จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 หดตัวร้อยละ -4.9 ซึ่งหดตัวน้อยลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -7.1 และหดตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.3 โดยปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้อัตราการขยายตัวหดตัวน้อยลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา คือ ผลจากการใช้จ่ายอุปโภคของรัฐบาลที่ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 5.9 และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน และการลงทุนในประเทศหดตัวร้อยละ 2.3 และ 10.1 ซึ่งหดตัวน้อยลงกว่าในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 หดตัวร้อยละ -8.4 ซึ่งหดตัวน้อยลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -14.4 และหดตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 การที่ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 หดตัวน้อยลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตอุตสาหกรรมบางประเภทเริ่มมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น Hard Disk Drive และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่า ทั้งปี 2552 เศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ -3.5 ถึงร้อยละ -3.0 ตามสถานการณ์ในครึ่งปีแรก ซึ่งเศรษฐกิจหดตัวมากทั้งในด้านการส่งออก การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชน
สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 พบว่า มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ Hard Disk Drive ยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเล อาหารกระป๋อง เป็นต้น โดยจะเห็นว่าในเดือนกันยายน 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายเดือนในภาพรวมเริ่มมีอัตราการขยายตัวเป็นบวกเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเป็นเดือนแรก หลังจากติดลบมาตลอด 11 เดือน จึงอาจเป็นสัญญาฟื้นตัวของอุตสาหกรรมสำหรับมูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลงร้อยละ 21.4 ( ม.ค.- ก.ย.2552 ) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ในส่วนของการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคของภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ( Manufacturing Production Index : MPI ) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ 174.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (158.5) ร้อยละ 10.2 แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (184.9) ร้อยละ 5.5
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเล อาหารกระป๋อง เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ยานยนต์เครื่องแต่งกาย เบียร์ อิเล็กทรอนิกส์ โทรทัศน์สี เป็นต้น
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 12.8 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย เบียร์ Hard Disk Drive เป็นต้น
ดัชนีการส่งสินค้า
ดัชนีการส่งสินค้า ( Shipment Index ) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 175.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (154.0) ร้อยละ 13.9 แต่ปรับลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (183.0) ร้อยละ 4.1
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ อาหารทะเล อาหารกระป๋อง อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โทรทัศน์สี ดอกไม้ประดิษฐ์ เครื่องประดับเทียม เครื่องแต่งกาย เป็นต้น
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ดัชนีการส่งสินค้าปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 14.2 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าลดลง ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย เบียร์ Hard Disk Drive เป็นต้น
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ( Finished Goods Inventory Index ) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าคลาดแคลน ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 169.1 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (187.2) ร้อยละ 9.6 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (203.4) ร้อยละ 16.8
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ เบียร์ น้ำตาล เหล็ก การปั่นเส้นใยสิ่งทอ Hard Disk Drive เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ เบียร์ ยานยนต์ การปั่นเส้นใยสิ่งทอ โทรทัศน์สี ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 0.1 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ Hard Disk Drive โทรทัศน์สี ผลิตภัณฑ์ ปิโตรเลียม การปั่นเส้นใยสิ่งทอ สายไฟฟ้า เป็นต้น
อัตราการการใช้กำลังการผลิต
อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 58.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 53.9) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (ร้อยละ 62.7)
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive อาหารทะเล อาหารกระป๋อง การปั่นเส้นใยสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ยานยนต์ การปั่นเส้นใยสิ่งทอ เบียร์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องแต่งกาย เป็นต้น
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive การปั่นเส้นใยสิ่งทอ เหล็ก เป็นต้น
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยรวมเฉลี่ย มีค่า 74.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (72.0) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (77.8) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนีได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำและดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ทั้ง 3 ดัชนี ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ความคาดหวังของผู้บริโภคที่มีต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 การต่ออายุโครงการ 5 มาตรการจนสิ้นปี 2552 เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงลบอยู่ เช่น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมือง ปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมทั้งความกังวลต่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีค่า 67.3 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 (64.9) แต่ยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภควิตกกังวล
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีค่า 66.4 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 แต่ยังอยู่ที่ระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวการณ์จ้างงานโดยรวมยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีค่า 89.8 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 แต่ยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แม้ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตแต่ระดับความเชื่อมั่นยังคงสูงกว่าความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจและโอกาสการหางานทำ
จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีค่าเท่ากับ 46.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (43.6) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (41.1) โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ดัชนีโดยรวมยังคงมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ดี ผู้ประกอบการยังคงมองว่าภาวการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตยังมีแนวโน้มไม่ดีขึ้น สำหรับดัชนีที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การจ้างงานของบริษัท และการผลิตของบริษัท
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ดัชนีรวมปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยดัชนีที่ปรับตัวลดลง คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การลงทุนของบริษัท การจ้างงานของบริษัทและการผลิตของบริษัท
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index: TISI)
จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 91.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (79.4) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (80.3) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายน 2552 ดัชนีมีค่า 95.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2552 (88.0) เนื่องจากองค์ประกอบของดัชนีทุกตัวปรับตัวสูงขึ้น ทั้งยอดคำสั่งซื้อยอดขายรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ เพราะกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศสูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบลดลง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถทำการผลิตได้ตามปกติ ราคาน้ำมันขายปลีกซึ่งเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงและต้นทุนการขนส่งที่สำคัญลดลง นอกจากนี้ ยอดขายต่างประเทศสูงขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ ควรลดอุปสรรคด้านการดำเนินพิธีการของกรมศุลกากรและลดภาษีนำเข้าหรือชดเชยภาษีบางอย่าง เพื่อที่จะสามารถแข่งกับสินค้านำเข้าอย่างจีนได้ ให้รัฐสนับสนุนแรงงานให้รักบ้านเกิด เนื่องจากเมื่อมีการขยายการผลิตไปต่างจังหวัด มักจะเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ควรมีมาตรการและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของมาบตาพุด และควรมีการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน เป็นต้น
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี ดัชนีปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index: LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนกันยายน 2552 อยู่ที่ระดับ 119.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 จากเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 117.6 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง ณ ราคาคงที่ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดัชนีราคาส่วนกลับน้ำมันดิบ และมูลค่าการส่งออกณ ราคาคงที่
สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีค่าเฉลี่ย 118.2 ทรงตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 118.3
ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ
ค่าประมาณการเบื้องต้น ของดัชนีฟ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index: CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนกันยายน 2552 อยู่ที่ระดับ 117.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากเดือนสิงหาคม 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 114.7 ตามการเพิ่มขึ้นของเครื่องชี้วัด ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI)ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ มูลค่าการนำเข้า ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ
สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีค่าเฉลี่ย 116.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 113.7
การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค
ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีค่า 129.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (124.7) แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (133.2) ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและจักรยานยนต์ (ตารางที่ 5)
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนโดยรวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปี2551 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและจักรยานยนต์
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ พบว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวม มีค่า 158.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (149.6) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (179.5)
หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 3 ของปี2552 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551
การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551
ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ (ยังไม่มีข้อมูล ณ ขณะจัดทำรายงานฉบับนี้)
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่
ภาวะราคาสินค้า
จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเท่ากับ 105.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (104.5) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (107.4) การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอื่นๆ ที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่ม หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารกลุ่มอาหารสดและพลังงาน
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีค่าเท่ากับ 149.9 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (151.6) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (166.9) โดยราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 สำหรับราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมปรับตัวลดลงทั้งจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551
แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สามของปี 2552 (ข้อมูลเดือนสิงหาคม) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 39.29 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 38.79 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.73 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.475 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.21)
สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่สองของปี 2552 มีจำนวน 5.386 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 13.89 ของผู้มีงานทำทั้งหมด
การค้าต่างประเทศ
สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ขยายตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 โดยในไตรมาสที่ 3 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 77,422.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 41,094.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 36,328.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 19.39 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.18 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ดุลการค้าเกินดุล 4,765.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 17.70 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นลดลงร้อยละ 28.04
การส่งออกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามูลค่าการส่งออกทั้ง 3 เดือน (กรกฎาคม-กันยายน) มีแนวโน้มหดตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งในเดือนกันยายนมูลค่าการส่งออกยังติดลบน้อยที่สุดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 ด้วย โดยมีมูลค่าการส่งออก 14,904.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.53
- โครงสร้างการส่งออก
การส่งออกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 31,441.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 76.51) สินค้าเกษตรกรรม 4,278.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 10.41) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 2,888.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.03) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิง 2,485.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.05)
เมื่อเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่ามูลค่าการส่งออกของสินค้าทั้งหมดลดลง โดยสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 14.72 สินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 28.62 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ 10.15 และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 35.55 ส่วนสินค้าหมวดอื่นๆ นั้นไม่มีการส่งออกและยังคงอยู่ในระดับเดิม
ในช่วงเวลา 9 เดือนแรกของปี 2552 สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 11,337.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัญมณีและเครื่องประดับ 7,831 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 7,619.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯแผงวงจรไฟฟ้า 4,565.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้ำมันสำเร็จรูป 3,809.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ข้าว 3,730.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 3,603 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดพลาสติก 3,231.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เคมีภัณฑ์ 3,193.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และผลิตภัณฑ์ยางมีมูลค่าการส่งออก 3,165.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 52,085.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 47.65 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
- ตลาดส่งออก
การส่งออกไปยังตลาดหลักของไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 54.08 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกมูลค่าลดลงในทุกตลาด โดยมูลค่าการส่งออกในตลาดอาเซียนลดลงร้อยละ 21.66 ตลาดสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 24.57 ตลาดญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 24.91 และตลาดสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 19.22
- โครงสร้างการนำเข้า
การนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด โดยมีมูลค่าการนำเข้า 14,876.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 40.95) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุนโดยมีมูลค่า 9,489.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 26.12) สินค้าเชื้อเพลิง 7,050.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 19.41) สินค้าอุปโภคบริโภค 3,619.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.96) สินค้าหมวดยานพาหนะ 1,245.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.43) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ 47.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.13) ตามลำดับ
โดยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าทุกหมวดมีมูลค่านำเข้าลดลง โดยสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 35.38 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 35.24 สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งลดลงร้อยละ 14.64 สินค้าทุนลดลงร้อยละ 14.21 สินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 10.21 และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 1.83
- แหล่งนำเข้า
แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 52.17 ซึ่งสัดส่วนการนำเข้าของแหล่งนำเข้าสำคัญนั้นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 แต่เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าแล้วจะพบว่ามีมูลค่าลดลงทั้งหมด โดยมูลค่าการนำเข้าจากกลุ่มอาเซียนลดลงร้อยละ 18.28 กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 12.63 ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 22.75 และสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 24.60
แนวโน้มการส่งออกทั้ง ปี 2552
กระทรวงพาณิชย์คาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 (ตค.-ธค.) การส่งออกจะมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี และมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นบวกค่อนข้างสูง ซึ่งจะมีผลทำให้ทั้งปี2552 การส่งออกจะลดลงประมาณร้อยละ 13-15 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 154 — 151 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ปัจจัยที่สนับสนุนการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้าย ที่สำคัญ ได้แก่
1) ผลสำเร็จจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและ ญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวมากขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี2552 และคาดว่าจะมีผลทำให้การส่งออกสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปี
2) ผู้นำเข้าที่ลดการสั่งซื้อตั้งแต่ปลายปี 2551 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2552 อันเป็นผลมาจากความต้องการในตลาดโลกที่ลดลงอย่างรุนแรงและการมีสต็อกคงเหลือ เริ่มกลับมาสั่งซื้ออีกครั้งเพื่อทดแทนสต็อกที่ลดลงหรือหมดไปและเพื่อรองรับความต้องการบริโภคสินค้าเพื่อใช้ในช่วงปลายปีโดยเฉพาะ เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
3) ผู้ประกอบการไทยได้รับการยอมรับในด้านการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และคุณภาพในการให้บริการมากกว่าประเทศคู่แข่ง ทำให้ผู้ซื้อยังสนใจที่จะซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น
4) สินค้าจีนยังประสบปัญหาในเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน เป็นโอกาสของสินค้าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย
5) ความพยายามในการดำเนินมาตรการบรรเทา แก้ไขปัญหาสภาพคล่องและสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการและผู้ส่งออก ทั้งในเรื่อง การลดต้นทุน(ภาษีสรรพสามิต) การขยายวงเงินให้สินเชื่อและการค้ำประกันการส่งออก เป็นต้น
6) ฐานตัวเลขเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ปี 2551 ซึ่งค่อนข้างต่ำ
- ปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของการส่งออก ได้แก่
1) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าของตลาดส่งออกสำคัญยังมีความเปราะบางและมีความเสี่ยงที่อาจจะฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะฟื้นตัวในช่วงปลายปี
2) แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และยังมีความผันผวน อันเป็นผลมาจากหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณว่าการถดถอยทางเศรษฐกิจอาจจะถึงจุดต่ำสุด ทำให้มีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเข้ามาเก็งกำไรของกองทุนต่าง ๆ
3) ความไม่มีเสถียรภาพของค่าเงินบาท
4) ความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกไทย
5) ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของอุตสาหกรรมส่งออกที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการปลดแรงงานจำนวนมากในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เมื่อคำสั่งซื้อเริ่มกลับเข้ามา แต่ไม่สามารถเรียกแรงงานที่ปลดไปแล้วกลับเข้ามาได้ ทำให้ประสบปัญหาด้านการผลิตเพื่อการส่งออก
การลงทุนจากต่างประเทศ
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมซึ่งมีมูลค่ารวม 35,619.15 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 7.29 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 16,682.93 ล้านบาท และเดือนสิงหาคมมีมูลค่า 18,936.22 ล้านบาท เมื่อพิจารณาตลอดทั้ง 8 เดือนในปี 2552 พบว่าในเดือนสิงหาคมมีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดซึ่งใกล้ระดับ 20,000 ล้านบาท
ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 สาขาอุตสาหกรรมเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุดเป็นเงินลงทุน 20,918.79 ล้านบาท โดยหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์มีการลงทุนสุทธิมากที่สุดโดยมีมูลค่าเงินลงทุน 7,066.45 ล้านบาท รองลงมาคือหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งซึ่งมีเงินลงทุน 5,816.68 ล้านบาท และหมวดอื่นๆ 4,873.33 ล้านบาท
ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมคือประเทศญี่ปุ่นมีเงินลงทุนสุทธิ 7,427.31 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกาโดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 6,359.37 ล้านบาท และ 5,926.6 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 264 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.09 โดยมีเงินลงทุน 79,600 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.75 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยโครงการลงทุนประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 80 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 36,900 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 90 โครงการ เป็นเงินลงทุน 67,000 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 30,300 ล้านบาทรองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 25,900 ล้านบาท และเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 8,200 ล้านบาท
สำหรับแหล่งลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 พบว่านักลงทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกามีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 21,483 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศญี่ปุ่นจำนวน 56 โครงการ มีเงินลงทุน 10,366 ล้านบาท ประเทศเกาหลีใต้จำนวน 9 โครงการ เป็นเงินลงทุน 4,559 ล้านบาท และประเทศอินเดีย 7 โครงการ เป็นเงินลงทุน 3,001 ล้านบาท
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--