ระยะทาง 230 กิโลเมตร จึงเป็นโอกาสดีที่จะผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมนี้ให้สอดคล้องกับความต้องการที่เกิดขึ้น

“ภาคเอกชนต่างขานรับในเรื่องนี้ป็นอย่างดี เนื่องจากก็มีความพร้อมที่จะร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งอุตสาหกรรมหลายสาขามีความแข็งแกร่งอย่างยิ่งและเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปได้ทั่วโลก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของตลาดโลกอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีหลายสาขาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สามารถใช้ได้กับโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น พลาสติก แก้วกระจก เหล็กและโลหะ เครื่องจักร ชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งผู้ประกอบการให้

ความสนใจที่จะพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงไปยังอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า ในขั้นต้นคาดว่าในส่วนของ สายไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ กระจก ที่นั่ง ราวจับ ฉนวนกันความร้อน ยางปูพื้น ระบบทำลมอัด โคมไฟในตัวรถไฟฟ้า แผ่นปิดผนังและเพดาน น่าจะสามารถผลิตป้อนให้กับอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนได้

หากสามารถเชื่อมอุตสาหกรรมไทยต่อไปยังอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าที่ในปัจจุบันเป็นธุรกิจที่มีการเลือกใช้ชิ้นส่วนต่างๆจากทั่วโลกก็จะเป็นการสร้างโอกาสใหม่สำหรับอุตสาหกรรมสาขาต่างๆของไทยให้เข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในระดับโลกได้อีกทั้งในระยะยาวอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องยังจะมีส่วนในการสนับสนุนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางอื่นๆ อาทิเช่น การขนส่งทางรถไฟที่กำลังจะมีการพัฒนาในหลายระดับไม่ว่าจะเป็น การปรับเปลี่ยนตู้โดยสารทดแทนของเก่าที่มีอายุการใช้งานมานาน การเพิ่มตู้โดยสารและตู้ขนส่งสินค้าตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น การสร้างระบบรถไฟรางคู่ รวมไปถึงการเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ของประเทศเข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน จึงกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมนี้จะสนับสนุนให้นโยบายพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย”

นอกจากนี้ นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า สศอ.ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงคมนาคม และกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ในการพิจารณาหาแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยี การบริหารจัดการเทคโนโลยี รวมทั้งการพัฒนาคนเข้าสู่อุตสาหกรรรม รวมทั้งการสนับสนุนในด้านมาตรฐานการรับรองคุณภาพไม่ว่าจะเป็น การกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมกับประเทศไทย การจัดหาห้องทดสอบและรับรองคุณภาพให้กับชิ้นส่วนต่างๆที่จะป้อนให้กับรถไฟฟ้า

โดยในวันที่ 27 สิงหาคม 2552 ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ดร.ดำริ สุโขธนัง) จะเป็นประธานในการประชุมหารือระหว่างผู้ประกอบอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนการขนส่ง การขนส่งและจราจร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีประเด็นหารือเกี่ยวกับข้อกำหนดทางเทคนิคของชิ้นส่วนต่างๆ ของรถไฟฟ้า ขีดความสามารถในการผลิตของอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันและโอกาสการพัฒนาในอนาคต รวมไปถึงความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมระหว่างภาคอุตสาหกรรมไทยกับหน่วยงานสนับสนุนด้านเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ