สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2552(ภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 2, 2009 14:20 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ไตรมาส 3 ปี 2552 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียมีความผันผวน โดยปรับตัวลดลงในช่วงต้นและปลายไตรมาส ส่วนในช่วงกลางไตรมาสปรับเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบ สาเหตุของการปรับลดลงเนื่องจาก มีปริมาณเนฟธาจำนวนมากจากยุโรป คูเวต และอินเดียไหลเข้าสู่ตลาดเอเซีย ส่วนราคาเอทิลีนโดยเฉลี่ยของตลาดเอเชียมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบและแนฟธา โดยมีปัจจัยหลัก คือ การเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องและอุปทานเอทิลีนในภูมิภาคมีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากความล่าช้าในการเปิดดำเนินกลางแครกเกอร์ใหม่ๆ ในตะวันออกกลางส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบสินค้า

สำหรับการซื้อขายเม็ดพลาสติกทั้ง PE และ PP ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาเอทิลีน ประกอบกับเกิดความล่าช้าในการส่งมอบสินค้าจากตะวันออกกลางสู่เอเซีย และการเลื่อนเปิดดำเนินการแครกเกอร์ใหม่ๆ ในประเทศจีน การเพิ่มขึ้นของราคาทำให้ผู้ซื้อชะลอการซื้อลง

การผลิต

ไตรมาส 3 ปี 2552 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีภายในประเทศ มีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงงาน HDPE ขนาด 250,000 ตัน/ปี ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 ปี 2552 เป็นเวลา 45 วัน และเลื่อนแผนการปิดปรับปรุงอีเทนแครกเกอร์ขนาด 460,000 ตัน/ปี จากปลายไตรมาส 3 ปี 2552 เป็นต้นไตรมาสแรกของปี 2553 สำหรับการผลิตในภูมิภาคเอเชีย หลายประเทศมีการขยายกำลังการผลิต ดังนี้

  • ประเทศอินเดีย อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการก่อสร้างหน่วยผลิต Polyethylene Compounding เพื่อผลิต High และ Medium Density (HDPE และ MDPE) โดยมีเป้าหมายเพื่อรองรับการขยายตัวของการผลิต MDPE Pipe สำหรับโครงการ Distribution Projects, HDPE Pipes สำหรับ Carrying Potable Water และ Sewage และ Coating Steel Pipes สำหรับทำท่อน้ำมันและท่อก๊าซ นอกจากนี้อินเดียและเกาหลีใต้ได้มีการลงนาม FTA โดยมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2553 ซึ่งส่งผลให้อัตราภาษีปรับลดลงอย่างมาก และยังเน้นการส่งเสริมการลงทุนและการแลกเปลี่ยนแรงงานทักษะ โดยทั้งสองประเทศคาดว่าใน 10 ปี ข้างหน้า คาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างกันเป็นเท่าตัว
  • ประเทศจีน เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิต Ethylbenzene แห่งใหม่ขนาด 100,000 ตัน/ปี ซึ่งถือว่าเป็น Single-Unit ขนาดใหญ่ที่สุดของจีน และมีการทดลองเดินเครื่องหน่วยผลิต PP แห่งใหม่ขนาด 200,000 ตัน/ปี ทำให้กำลังการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ตัน/ปี นอกจากนั้นมีโครงการก่อสร้างโรงงานผลิต PE Catalyst คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2554 โครงการร่วมลงทุนระหว่างจีนและซาอุดิอาระเบียสร้างคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีกำลังการผลิตรวม 3.2 ล้านตัน/ปี วงเงินลงทุน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศใช้ anti-dumping duties (ADDs) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมและลดการนำเข้า PVC จากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2552 ซึ่งจากข้อมูลของกรมศุลกากรจีนระบุว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2552 จีนมีการนำเข้า PVC จากทั้ง 4 ประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 63 ของปริมาณการนำเข้า PVC ทั้งหมดของจีน

  • ประเทศญี่ปุ่น อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างหน่วยผลิต High Severity Fluid Catalytic Cracker (HS-FCC) ขนาด 3,000 ล้านบาร์เรล/วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2554 โดยหน่วยผลิตดังกล่าวจะช่วยเพิ่มผลผลิตโพรพิลีนจากการแครก Heavy Oil ได้เฉลี่ยร้อยละ 20 และแก๊สโซลีนร้อยละ 35
  • ประเทศซาอุดิอาระเบีย มีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิต HDPE ขนาด 400,000 ตัน/ปี และหน่วยผลิต LLDPE ขนาด 400,000 ตัน/ปี ในช่วงปลายไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 และมีแผนที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์จากหน่วยผลิตดังกล่าวในช่วงต้นไตรมาสแรกของปี 2553 นอกจากนั้น มีแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D Center) คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในปี 2553 โดยแผนการดำเนินงานของศูนย์จะมุ่งเน้นไปที่ Water and Water Treatment Technologies และในอนาคตคาดว่าจะขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุม Oil and Gas, Processes Research and Development และ Infrastructure Materials

การตลาด

ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2552 ราคาจำหน่ายเม็ดพลาสติก (ราคาเฉลี่ย SE Asia CIF) ในเดือนกันยายน 2552 ของ LDPE, HDPE, และ PP อยู่ที่ระดับ 43.13, 42.46 และ 40.49 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ LDPE และ HDPE และ PP มีระดับราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่ระดับราคา 41.10, 41.03 และ 39.04 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

การนำเข้า

ไตรมาส 3 ปี 2552 การนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่า 3,194.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 100.43 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 52.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่านำเข้า 5,567.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.19 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 41.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่านำเข้า 21,281.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 23.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 ปิโตรเคมี                มูลค่านำเข้า (ล้านบาท)                            เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)
                 ปี 2551             ปี 2552                เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา   เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
                  Q3           Q2           Q3
 ขั้นต้น          6,658.85     1,593.93     3,194.77                100.43*                -52.02
 ขั้นกลาง        9,449.18     5,007.07     5,567.59                 11.19                 -41.08
 ขั้นปลาย       27,833.77    13,947.04    21,281.46                 52.59                 -23.54
ที่มา : ข้อมูลจากกรมศุลกากร

หมายเหตุ : * ในช่วงต้นปี 2552 ปริมาณการนำเข้าน้อยมาก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาวะถดถอยโครงการต่างๆ ได้ลดกำลังการผลิตลง รวมถึงมีการปิดกิจการในบางโครงการ แต่จากการที่ทั่วโลกมีแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตมีการนำเข้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากตะวันออกกลางและจีน ที่มีการเปิดดำเนินการแครกเกอร์ปิโตรเคมีใหม่ๆ ทำให้มีอุปทานส่วนเกินทะลักเข้าสู่ภูมิภาคเอเซียเพิ่มขึ้น

การส่งออก

ไตรมาส 3 ปี 2552 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 7,298.89 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.24 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 4.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 11,683.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.87 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 1.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 37,890.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.85 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 23.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 ปิโตรเคมี          มูลค่าส่งออก (ล้านบาท)                          เปลี่ยนแปลง (ร้อยละ)
               ปี 2551            ปี 2552           เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา      เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
                 Q3          Q2           Q3
 ขั้นต้น         7,681.10    7,868.76    7,298.89           -7.24                      -4.98
 ขั้นกลาง      11,877.79   11,036.22   11,683.70            5.87                      -1.63
 ขั้นปลาย      49,722.23   35,131.45   37,890.75            7.85                     -23.79
ที่มา : ข้อมูลจากกรมศุลกากร

แนวโน้ม

ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการขยายกำลังการผลิตของประเทศในแถบตะวันออกกลาง และจีน และจากการที่สภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ส่งผลให้อุปสงค์หดตัวลงตาม ดังนั้น ผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ การรักษากลุ่มลูกค้าเก่าและการรุกหาตลาดใหม่รวมถึงการลงทุนดำเนินธุรกิจที่ครบวงจร จะช่วยให้สามารถลดความเสี่ยงลงได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ