สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 25, 2009 14:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 3 ปี 2552 เศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัว ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ถึงแม้ว่าในหลาย ๆ ประเทศเศรษฐกิจยังคงอยู่ในภาวะถดถอย และปัญหาการว่างงานมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นประเทศจีนที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของราคาพลังงานนั้น ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 3 ปี 2552 อยู่ที่ 62.27 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ซึ่งราคาอยู่ที่ 115.22 USD/Barrel เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงหดตัว ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลง สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลงโดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนธันวาคม มีราคาอยู่ที่ 77.43 USD/Barrel ทั้งนี้ปริมาณความต้องการน้ำมันในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับต่ำถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวแล้วก็ตาม

ในส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ที่ผ่านมา หดตัวร้อยละ -4.9 ซึ่งหดตัวน้อยลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -7.1 และหดตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการหดตัวน้อยลงจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ผลจากการใช้จ่ายอุปโภคของรัฐบาลที่ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 5.9 และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน และการลงทุนในประเทศ หดตัวร้อยละ 2.3 และ 10.1 ซึ่งหดตัวน้อยลงกว่าในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2552 จะหดตัวร้อยละ -3.5 ถึงร้อยละ -3.0 ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไทย ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ตัวชี้วัดต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ( Manufacturing Production Index : MPI ) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่มพบว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น จากไตรมาสที่ผ่านมาโดยเฉพาะ Hard Disk Drive ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเล อาหารกระป๋อง เป็นต้น นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาเช่นกัน

สำหรับสถานการณ์การค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ขยายตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 โดยใน ไตรมาสที่ 3 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 77,422.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 41,094.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 36,328.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 19.39 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.18 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ดุลการค้าเกินดุล 4,765.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 17.70 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นลดลงร้อยละ 28.04 แต่ทั้งนี้เป็นการลดลงหรือติดลบในอัตราที่น้อยลงมาเป็นลำดับนับตั้งแต่ต้นปีนอกจากนี้ในเดือนกันยายนการส่งออกมีมูลค่า 14,904.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงสุดในรอบ 9 เดือน

และหากพิจารณามูลค่าการส่งออกไปยังแต่ละตลาด จะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกมีทิศทางและแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกับการส่งออกสินค้า กล่าวคือมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยเฉพาะในตลาดใหม่ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย ฮ่องกง ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรปตะวันออก อินโดจีน อินเดียและลาตินอเมริการวมทั้งตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และ อาเซียน(5) และแม้ว่าภาวะการแข่งขันในตลาดโลกจะมีอยู่ในระดับที่สูง แต่ละประเทศมีแนวโน้มการนำเข้าที่ลดลง แต่สินค้าไทยยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดที่สำคัญ ๆ ไว้ได้และยังสามารถขยายส่วนแบ่งสินค้าไทยในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น

ในส่วนของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมมีมูลค่ารวม 35,619.15 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 7.29 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 16,682.93 ล้านบาท และเดือนสิงหาคมมีมูลค่า 18,936.22 ล้านบาท เมื่อพิจารณาตลอดทั้ง 8 เดือนในปี 2552 พบว่าในเดือนสิงหาคมมีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดซึ่งใกล้ระดับ 20,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 264 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.09 โดยมีเงินลงทุน 79,600 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.75 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยโครงการลงทุนประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 80 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 36,900 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 90 โครงการ เป็นเงินลงทุน 67,000 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 30,300 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 25,900 ล้านบาท และเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 8,200 ล้านบาท สำหรับแหล่งลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 พบว่านักลงทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกามีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 21,483 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศญี่ปุ่นจำนวน 56 โครงการ มีเงินลงทุน 10,366 ล้านบาท ประเทศเกาหลีใต้จำนวน 9 โครงการ เป็นเงินลงทุน 4,559 ล้านบาทและประเทศอินเดีย 7 โครงการ เป็นเงินลงทุน 3,001 ล้านบาท

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.45 ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลดลงจากกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความเย็น เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และคอมเพรสเซอร์ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ สายไฟฟ้า และหม้อหุงข้าว โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.68 และ 12.32 เนื่องจากปัจจัยต่างๆที่มากระทบกับผลิตภัณฑ์นั้นๆที่มีผลทำให้แต่ละผลิตภัณฑ์มีปริมาณผลิตหรือมูลค่าสูงขึ้น สำหรับภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3 พบว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.40 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.07 โดยสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ HDD และ Semiconductor ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.00 และ 8.35 ตามลำดับ

แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงไตรมาสที่ 4 ระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2552 โดยดูจากดัชนีการส่งสินค้าของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณการว่าจะทรงตัวร้อยละ 0.92 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้าบางผลิตภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.02 ขณะที่ อุตสาหกรรมตู้เย็นในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ยังคงปรับตัวลดลงร้อยละ 6.30 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับแนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.59 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 10.42% แต่ IC ปรับตัวลดลงเพียง 5.24% ทั้งนี้เนื่องจากส่วนประกอบและชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับความต้องการในตลาดโลก

เคมีภัณฑ์ ไตรมาส 3 ปี 2552 การส่งออกเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 3,151 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 24.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าส่งออก 9,514 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.61 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออก 11,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.93 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเครื่องสำอางของไทยเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งมาตรฐานการผลิตที่ดี ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยคือ ตลาดเอเชีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เป็นต้น

แนวโน้มของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ทั้งการผลิต การจำหน่าย นำเข้าและส่งออกน่าจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน และวาเลนไทน์ทำให้ประชาชนน่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยกันเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมาตรการกระตุ้นของภาครัฐในเรื่องโครงการไทยเข้มแข็ง การยืดระยะเวลาในการช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าออกไปอีก 6 เดือนและเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุน่าจะเป็นแรงผลักทำให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าได้ และจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของโลกที่ปรับตัวดีขึ้น คำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นก็น่าจะเป็นแรงบวกเพิ่มขึ้นอีกสำหรับเศรษฐกิจของไทย

ปิโตรเคมี ไตรมาส 3 ปี 2552 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 7,298.89 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.24 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 4.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 11,683.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 1.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 37,890.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.85 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 23.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการขยายกำลังการผลิตของประเทศในแถบตะวันออกกลาง และจีน และจากการที่สภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ส่งผลให้อุปสงค์หดตัวลงตาม ดังนั้น ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ การรักษากลุ่มลูกค้าเก่าและการรุกหาตลาดใหม่ รวมถึงการลงทุนดำเนินธุรกิจที่ครบวงจรจะช่วยให้สามารถลดความเสี่ยงลงได้

เหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 18 ความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ 26 สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้า ลดลง ร้อยละ 57 และ 32 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออกโดยรวม ลดลง ร้อยละ 57 และ 41โดยเป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กแท่งแบน ซึ่งในไตรมาสนี้ไม่มีการส่งออกเลยรองลงมาคือเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 87 และเหล็กแท่งเหล็ก ลดลง ร้อยละ 74

แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในไตรมาสที่ 4 ของ ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของ ปี 2552 คาดการณ์ว่า ทั้งเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบนจะมีการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเร่งใช้งบประมาณและแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จึงมีผลทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กทรงยาวที่สำคัญมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กทรงแบนที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นแล้ว

ยานยนต์ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีการผลิตรถยนต์ จำนวน 262,543 คัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงร้อยละ 24.83 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ลดลงร้อยละ 17.98, 28.15 และ 4.63 ตามลำดับ หากเปรียบเทียบไตรมาสที่ 3 กับไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.10 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.39, 44.37 และ 29.54 ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2552 เนื่องจากเป็นฤดูกาลจำหน่าย และมีการจัดงาน Motor Expo 2009 ที่กำหนดจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ โดยคาดว่าบริษัทรถยนต์ค่ายต่างๆ จะมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงสิ้นปี ในขณะที่การส่งออกคาดว่าจะฟื้นตัวได้ตามภาวะเศรษฐกิจโลก สำหรับข้อมูลที่ได้จากแผนการผลิตผู้ประกอบการรถยนต์ คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ประมาณ 3.2 แสนคัน โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 52 และผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 48

พลาสติก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.75 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 0.86 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยแผ่นฟิล์มพลาสติก ถุงพลาสติก และ เครื่องใช้ประจำโต๊ะอาหาร ครัว และห้องน้ำ ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น 33.02 9.77 และ7.74 ตามลำดับ สำหรับพลาสติกแผ่น และกระสอบพลาสติกมีดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 0.20 และ 10.48 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ภาวะอุตสาหกรรมพลาสติกน่าจะดีขึ้นแต่ไม่มากนัก ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงของการผลิตเพื่อรองรับกับเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน และวาเลนไทน์ แต่โดยรวมแล้วการบริโภคน่าจะยังคงไม่สูงมากนัก เนื่องจากผู้บริโภคยังคงคำนึงถึงการใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นมากขึ้น และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นซึ่งอาจทำให้การส่งออกลดลง และที่สำคัญคือความไม่แน่นอนทางการเมือง ความขัดแย้งกันระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และผลจากการระงับโครงการในมาบตพุด 76 โครงการ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ดัชนีผลผลิต การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก และ การผลิตกระเป๋าเดินทางกระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ในไตรมาส 3 ปี 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ในปีเดียวกัน มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากผู้ผลิตชะลอการผลิตลงตั้งแต่ช่วงต้นปีเพื่อขายสินค้าในคลังสินค้าให้หมด ทำให้ช่วงกลางปีในคลังสินค้ามีปริมาณลดลง จึงต้องเพิ่มกำลังการผลิตในปลายปี ซึ่งสอดคล้องกับการนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกที่นำมาผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทาง หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

แนวโน้มในปี 2552 ทั้งปีคาดว่าการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังเมื่อเทียบกับปีก่อนคาดว่าจะลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากฐานการผลิตและการส่งออกปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับสูง แต่แนวโน้มการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังใน ปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2552 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากฐานการผลิตและการส่งออกปี 2552 อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้า และประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการออกแบบและเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าในเรื่องของคุณภาพมากขึ้น

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มธัญพืชและแป้ง ประมง และอาหารสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 3.9 และ 3.7 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) เป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าโดยเฉพาะ จีน ที่เพิ่มการสั่งซื้อในผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งนี้หากพิจารณารวมการผลิตน้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 24.2 เนื่องจากเป็นช่วงปิดหีบการผลิต สำหรับภาวะการผลิตน้ำตาลทรายในช่วง 9 เดือนของปี 2552 เมื่อเทียบกับปี 2551 (ม.ค.-ก.ย.) พบว่า ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 4.0 ตามการลดลงของผลผลิตอ้อย

แนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 คาดว่า จะมีทิศทางการผลิต การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคที่ดีขึ้น ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น และการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีความผันผวนลดลง อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบ คือ ความรุนแรงของการระบาดของโรคใหม่ๆ ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ การก่อการร้ายในหลายประเทศ และมาตรการกีดกันการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต

ไม้และเครื่องเรือน ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2552 มีปริมาณการผลิต 2.49 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 15.88 และ 4.96 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่ลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัว อีกทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์โดยรวมยังชะลอตัว และราคาน้ำมันที่ผันผวน ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนและการผลิตออกไป

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจภายในและต่างประเทศอยู่ในสภาวะเริ่มฟื้นตัว และราคาน้ำมันยังมีความผันผวน ปัจจัยบวก คือ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ตลาดบนที่ยังมีศักยภาพ และมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.54 และ 13.38 ตามลำดับ.สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี2552 การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ลดลงร้อยละ 19.73 เนื่องจากความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นของตลาดในประเทศและตลาดโลกลดลง ตามยอดการจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวนอกจากนี้การที่ความต้องการใช้ยางในตลาดโลกชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคายางมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นได้กระเตื้องขึ้นในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจีนทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น จึงนำเข้ายางแปรรูปขั้นต้นจากไทยเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายหลังที่จีนได้มีการปรับลดภาษีรถยนต์บางรุ่นลง

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ภาวะอุตสาหกรรมยางแปรรูปขั้นต้น และผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะมีแนวโน้มขยายตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัว ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบในแง่วัตถุดิบ เป็นประเทศที่ผลิตยางพารามากได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ทำให้ต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนสนใจที่จะร่วมลงทุนในธุรกิจยางรถยนต์ในประเทศไทย โดยให้ไทยเป็นฐานการผลิต ผลผลิตส่วนหนึ่งเพื่อส่งออกจำหน่ายในตลาดโลกและอีกส่วนหนึ่งเพื่อส่งกลับไปใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศของตน

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 มีค่าดัชนีผลผลิต 114.7 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ในส่วนของภาวะการผลิตกระดาษแข็ง และกระดาษคราฟท์ มีค่าดัชนีผลผลิต 130.4 และ 129.5 ตามลำดับ เนื่องจากการที่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มความต้องการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้นเพื่อใช้สำหรับห่อหุ้ม บรรจุสินค้า หรือปกป้องความเสียหายจากการขนส่งเคลื่อนย้ายสินค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อเตรียมรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ สำหรับภาวะการผลิตกระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษลูกฟูก มีค่าดัชนีผลผลิต 119.8 และ 163.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง

แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 คาดว่า จะทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยคาดว่า ในช่วงต้นไตรมาสจะยังคงมีคำสั่งซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แต่แนวโน้มมูลค่าสินค้าอาจลดลง จากราคาวัตถุดิบ ได้แก่ เยื่อกระดาษ กระดาษ และเชื้อเพลิง ลดลง และมีการแข่งขันด้านราคาเพิ่มขึ้น

ยา การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีปริมาณ 7,350.6 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 14.9 และ 16.2 ตามลำดับ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 มีปริมาณการผลิต 20,939.5 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.7 โดยประเภทยาที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาก คือ ยาน้ำ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาลและร้านขายยา เข้ามามาก ทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และเป็นการรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองไม่ให้ลดลง นอกจากนี้ในส่วนยาผง และยาเม็ด มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน

แนวโน้มไตรมาสสุดท้าย ของปี 2552 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยา มีแนวโน้มทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากยาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจมากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น สำหรับการนำเข้าและส่งออกคาดว่า จะชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากผู้ผลิต รวมถึงผู้สั่งซื้อ จะบริหารสินค้าคงคลังไม่ให้เหลือในปริมาณที่สูงมากในช่วงปลายปี

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ (ISIC 1711) การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งหรือโครเชท์ (ISIC 1730) การผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (ISIC 1810) เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม การผลิตเพิ่มขึ้นทั้ง 3 ISIC ร้อยละ 7.2, 8.2 และ 3.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ตามลำดับ ในขณะที่ดัชนีการส่งสินค้า(การจำหน่าย) เส้นใยสิ่งทอฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 และ การผลิตเครื่องแต่งกายฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวซึ่งคำสั่งซื้อที่เริ่มมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และเร็วกว่าที่คาด ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายๆ แห่งต้องเพิ่มกำลังการผลิต ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงาน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ การผลิตผ้าฯ และการผลิตเครื่องแต่งกายฯ ลดลงร้อยละ 5.2 , 25.8 และ 18.8 ตามลำดับ และการจำหน่าย ลดลงร้อยละ 2.1, 16.1 และ 13.4 ตามลำดับ

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 คาดว่าภาคการผลิต การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 แต่คาดว่าคำสั่งซื้อจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของตลาดนำเข้าหลัก อย่างสหรัฐอเมริกายังไม่กระเตื้องมากนัก แต่ภาพรวมยังทรงตัวเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา

ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 9.72 ล้านตันการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 8.32 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตปูนเม็ด เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.21 และ ส่วนการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 0.83 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ด และการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.25 และ 2.59 ตามลำดับ โดยกล่าวได้ว่าภาวะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ยังไม่ฟื้นตัวเนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา เป็นผลจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลงจากความไม่แน่นอนจากภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งความกังวลในเสถียรภาพทางการเมืองทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนขยายธุรกิจต่างๆ ของภาคเอกชน และความคืบหน้าในการดำเนินโครงการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานของภาครัฐ

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ภาวะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศคาดว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลก่อสร้าง และยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่รัฐบาลมีแผนการดำเนินการ ส่วนใหญ่อาจเริ่มก่อสร้างได้จริงประมาณต้นปี 2553 หากรัฐบาลมีการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ผลิตภัณฑ์ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 36.77 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลง ร้อยละ 2.42 ซึ่งเป็นการลดลงตามฤดูกาลในช่วงฤดูฝน แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน การผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีการเติบโต เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.89 การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ในภาพรวมยังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ โดยการผลิตและจำหน่าย กระเบื้องปูพื้น บุผนัง ลดลงเนื่องจากไตรมาสนี้เป็นช่วงที่ภาวะตลาดซบเซา ทำให้ความต้องการใช้ในประเทศลดลง สำหรับการผลิต และจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์ แม้ว่าไตรมาสนี้จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนแล้ว ก็ยังคงลดลงจากการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ

แนวโน้มการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 แม้ว่าไตรมาสนี้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูการขาย แต่คาดว่าการผลิตและจำหน่ายเซรามิกจะอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศกำลังจะเริ่มฟื้นตัว จึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ด้านการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.00 และการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.54 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 101.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกอัญมณี เครื่องประดับแท้และทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 43.58 32.70 และ 230.49 ตามลำดับ สำหรับสาเหตุที่การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งออกมากกว่าการนำเข้า

แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีปัจจัยด้านบวก คือ แนวโน้มราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ระดับ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ จะส่งผลให้มีการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น ความสำเร็จของการจัดงานบางกอกเจมส์แอนด์จิวเวลรี่ แฟร์ ครั้งที่ 44 อีกทั้งคำสั่งซื้อที่มีมากสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาส จะเป็นสาเหตุให้การส่งออกเพิ่มขึ้น อย่างไรตามยังคงมีปัจจัยด้านลบ คือ แนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาทและแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงคาดว่าการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 จะมีแนวโน้มทรงตัว

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ