สศอ.เผยผู้ผลิตไทยพร้อมลุยพัฒนาชิ้นส่วนป้อนรถไฟฟ้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 11, 2009 14:31 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ.เดินหน้าผลักดันผลิตภัณฑ์สำหรับโครงการรถไฟฟ้า หลังผลหารือร่วมผู้ประกอบการ พบหลายชิ้นส่วนมีประสิทธิภาพ หวังพัฒนาเป็นอุตฯ ใหม่ รองรับโครงการรถไฟฟ้า 18 เส้นทาง

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่าง การดำเนินการศึกษาโครงการแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศ ซึ่งถือเป็นโครงการที่ได้รับการขานรับเป็นอย่างดีทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยผลักดันให้มีการจัดตั้งโรงงานประกอบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าของประเทศในระยะยาวและสร้างโอกาสสำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยมีการจัดประชุมเพื่อระดมสมองและรับทราบความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเมื่อเร็วๆนี้ ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการหลายราย หลังจากหารือพบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อใช้ในรถไฟฟ้าได้อย่างแน่นอน จึงควรใช้โอกาสนี้เร่งยกระดับขีดความสามารถให้สูงขึ้น โครงสร้างหลักของรถไฟฟ้าหลายส่วน มีโอกาสพัฒนาและผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้มากขึ้นในอนาคต

“จากการหารือเราพบว่า รถไฟฟ้าทั้งคันผู้ประกอบการไทยสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ใช้ได้แน่นอน เช่น ตัวโครงรถไฟฟ้า (car body) จากการประเมินในเบื้องต้นพบว่าผู้ประกอบการไทยหลายรายมีศักยภาพที่จะทำได้ เนื่องจากมีประสบการณ์ในการประกอบโครงสร้างตัวถังในอุตสาหกรรมยานยนต์มาเป็นเวลานาน ซึ่งปัจจุบันประกอบโดยบริษัท Siemens อุปกรณ์ตกแต่งภายในตัวรถ (Car Interior) ในส่วนนี้ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถผลิตได้อยู่แล้วในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของเบาะ ที่นั่ง มือจับ พื้น ซึ่งมีคุณสมบัติเฉพาะตามมาตรฐานของอุปกรณ์ในรถไฟฟ้า คือ เป็นวัสดุที่ไม่ลามไฟ ไม่เกิดควันพิษ เป็นต้น อุปกรณ์ไฟฟ้ากำลัง (Power Supply System) ได้แก่ หม้อแปลง Main Power Switch, Circuit Breaker, Inverter โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบตเตอรี่ ระบบปรับอากาศ (Air condition System) ทั้งในส่วนของระบบปรับอากาศที่พื้น หรือในส่วนของระบบปรับอากาศที่เพดาน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตสูงมาก ระบบประตู (Door System) ทั้งในส่วนของประตูสำหรับห้องโดยสารประตู

ระหว่างรถไฟฟ้ากับสถานี ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้ใกล้เคียงกับระบบประตูอัตโนมัติที่ใช้ในลิฟท์ซึ่งประเทศไทยมีผู้ผลิตอยู่แล้ว”

นายอาทิตย์ กล่าวว่า แม้ในบางระบบผู้ประกอบการไทยจะยังไม่สามารถผลิตได้เองทั้งหมด เนื่องจากปัญหาเรื่องเทคโนโลยี หรือติดปัญหาเรื่องสิทธิบัตร แต่มีความเป็นไปได้ในการผลิตชิ้นส่วนภายในบางตัว เช่น ชิ้นส่วนในระบบ Brake และระบบ Coupler เป็นต้น ประเทศไทยจึงถือว่ามีศักยภาพในการพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในประเทศขึ้นได้ เนื่องจากเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญของโลกและชิ้นส่วนหลายอย่างสามารถผลิตได้เองในประเทศ สอดคล้องกับที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้กำหนดแผนขยายเส้นทางเดินรถไฟฟ้าสำหรับเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในระยะ 10 ปีข้างหน้า อีก 18 เส้นทาง รวมระยะทาง 362 กิโลเมตร เพื่อรองรับกับความต้องการของประชาชน จึงเป็นโอกาสที่ดีในการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมนี้ขึ้น

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ สศอ. จะร่วมกับสถาบันขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษารายละเอียด และประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการในแต่ละกลุ่ม ว่าจะมีขีดความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศได้ในสัดส่วนร้อยละเท่าไร ชิ้นส่วนใดจะต้องใช้เวลาในการพัฒนา ทั้งนี้เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าของไทย และเป็นข้อมูลประกอบการกำหนด TOR เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบการผลิตรถไฟฟ้าได้มากขึ้นในอนาคต โดยจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงคมนาคม สภาอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นๆ ในการเชื่อมโยงและบูรณาการแผนงานกันอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างผู้ผลิตรถไฟฟ้ากับผู้ประกอบการไทย เป็นการบริหารเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการนำร่องวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยด้านอื่นๆ ให้เชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าทั้งในแง่เป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ประกอบโดยตรง หรือเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อซ่อมบำรุง ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันและในอนาคต

“ในเรื่องนี้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับการประกอบรถไฟฟ้าขึ้นในประเทศ จะเกิดผลประโยชน์มากที่สุดต่อประเทศไทย ในเชิงนโยบายรัฐบาลต้องชี้นำและส่งสัญญาณให้ชัดเจน หน่วยงานรับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนจะได้เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นใจ”

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ