สศอ.ชี้ภาคอุตฯพ้นจุดต่ำสุด คาดQ4/52 ดัชนีอุตฯปิดบวก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 11, 2009 14:18 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ. มองภาคอุตฯพ้นจุดต่ำสุด คาดดัชนีอุตฯ ปี 52 หดตัว -10% ถึง -8% จากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ครึ่งปีแรก -16.5% ขณะที่ไตรมาส 3 จะติดลบ -5% ไตรมาส 4 ฟื้น 3.7% ชี้หลายอุตฯ ส่งสัญญาณฟื้น รับออร์เดอร์เพิ่ม

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ.ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด และมีแนวโน้มที่ดี โดยดัชนีอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาสที่ 1 ที่ถือเป็นจุดต่ำสุดหดตัว -22.0% ไตรมาส 2 หดตัว -10.7% ครึ่งปีแรก -16.5% โดยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 มีอัตราการขยายตัวที่ดีขึ้น คือ -5.0% และ 3.7% ตามลำดับ ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต ไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 52.15% ไตรมาส 2 อยู่ที่ 53.89% ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 53.02% ขณะที่ไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 56.0% และ 61.5% ขณะที่ทั้งปีอัตราการใช้กำลังการผลิต เป็น 56.0%

“การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม แม้จะไม่หวือหวามากนักแต่เป็นการส่งสัญญาณที่ดี เนื่องจากประเทศคู้ค้าสำคัญเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี ขณะที่ภายในประเทศได้มีมาตรการกระตุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวนั้นจะอยู่ในรูปตัววีตัวเขียนเล็ก ซึ่งมีปลายหางตวัดอยู่บ้าง จากผลกระทบด้านการเมือง ไข้หวัด 2009 รวมทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ทั้งนี้ในภาพรวมอุตสาหกรรมในรายสาขา ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มดี ซึ่งประกอบด้วย อุตสาหกรรมยา อาหาร และอุตสาหกรรมด้านเคมีภัณฑ์ กลุ่มปานกลาง คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ปูนซีเม็นต์ ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ และ อุตสาหกรรมสิ่งทอต้นน้ำ และกลุ่มที่ยังขึ้นๆลงๆ บวกบ้าง ลบบ้าง คือ อุตสาหกรรมเหล็กและเล็กกล้า อัญมณี ปิโตรเคมี เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า และ อุตสาหกรรมเซรามิกซ์ “

นายอาทิตย์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงครึ่งปีแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตปรับตัวลดลง -15.04% โดยมาจากการหดตัวของ HDD และเครื่องปรับอากาศอย่างมากในช่วงไตรมาส 1/2552 จากตลาดส่งออกหลักที่มีคำสั่งซื้อลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 2/2552 ปรับตัวลดลง -3.62% ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงในอัตราที่ชะลอตัวลงจากเมื่อไตรมาส 1/2552 ที่มีการปรับตัวลดลงมากถึง- 26.12% เนื่องจากในช่วงไตรมาส 2/2552 เริ่มมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามา โดยเฉพาะกลุ่ม HDD ที่สามารถกลับมาขยายตัวได้ 4.71% เนื่องจากมีแรงสนับสนุนมาจากความต้องการสินค้าในกลุ่ม SmartPhone NetBook ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อมาทดแทนสินค้าคงคลังที่ลดลง หลังจากที่ชะลอคำสั่งซื้อในช่วงก่อนหน้า รวมถึงจะมีการผลิตสินค้าใหม่ที่จะออกมาเพื่อตอบสนองตลาดระดับบนหรือเฉพาะกลุ่ม เช่น iPhone 3 G เป็นต้น

แนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4/2552 คาดว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นจากช่วง 6 เดือนแรกของปี 2552 ซึ่งในไตรมาสที่ 3 มีการผลิตปรับตัวลดลงแต่อยู่ในอัตราที่น้อยลง โดยปรับตัวลดลง -2.0% และจะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ แนวโน้มการผลิตในไตรมาสที่ 4 ของ HDD จะมีการฟื้นตัวกลับขึ้นมาและจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากในช่วงไตรมาสที่ 4/2551 มีการปรับตัวลดลงมาอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยรวม ในช่วงปี 2552 ประมาณการว่าจะมีอัตราหดตัวประมาณ -7.0%ถึง-10.0% หลังจากที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 มีอัตราการหดตัวในระดับค่อนข้างสูง

อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานประกอบรถยนต์ และโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เริ่มปรับลดพนักงานที่เป็น sub-contract หรือลูกจ้างชั่วคราว เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับลดกำลังการผลิต กระทรวงอุตสาหกรรม (กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) มีการดำเนินโครงการรักษาสภาพการจ้างงานภาคอุตสาหกรรม โดยสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องรักษาสภาพการจ้างพนักงานภายในเวลา 1 ปี งบประมาณ 80 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณในการอบรมพนักงานกว่า 8,000 คน ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สนใจ ซึ่งเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2552 ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

อุตสาหกรรมสิ่งทอ แนวโน้มไตรมาสที่ 3 ไตรมาส 4 และทั้งปี 2552 ภาพรวมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะยังชะลอตัว สาเหตุหลักจากภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้า ซึ่งผู้ประกอบการควรจะหันมาทำตลาดในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะผ้าผืน หากผู้ผลิตปลายน้ำในประเทศจะหันมาใช้ผ้าผืนที่ผลิตในไทยเพิ่มมากขึ้น คาดว่าการบริโภคภายในประเทศจะสูงตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าคำสั่งซื้อจะมีเข้ามาในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป เพื่อเตรียมจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการเองต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รักษาคุณภาพสินค้า การส่งมอบที่ตรงเวลา และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในทุกระดับ เพื่อเพิ่มคุณภาพที่ดีขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยลดลง

ในขณะเดียวกันแนวโน้มสินค้าสิ่งทอที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติก็เป็นอีกกลุ่มสินค้าที่ลูกค้าต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น หรือสิ่งทอเทคนิค (Technical Textile) และสิ่งทอเฉพาะทาง (Functional Textile) ที่มีความหลากหลายตอบสนองต่อผู้บริโภคมากกว่าสิ่งทอทั่วไป (Conventional textiles) เช่น เส้นใยที่พัฒนาขึ้นมาพิเศษเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ บรรจุภัณฑ์อาหาร หรือ เคหะสิ่งทอที่ใช้ตกแต่งอาคารบ้านเรือน เช่น ผ้าบุผนัง ผ้าบุเก้าอี้ ซึ่งปัจจุบันนิยมนำไปตกแต่งภายนอกอาคารมากขึ้น การจำหน่ายในประเทศ ยังมีศักยภาพอยู่และยังต้องการแรงงานเพิ่ม

ประกอบกับปี 2552 ไทยเน้นการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของอาเซียน และไทยมีการผลิตที่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อีกทั้งผลจากการทำความตกลงความร่วมมือภายใต้กรอบ JTEPA ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2550 เป็นส่วนหนึ่งทำให้สิ่งทอไทยขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น และการทำความตกลงภายใต้กรอบ AJCEP ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดหวังจากฝ่ายญี่ปุ่นและไทยว่าจะทำให้มูลค่าการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายขยายตัวมากขึ้น

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า สัญญาฟื้นที่เข้ามาอย่างชัดเจน ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงการผลิตที่เป็นไปตามมาตรฐาน และผลิตสินค้าที่ได้คุณภาพตรงต่อเวลา จะเป็นการช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้อีกทางหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการควรต้องคำนึงถึงการพัฒนาด้านประสิทธิภาพและผลิตภาพควบคู่กันไปด้ว ซึ่งจะเป็นการช่วยให้เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้เหนือคู่แข่งได้ต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ