รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนสิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 16, 2009 13:29 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนกรกฎาคม 2552
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม 2552 ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2552 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 9.0 โดยอุตสาหกรรมสำคัญยังคงมีการผลิตลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเครื่องแต่งกาย ซึ่งมีดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 40.1 , ร้อยละ 21.8 และร้อยละ 13.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 56.9 หากพิจารณาเป็นรายสาขาอุตสาหกรรมจะพบว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นบ้าง

ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนสิงหาคม 2552

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

  • การผลิตและการจำหน่าย คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อที่ปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งการส่งออกในผลิตภัณฑ์หลักๆ ขยายตัวดีขึ้น แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแม้ว่าตัวเลขการผลิต และการส่งออกจะยังติดลบแต่ติดลบในสัดส่วนที่ลดลง เนื่องจากการส่งออกที่อิงตลาดส่งออกหลักอย่างตลาดสหรัฐอเมริกาที่ภาวะเศรษฐกิจอาจยังไม่ฟื้นตัว สำหรับตลาดหลักอื่น อาทิ ตลาดญี่ปุ่นยังมีโอกาสเติบโตเนื่องจากภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 ตามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และข้อตกลง AJCEP ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

  • สถานการณ์เหล็กในเดือนสิงหาคม 2552 ในส่วนของเหล็กทรงยาวจะยังคงทรงตัว แต่เหล็กทรงแบนคาดว่าจะเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น เป็นผลจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องเริ่มมียอดการสั่งซื้อจากต่างประเทศกลับมาบ้างแล้ว ทำให้ต้องมีการสั่งซื้อเหล็กทรงแบนมากขึ้น สำหรับราคาเหล็กคาดว่าจะยังคงผันผวนอยู่ เนื่องจากการผันผวนของราคาน้ำมัน รวมทั้งความต้องการใช้ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นของบางประเทศในตะวันออกกลาง อาฟริกา และ เอเชีย

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

  • การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในเดือนสิงหาคม และเดือนกันยายน 2552 มีแนวโน้มทรงตัวเนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว ทำให้ภาคเอกชนยังชะลอการลงทุน ดังนั้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จึงขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐเป็นหลัก หากรัฐบาลมีการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมาก สำหรับการส่งออก ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัวแต่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศในแถบอาเซียน ยังคงมีโอกาสที่จะขยายตัวได้

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

มิ.ย. 52 = 170.0

ก.ค. 52 = 167.8

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • อิเล็กทรอนิกส์
  • น้ำตาล
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

มิ.ย. 52 = 55.6

ก.ค. 52 = 56.9

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์ยาสูบ
  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • ผลิตภัณฑ์ยาง
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะลดลงจากเดือนก่อนตามคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลงตามฤดูกาล สำหรับการจำหน่ายในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ลดลง จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตโดยรวม (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนกรกฎาคม ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 3.0 และ 6.1 แบ่งเป็น

  • กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่น สับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 69.8 เป็นผลจากวัตถุดิบขาดแคลน รวมถึงสินค้าปลาทูน่ากระป๋อง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 14.7 เช่นกัน จากคำสั่งซื้อของต่างประเทศที่ชะลอตัวลงตามฤดูกาล
  • กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์มและถั่วเหลือง มีปริมาณการกลั่นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 7.5 และ 69.8 เนื่องจากโรงงานมีการผลิตเพิ่มขึ้นหลังจากปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักรในเดือนก่อน

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนกรกฎาคม สินค้าอาหารและเกษตร มีปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.3 เนื่องจากมีการปรับลดราคาน้ำมัน ทำให้ผู้บริโภคเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยด้านอื่นๆ

2) ตลาดต่างประเทศ เดือนกรกฎาคม มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหารในรูปเงินบาท (ไม่รวมน้ำตาล) ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 9.1 เนื่องจากสินค้าที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก ยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เช่น ปลาทูน่ากระป๋องและสับปะรดกระป๋อง ส่งผลให้ส่งออกลดลงร้อยละ 23.0 และ 7.7 แต่หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนมูลค่าการส่งออกโดยรวมยังเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 พิจารณาจากความเคลื่อนไหวของมูลค่าส่งออกเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ความ\ต้องการเพิ่มขึ้น ในขณะที่ระดับราคายังทรงตัวหรือปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับลดลงจากเดือนก่อน ตามคำสั่งซื้อที่ปรับลดลงตามฤดูกาล โดยยังมีปัจจัยลบจากสถานการณ์การส่งออกในผลิตภัณฑ์หลักๆ ที่อิงตลาดสหรัฐอเมริกาอาจยังไม่ฟื้นตัวจากการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจ สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศจะมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยที่อาจชะลอตัวจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“ภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอเดือนกรกฎาคม 2552 ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ในขณะที่เสื้อผ้าสำเร็จรูปมีการผลิตเพิ่มขึ้น... “

1. การผลิต

ภาวะการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอในเดือนกรกฎาคม 2552 ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ในขณะที่เสื้อผ้าสำเร็จรูปมีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ปรับตัวลดลงได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ (-1.5%), ผ้าทอ (-4.0%), ผ้าขนหนูและเครื่องนอนฯ (-4.1%) เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก (+5.3%)และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ (+5.3%) แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ (-7.0%) ผ้าผืน(-13.5%) ผ้าขนหนูและเครื่องนอนฯ (-12.6%) เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก (-25.3%) และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ (-8.7%) สาเหตุหลักที่ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สิ่งทอปรับตัวลดลง เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักและภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อและลดปริมาณนำเข้า

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เดือนกรกฎาคม 2552 ยังมีทิศทางการขยายตัวที่ดีเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยเฉพาะเสื้อเชิ้ต/เบลาส์สตรีและเด็กหญิงยังมีความต้องการบริโภคสูงมาก เนื่องจากมีการนำเข้าค่อนข้างมากจากประเทศจีนและเวียดนาม แต่การจำหน่ายโดยรวมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออก เดือนกรกฎาคม 2552 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 9.0 ได้แก่ เสื้อผ้าสำ เร็จรูป (+13.1%)ผ้าผืน (+7.2%) ผ้าปัก ผ้าลูกไม้ (+18.8%) ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ (+6.0%) เส้นใยประดิษฐ์ (+5.8%) และเคหะสิ่งทอ (+12.4%) ซึ่งมีการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา (+20.0%) ตลาดสหภาพยุโรป (+3.1%) ตลาดญี่ปุ่น(+10.1%) และอาเซียน (+7.3%) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกยังลดลงร้อยละ 9.0

3. แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่าย คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเนื่องจากมีคำสั่งซื้อที่ปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งการส่งออกในผลิตภัณฑ์หลักๆ ขยายตัวดีขึ้น แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแม้ว่าตัวเลขการผลิต และการส่งออกจะยังติดลบแต่ติดลบในสัดส่วนที่ลดลง เนื่องจากการส่งออกที่อิงตลาดส่งออกหลักอย่างตลาดสหรัฐอเมริกาที่ภาวะเศรษฐกิจอาจยังไม่ฟื้นตัว สำหรับตลาดหลักอื่น อาทิ ตลาดญี่ปุ่นยังมีโอกาสเติบโตเนื่องจากภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 ตามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และข้อตกลงAJCEP ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ผู้นำ เข้าบิลเลตและโรงรีดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างชะลอการเสนอซื้อและเสนอขายออกไป เพื่อหยุดรอดูท่าทีของตลาดเหล็กในจีนหลังราคาบิลเลตจีนร่วงลง 30 เหรียญต่อตันในช่วงปลายเดือนสิงหาคม แม้ว่าการลดลงของราคาบิลเลตจีนไม่น่าจะส่งผลกระทบโดยตรงกับตลาดในภูมิภาคเนื่องจากราคาบิลเลตจีนยังคงสูงมาก แต่ผู้ค้าต่างๆก็เกรงว่าหากตลาดเหล็กของจีนยังคงอ่อนตัวต่อเนื่องอาจส่งผลให้สภาวะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อาจจะแย่ตามไปด้วย

1.การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนกรกฎาคม 2552 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ขยายตัวขึ้น ร้อยละ 2.29 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 117.91 เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวพบว่า ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 6.00 โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตเหล็กเส้นกลมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.19 รองลงมาคือ ลวดเหล็กแรงดึงสูงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.05 และเหล็กข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.67 เนื่องจากในเดือนก่อนหน้ามีผู้ผลิตบางรายหยุดการผลิต และได้กลับมาผลิตเป็นปกติในเดือนกรกฎาคมจึงส่งผลให้ปริมาณผลผลิตในเดือนนี้เพิ่มขึ้น ในขณะที่เหล็กลวดและลวดเหล็กกลับมีการผลิตลดลง ร้อยละ 6.46 และ 6.48 ตามลำดับ เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างชะลอตัวลง สำหรับเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิต เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.72 เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เริ่มมียอดการสั่งซื้อเข้ามา ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง ร้อยละ 21.98 โดยเหล็กทรงยาว มีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 24.99 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด ได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลงร้อยละ 53.15 และลวดเหล็กแรงดึงสูง ลดลงร้อยละ 20.75 สำหรับเหล็กทรงแบนมีการผลิตลดลงร้อยละ 22.05 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีลดลงถึงร้อยละ 55.29 และเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 25.40

2.ราคาเหล็ก

การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนสิงหาคม 2552 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กสำคัญที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น คือ เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 492 เป็น 538 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.35 เหล็กแท่งบิลเล็ต เพิ่มขึ้นจาก 395 เป็น 428 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.35 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 553 เป็น 600 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.50 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้น จาก 432 เป็น 458 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.02 และเหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้นจาก 385 เป็น 398 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.38 ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาเหล็กทุกตัวมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะมีโอกาสฟื้นตัวจึงเกิดการบริโภคและการลงทุนมากขึ้น

3. แนวโน้ม

สถานการณ์เหล็กในเดือนสิงหาคม 2552 ในส่วนของเหล็กทรงยาวจะยังคงทรงตัว แต่เหล็กทรงแบนคาดว่าจะเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น เป็นผลจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องเริ่มมียอดการสั่งซื้อจากต่างประเทศกลับมาบ้างแล้ว ทำให้ต้องมีการสั่งซื้อเหล็กทรงแบนมากขึ้น สำหรับราคาเหล็กคาดว่าจะยังคงผันผวนอยู่ เนื่องจากการผันผวนของราคาน้ำมัน รวมทั้งความต้องการใช้ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นของบางประเทศในตะวันออกกลาง อาฟริกาและ เอเชีย

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2552 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 อย่างไรก็ดี บริษัทออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างฟอร์ด มอเตอร์ คัมปานี และมาสด้า มอเตอร์ คอร์เปอเรชั่น ได้เปิดโรงงานผลิตรถยนต์นั่งแห่งใหม่ ณ นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง มีกำลังการผลิตรถยนต์ 275,000 คันต่อปี เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ และประเทศต่างๆ กว่า 130 ประเทศทั่วโลก สำหรับข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกรกฎาคม ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 74,983 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งมีการผลิต 121,672 คัน ร้อยละ 38.37 แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2552 ร้อยละ 0.36
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 43,156 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งมีการจำหน่าย 44,772 คัน ร้อยละ 3.61 และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2552 ร้อยละ 0.57
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 36,555 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งมีการส่งออก 71,232 คัน ร้อยละ 48.68 โดยเป็นการลดลงทุกตลาดส่งออก แต่มีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2552 ร้อยละ 3.25
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2552 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2552 เนื่องจากผู้ประกอบการรถยนต์บางรายมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกตลาด อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลทางด้านจิตวิทยาต่อผู้บริโภค สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนสิงหาคม 2552 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50 และส่งออกร้อยละ 50

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2552 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 อันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 135,349 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งมีการผลิต 174,545 คัน ร้อยละ 22.46 แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2552 ร้อยละ 6.95
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 138,898 คัน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งมีการจำหน่าย 160,365 คันร้อยละ 13.39 และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2552 ร้อยละ 8.30
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป จำนวน 4,536 คันลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งมีการส่งออก 10,281 คันร้อยละ 55.88 และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2552 ร้อยละ 32.32
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2552 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2552 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2552 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 94 และส่งออกร้อยละ 6
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สำหรับการส่งออกถึงแม้ว่าจะเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศตลาดส่งออกหลักของไทยไม่ได้ลดลงมากนักเนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังคงมีก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนกรกฎาคม 2552 ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศลดลง ร้อยละ 5.23 และ 5.83 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.84 และ 4.48 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อพิจารณาในภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าภาวะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์กระเตื้องขึ้น เนื่องจากเทียบกับฐานของปีก่อน ซึ่งปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศอยู่ในระดับต่ำมาก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ทำให้ภาคเอกชนยังชะลอการลงทุน ส่วนการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนกรกฎาคม 2552 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ9.02 และ 10.37 ตามลำดับ ซึ่งไม่ได้ลดลงมากนัก เนื่องจากตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ บังคลาเทศ กัมพูชา พม่า ลาว เวียดนามและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นประเทศกำลังพัฒนายังคงมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ เนื่องจากมีกิจกรรมการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

3.แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในเดือนสิงหาคม และเดือนกันยายน 2552 มีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว ทำให้ภาคเอกชนยังชะลอการลงทุน ดังนั้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จึงขึ้นอยู่กับแผนการลงทุนในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของภาครัฐเป็นหลัก หากรัฐบาลมีการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมาก สำหรับการส่งออก ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัวแต่ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศในแถบอาเซียน ยังคงมีโอกาสที่จะขยายตัวได้

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเดือนส.ค.52 ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.79 เนื่องจากการปรับลดลงของเครื่องปรับอากาศ และตู้เย็นเป็นหลัก โดยคาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 24.19 และ 1.17 ตามลำดับ แต่ปรับลดลงในอัตราที่น้อยลง ซึ่งเกิดจากตลาดส่งออกหลักมีกำลังซื้อกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย
  • ขณะที่ แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.45 ซึ่งคาดว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 โดยที่มีผลิตภัณฑ์บางตัวปรับตัว เช่น HDD ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กลับมาเป็นบวกได้

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนกรกฎาคม 2552 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 322.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 4.89 ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 7.02 เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ยังคงปรับตัวลดลงยกเว้นพัดลม หม้อหุงข้าวและ HDD โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 18.60 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 6.34 โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 103.86 สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.73โดยมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 447.12 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ปรับตัวลดลง ร้อยละ 7.11

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนกรกฎาคม 2552 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 0.56 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลง ร้อยละ 11.04 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 3,653.76 ล้านเหรียญสหรัฐ มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุดได้แก่ เครื่องปรับอากาศสำหรับที่พักอาศัย โรงงาน มีมูลค่าการส่งออก 181.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุดคือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่า 1,274.67 ล้านเหรียญสหรัฐ

3. แนวโน้ม

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.79 เนื่องจากการปรับลดลงของเครื่องปรับอากาศ และตู้เย็นเป็นหลัก โดยคาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 24.19 และ 1.17 ตามลำดับ แต่ปรับลดลงในอัตราที่น้อยลง ซึ่งเกิดจากตลาดส่งออกหลักมีกำลังซื้อกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย ตลาดดังกล่าว เช่น ตลาดอียูและญี่ปุ่น เป็นต้น

ขณะที่ แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.45 ซึ่งคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 โดยที่มีผลิตภัณฑ์บางตัวปรับตัว เช่น HDD ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กลับมาเป็นบวกได้ ขณะที่ ชิ้นส่วน IC ยังคงปรับตัวลดลงค่อนข้างสูง

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ก.ค. 2552

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์             มูลค่า            %MoM           %YoY
          อุปกรณ์คอมพิวเตอร์                  1,274.67          -3.70           -14.57
          IC                                598.47           0.90             1.31
          เครื่องปรับอากาศ                     181.51          -7.04           -22.27
          เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ                    123.88           4.02           -22.98
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์     3,653.76           0.56           -11.04

ที่มา กรมศุลกากร

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนกรกฎาคม 2552 มีค่า 167.8 ลดลงจากเดือนมิถุนายน2552 (170.0) ร้อยละ 1.3 และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (184.4) ร้อยละ 9.0
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2552 ได้แก่ Hard Disk Drive อิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศเป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย เบียร์ รถจักรยานยนต์ เป็นต้น
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนกรกฎาคม 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 56.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2552 (ร้อยละ 55.6) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (ร้อยละ 65.2)
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน2552 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยาง ยานยนต์ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive เหล็ก เส้นใยสิ่งทอ เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคม 2552

  • ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2552 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 387 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 359 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 7.80 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 18,623 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งมีการลงทุน 10,838.55 ล้านบาท ร้อยละ 71.82 แต่การจ้างงานรวมมีจำนวน 9,037 คน ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2552 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 11,675 คน ร้อยละ22.60
  • ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 350 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 10.57 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งมีการลงทุน 15,369.95 ล้านบาท ร้อยละ 21.16 แต่การจ้างงานรวมทรงตัวโดยลดลงเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคม 2551 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 9,057 คน ร้อยละ 0.22
  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2552 คือ อุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ จำนวน 27 โรงงาน และอุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ พ่นสีรถยนต์ จำนวน 26 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2552 คือ อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ เงินทุน 6,995.57 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า เงินลงทุน 2,442.70 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2552 คือ อุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์ จำนวนคนงาน 1,710 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวนคนงาน 911 คน
  • ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2552 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 144 ราย มากกว่าเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 122 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.03 มีเงินทุนของการเลิกกิจการจำนวน 1,636.59 ล้านบาท มากกว่าเดือนมิถุนายน 2552 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,541.81 ล้านบาท และการเลิกจ้างงานมีจำนวน 4,586 คน มากกว่าเดือนมิถุนายน 2552 ซึ่งเลิกจ้างงานจำนวน 3,251คน
  • ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 177 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.64 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนกรกฎาคม 2551 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,137.36 ล้านบาท แต่มีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนกรกฎาคม 2551 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 4,229 คน
  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม 2552 คืออุตสาหกรรมซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบ จำนวน 17 ราย รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ อุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ ยาง อโลหะอื่น ซึ่งมิได้ทำจากพลาสติกอัดเข้ารูป และอุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต คอนกรีตผสม ผลิตภัณฑ์ยิมซั่ม ปูนปลาสเตอร์ ทั้ง 3 อุตสาหกรรมเท่ากัน จำนวน 9 ราย
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2552 คืออุตสาหกรรมทอหรือเตรียมเส้นด้ายยืนสำหรับการทอ เงินทุน 262 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำหม้อเก็บพลังงานไฟฟ้า หรือหม้อกำเนิดพลังงานไฟฟ้าชนิดน้ำหรือชนิดแห้ง และรวมถึงชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เงินทุน 182 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนกรกฎาคม 2552 คือ อุตสาหกรรมทำอาหารจากสัตว์น้ำบรรจุในภาชนะผนึกอากาศเข้าไม่ได้ คนงาน 450 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ คนงาน 382 คน
  • ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในช่วงเดือนมกราคม — กรกฎาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 482 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน666 โครงการ ร้อยละ 27.63 และมีเงินลงทุน 115,300 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 262,600 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 56.09
  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2552
          การร่วมทุน                     จำนวน(โครงการ)        มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%              162                     48,9000
          2.โครงการต่างชาติ 100%             190                     28,400
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ       130                     38,000
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2552 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 49,100 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตร มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 23,200 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ