สศอ.เปิดแผนพัฒนา ปี 53 ทุ่ม 453.2 ล้านบาท เน้นสร้างฐานข้อมูลเชิงลึกเข้มข้น เพื่อประสิทธิผลชี้นำเตือนภัย หนุนอุตฯไทยเพิ่ม Productivity ต่อยอดภูมิปัญญาสร้างมูลค่า เดินหน้าพัฒนาอุตฯรายสาขาเสริมขีดความสามารถการแข่งขัน
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงแผนงานของ สศอ.ในปีงบประมาณ 2553 (ต.ค.2552-ก.ย.2553) ว่าได้มุ่งดำเนินงานที่จะชี้แนะชี้นำการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยใน 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.เร่งสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลเชิงลึก(Industrial Intelligence) ในสาขาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ 2.บริหารและกำกับการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity)และแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา และ 3. เดินหน้าศึกษาเพื่อชี้นำและผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ใช้งบประมาณดำเนินการ 453.2 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงบอุดหนุนให้กับหน่วยงานร่วมดำเนินการ
“เร่งสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลเชิงลึกในสาขาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์”
นายอาทิตย์ กล่าวว่า การพัฒนาฐานข้อมูลเชิงลึกเพื่อการวิเคราะห์และเตือนภัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในภาพรวมและรายสาขาอุตสาหกรรม ใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายของภาครัฐและเชิงธุรกิจสำหรับภาคเอกชน โดยดำเนินการใน 8 สาขา คือ อุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์ สิ่งทอ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและโลหะการ เครื่องจักรกล พลาสติกและผลิตภัณฑ์ และฐานข้อมูลเตือนภัยมาตรฐานระบบการจัดการ ซึ่ง สศอ.จะร่วมดำเนินการกับสถาบันเฉพาะทางต่างๆของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งสถาบันปิโตเลียมแห่งประเทศไทยในกรณีอุตสาหกรรมพลาสติก ขณะเดียวกันในส่วนของดัชนีอุตสาหกรรม จะเน้นในเชิงคุณภาพและการรายงานผลที่รวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งจะทดลองนำร่องดัชนีอุตสาหกรรมระดับจังหวัดในภูมิภาค 8 จังหวัด โดยร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดต่างๆ
นอกจากนี้ในปี 2553 สศอ.จะได้นำระบบเตือนภัยภาคอุตสาหกรรม (Early Warning System of Industrial Economics EWS-IE) ออกเผยแพร่ ระบบ EWS-IE นี้เป็นแบบจำลอง (Model) ในลักษณะเทอร์โมมิเตอร์หรือกราฟสี ที่จะสามารถชี้นำภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประมาณ 2 เดือน โดยหากค่าความน่าจะเป็น (%) มีระดับตั้งแต่ 0-45% แถบสีจะเป็นเขียว หมายถึงภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอยู่ในเกณฑ์ปกติ หากระดับมากกว่า 45% ขึ้นไป แถบสีจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ซึ่งหมายถึงภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ผิดปกติ ซึ่งในระยะต่อไป สศอ.จะได้ร่วมกับสถาบันเฉพาะทางรายสาขาอุตสาหกรรม จัดทำระบบ
EWS-IE รายสาขาอุตสาหกรรมออกมาเผยแพร่ เพื่อช่วยชี้นำเตือนภัยลึกลงไปในแต่ละสาขาอุตสาหกรรม ในเรื่องสร้างความเข้มข้นของข้อมูลนี้ใช้งบประมาณทั้งในส่วนของ สศอ.และการอุดหนุนให้กับสถาบันเฉพาะทางที่เข้าร่วมดำเนินงาน 60 ล้านบาท ซึ่งรวมทั้งค่าสำรวจ จัดซื้อข้อมูล การวิเคราะห์ การพัฒนาระบบโปรแกรม และสร้างเครือข่ายข้อมูล ฯลฯ
“บริหารและกำกับการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา”
นายอาทิตย์ กล่าวว่า ในส่วนของการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพภาคอุตสาหกรรม ปีงบประมาณ พ.ศ.2553 มีโครงการได้รับจัดสรรงบประมาณ ทั้งสิ้น 27 โครงการ วงเงิน 249.7 ล้านบาท ซึ่ง สศอ.ดำเนินการร่วมกับสถาบันเฉพาะทางภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม 9 สถาบัน และยังร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องต่างๆ ครอบคลุมสาขาอุตสาหกรรมสำคัญหลายสาขาเช่น อุตสาหกรรมอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เหล็กและเหล็กกล้า ยา อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ไม้และเครื่องเรือน ต่อเรือซ่อมเรือ พลาสติก บรรจุภัณฑ์ คอมโพสิท เซรามิกส์ และซอฟต์แวร์ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บท Productivity ใน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยกระดับความสามารถทักษะแรงงาน (Human Skill) ยกระดับความสามารถด้านบริหารจัดการ (Management) ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักร พัฒนาระบบ Logistics ภายในกลุ่มอุตสาหกรรม และสร้างเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจและ Supply Chain ซึ่งการเพิ่ม Productivity จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้อุตสาหกรรมไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก เนื่องจากสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป หากไม่สามารถปรับตัวย่อมทำให้เสียโอกาสในการแข่งขัน การดำเนินงานทั้ง 27 โครงการดังกล่าว คาดว่าจะช่วยพัฒนาและยกระดับทักษะบุคลากรภาคอุตสาหกรรม 18,455 คน และช่วยแนะนำแก้ไขปัญหาการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนให้กับสถานประกอบการ 652 โรงงาน ช่วยพัฒนากระบวนการผลิตที่ดี ตลอดจนสร้างระบบโครงข่ายเชื่อมโยงธุรกิจ เป็นต้น
ขณะที่ การดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ปีงบประมาณ 2553 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติผ่าน สศอ. จำนวน 10 โครงการ วงเงิน 78 ล้านบาท โดยอุดหนุนการดำเนินการให้กับสถาบันเฉพาะทางภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันการศึกษาของรัฐ ครอบคลุมหลายสาขาได้แก่ ไฟฟ้า เหล็ก สิ่งทอ เคมีพลาสติก เซรามิก โครงการเหล่านี้จะช่วยยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคการผลิต สร้างความเข้มแข็งของแหล่งผลิตความรู้ พัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของภาคการผลิตและบริการ รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแหล่งผลิตความรู้และผู้ใช้ความรู้ โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินการนี้ คือ มีนวัตกรรมใหม่ๆ 7 นวัตกรรม มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่สามารถนำไปสู่การขยายผลเชิงพาณิชย์ 40 ผลิตภัณฑ์ มีการพัฒนาบุคลากร 675 คน และมีศูนย์ให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยก้าวทันการแข่งขันในตลาดโลก
“เดินหน้าศึกษาเพื่อชี้นำและผลักดันพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
นายอาทิตย์ กล่าวว่า สำหรับการชี้แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขาสศอ.ได้มุ่งเน้นในการผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนภายใต้กระแสเศรษฐกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงภาพรวมที่ชัดเจน และจัดทำนโยบายสู่การปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ให้เกิดความมั่นใจในการลงทุนของภาคส่วนต่างๆ โดยโครงการศึกษาเพื่อชี้นำการพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ในปีงบประมาณ 2553 ที่สำคัญ ได้แก่ การศึกษาทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่ระดับโลก ซึ่งมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการร่วมคิด ร่วมวิเคราะห์ เพื่อกำหนด Roadmap การพัฒนาอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง และศักยภาพของไทย โครงการจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เป็นการศึกษาต่อเนื่องจากโครงการระยะที่ 1 ที่ได้ศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น ในโอกาสของอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทย ตลอดจนรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งในระยะที่ 2 นี้ จะเน้นศึกษาการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยกับผู้ผลิตรถไฟฟ้าต่างประเทศในระยะยาว โดยเน้นการยกระดับขีดความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ระหว่างไทยและผู้ผลิตรถไฟฟ้าต่างประเทศ ในลักษณะ Strategic Partner แทนที่จะเป็นเพียงการซื้อขายชิ้นส่วนระหว่างกัน แต่จะเป็นการร่วมพัฒนาชิ้นส่วนและถ่ายทอดเทคโนโลยีนอกจากนี้ เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมยา เซรามิกส์ สิ่งพิมพ์ การศึกษาด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบการค้า การศึกษาเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมชายแดน รวม 15 โครงการ งบประมาณโครงการละ3-5 ล้านบาท รวม 65.5 ล้านบาท
สศอ.เชื่อมั่นว่าการดำเนินการเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมข้างต้นดังกล่าว จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมไทยมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับช่วงจังหวะเวลาที่อุตสาหกรรมไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--