สศอ.เผยผลสำรวจยานยนต์ครึ่งปีหลังมีแนวโน้มดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 28, 2009 15:06 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ.เผยผลสำรวจความเห็นผู้ผลิต-ผู้บริโภค ต่อสถานการณ์ยานยนต์ ยอดผลิต-สั่งซื้อลดลงมาก แต่ครึ่งปีหลังมีแนวโน้มดีขึ้น แนะผู้ผลิตต้องเพิ่มขีดความสามารถ

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านวิเคราะห์วิจัยภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ผลิตและผู้บริโภคต่อทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อทราบถึงความคิดเห็นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อสถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต รวมถึงความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ โดยทำการสำรวจผู้ประกอบการแบบเฉพาะเจาะจงทั้งสิ้น 52 บริษัท ซึ่งเป็นสมาชิกของสถาบันยานยนต์ และสำรวจกลุ่มผู้บริโภคซึ่งเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 400 ตัวอย่าง หลังจากผลพวงของภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ประกอบกับปัจจัยทางด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก

นายอาทิตย์ กล่าวว่า จากผลสำรวจในส่วนความคิดเห็นของผู้ประกอบการพบว่า ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทำให้ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในส่วนของผู้ผลิตขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในด้านปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลงและต้นทุนวัตถุดิบที่มีราคาสูงขึ้น ซึ่งในปี 2552 ผู้ผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 75 มีปริมาณการผลิตที่ลดลง และบางรายประสบปัญหาเนื่องจากลูกค้าซื้อโดยใช้เครดิตหรือลูกค้ามีการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งปัญหาจากสถาบันการเงินต่างๆ ที่เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นส่งผลให้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง แต่ทั้งนี้ ผู้ผลิตคาดว่าสถานการณ์ด้านการผลิตและการตลาดจะปรับตัวดีขึ้นภายในครึ่งหลังของปี 2552 และมีความมั่นใจว่าสถานการณ์ด้านการผลิตในปี 2553 จะดีขึ้นจากปี 2552

“ผู้ประกอบการร้อยละ 71.2 สะท้อนว่านโยบายหรือมาตรการต่างๆ ของรัฐต่อการช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ สนองความต้องการน้อยมาก และร้อยละ 28.8 เห็นว่านโยบายหรือโครงการต่างๆ ของรัฐที่ให้ความช่วยเหลืออยู่ในระดับปานกลาง โดยผู้ประกอบการ ร้อยละ 44.2 ระบุว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในเกณฑ์มาก ขณะที่ร้อยละ 40.4 และร้อยละ 13.5 ได้รับผลกระทบในเกณฑ์ปานกลางและน้อยตามลำดับ

สำหรับแผนรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ร้อยละ 96.4 มีแผนรองรับ และร้อยละ 5.4 ยังไม่มีแผนรองรับที่ชัดเจน โดยแนวทางที่ผู้ประกอบการใช้มากที่สุดคือ ลดการทำงานล่วงเวลาของพนักงาน คิดเป็นร้อยละ 18.9 รองลงมาคือ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขาย เช่น การปรับลดราคาและการให้เครดิตลูกค้านานขึ้น ร้อยละ 14.9 นอกจากนี้คือ แนวทางการลดจำนวนพนักงานและการส่งเสริมการขายในประเทศให้มากขึ้น ร้อยละ 12.2 และอีกส่วนน้อยที่ต้องลดกำลังการผลิตลง โดยผู้ประกอบการมองว่ามีความจำเป็นต้องขยายการส่งออกไปยังตลาดและกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เพื่อขยายฐานการจำหน่ายได้มากขึ้น”

ประเด็นความพร้อมของผู้ประกอบการในการรับมือผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 43.1 มีความพร้อมในระดับปานกลาง ร้อยละ 29.4 ระบุมีความพร้อมเป็นอย่างมาก ขณะที่ผู้ประกอบการร้อยละ 25.5 มีความพร้อมน้อย และอีกร้อยละ 2.0 ระบุว่าไม่มีความพร้อม ส่วนความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ร้อยละ 49.0 ระบุ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในปลายปี 2552 ร้อยละ 17.6 คาดว่าจะฟื้นตัวปลายปี 2553 ขณะที่ผู้ประกอบการร้อยละ 13.7 มองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นในช่วงต้นปี 2553 และร้อยละ 9.8 มองว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ช่วงกลางปี 2553

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า ความคิดเห็นของผู้บริโภค ร้อยละ 22.6 ความพร้อมทางการเงิน เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์มากที่สุด รองลงมา ร้อยละ 21.2 คือ ปัจจัยด้านความจำเป็นและปัจจัยด้านราคา ขณะที่แนวโน้มการซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคพบว่า ร้อยละ 46.3 ไม่มีแนวโน้มที่จะซื้อรถยนต์ในช่วงนี้ มีเพียงร้อยละ 26.5 ระบุว่าจะซื้อรถยนต์คันใหม่แต่ต้องรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจก่อน โดยร้อยละ 19.7 ระบุจะซื้อรถช่วงหลังกลางปี 2553 ร้อยละ 4.5 ซื้อภายใน 1 ปี และผู้บริโภคร้อยละ 1.7 และ 1.3 ระบุจะซื้อรถภายใน 6 เดือน และ 3 เดือน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม รายได้ต่อเดือนของผู้บริโภคก็มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถเช่นเดียวกัน โดยผู้บริโภคที่มีรายได้ต่อเดือนสูง จะมีความต้องการซื้อรถยนต์ขนาดใหญ่ (2000 ซีซี ขึ้นไป)

“วิกฤตแฮมเบอเกอร์ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมยานยนต์ของทุกประเทศทั่วโลกอย่างถ้วนหน้า การเตรียมตัวเพื่อรองรับปัญหาเฉพาะหน้าเป็นสิ่งจำเป็น อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจไม่น่าจะส่งผลกระทบยาวนาน เนื่องจากมีการคาดการณ์ผลกระทบและการ

เตรียมตัววางแผนรับมืออย่างเป็นขั้นตอน สศอ. อยากให้บริษัทยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีการพัฒนาตนเอง โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิต (Productivity) ในด้านโรงงาน และผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากร เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมเมื่อสภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวหรืออุตสาหกรรมยานยนต์มีการเติบโตในรอบต่อไป โดยสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากโครงการ Productivity ซึ่งในปีงบประมาณ ปี 2553 (ต.ค. 52-ก.ย. 53) สศอ.ได้อุดหนุนเงินงบประมาณ 40 ล้านบาท ให้สถาบันยานยนต์ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมยานยนต์และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ไปดำเนินการในทางปฏิบัติ สำหรับบริษัทผู้ผลิตภายใต้โครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco Car) การเร่งพัฒนา Eco Car ให้สามารถออกขายสู่ตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศโดยเร็ว จะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจครั้งสำคัญ เนื่องจาก Eco Car เป็นรถยนต์ของเทรน(Trend)อนาคตที่มีคุณสมบัติเหนือกว่ารถยนต์ทุกรุ่นที่มีการผลิตภายในประเทศ ทั้งในส่วนของคุณสมบัติทางด้านการประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง รักษาสิ่งแวดล้อม และมีมาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล UNECE”

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ