สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2552(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 3, 2009 15:34 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิตในประเทศ

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีปริมาณ 7,350.6 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 14.9 และ 16.2 ตามลำดับ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 มีปริมาณการผลิต 20,939.5 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.7 โดยประเภทยาที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาก คือ ยาน้ำ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาลและร้านขายยาเข้ามามาก ทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และเป็นการรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองไม่ให้ลดลง นอกจากนี้ในส่วนยาผง และยาเม็ด มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยยาผงเริ่มมีคำสั่งซื้อกลับมา หลังจากผู้สั่งซื้อชะลอการสั่งซื้อในปีก่อน ประกอบกับมียอดคำสั่งซื้อ ค้างจากไตรมาสก่อน ส่วนยาเม็ด นอกจากการผลิตผลิตภัณฑ์เดิม ยังเพิ่มการผลิตยาที่ใช้เฉพาะทาง เช่น ยาลดคลอเลสเตอรอล และยาเกี่ยวกับโรคหัวใจ ซึ่งเพิ่งผ่านการขึ้นทะเบียน ส่งผลให้การผลิตเพิ่มขึ้น

2. การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีปริมาณ 7,091.2 ตันเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 12.6 และ 18 ตามลำดับ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 มีปริมาณการจำหน่าย 19,877.5 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.3 โดยยาที่มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาก ตามความต้องการของตลาด คือ ยาน้ำ และยาเม็ด อย่างไรก็ตามยาน้ำเป็นประเภทสินค้าที่มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่มากกว่า เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตต่ำ จึงจำหน่ายได้ง่ายกว่ายาชนิดอื่น

3. การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีมูลค่า 9,829.1 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 11.3 และ 8.2 ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และไอร์แลนด์ ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 4,276.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 43.5 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 มูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคมีมูลค่า 28,161.4 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 12,284.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 43.6 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

ประเภทของยาที่นำเข้าส่วนใหญ่มีสิทธิบัตร และมีราคาแพง ซึ่งนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลก นอกจากนี้การนำเข้ายาสามัญ ที่เป็นคู่แข่งกับผู้ผลิตในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า แม้มูลค่าการนำเข้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทำให้การสั่งซื้อยาราคาแพงลดลง ทั้งโรงพยาบาลและร้านขายยา ประกอบกับโรงพยาบาลภาครัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้นเพื่อควบคุมการใช้ยาให้มีความเหมาะสมและลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง

4. การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีมูลค่า 1,404.9 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.6 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.5 โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และฮ่องกง ซึ่งมีมูลค่าการ ส่งออกรวม 963.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 68.6 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 4,076.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1 ตลาดส่งออกสำคัญในช่วง 9 เดือนแรกของปี ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยการส่งออกไปประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 2,809.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 68.9 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

ในช่วงที่ผ่านมาการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ได้สร้างความไม่แน่นอนให้กับผู้แทนจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการชะลอการนำเข้าสินค้า เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดการต่าง ๆ ลง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้มูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับปีก่อนลดลง แต่ในขณะเดียวกันภาวะดังกล่าวกลับส่งผลให้ผู้บริโภคในตลาดโลกหันมาซื้อยาสามัญที่ผลิตเลียนแบบยาต้นตำรับมากขึ้น เพราะมีราคาถูกกว่า ทำให้การส่งออกยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในภูมิภาคอาเซียนของไทยในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในอนาคตด้วย

5. สรุปและแนวโน้ม

ปริมาณการผลิตยา และการจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาลและร้านขายยา รวมทั้งผู้แทนจำหน่ายในต่างประเทศ ทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และเป็นการรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองไม่ให้ลดลง รวมทั้งมีการเพิ่มการผลิตยาที่เพิ่งผ่านการขึ้นทะเบียนด้วย โดยประเภทของยาที่เป็นที่ต้องการของตลาด คือ ยาน้ำ และยาเม็ด ด้านการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการนำเข้ายาสิทธิบัตร และยาสามัญ แต่เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทำให้การสั่งซื้อยาราคาแพงลดลง ทั้งโรงพยาบาลและร้านขายยานอกจากนี้โรงพยาบาลภาครัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น เพื่อควบคุมการใช้ยาให้มีความเหมาะสมและลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สำหรับการส่งออกมีมูลค่าลดลง ซึ่งภาวะเศรษฐกิจโลกได้สร้างความไม่แน่นอนให้กับผู้แทนจำหน่ายในต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการชะลอการนำเข้าสินค้า เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดการต่าง ๆ ลง

สำหรับไตรมาสสุดท้าย ของปี 2552 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยา มีแนวโน้มทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากยาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจมากนักเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น สำหรับการนำเข้าและส่งออกคาดว่า จะชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากผู้ผลิต รวมถึงผู้สั่งซื้อ จะบริหารสินค้าคงคลังไม่ให้เหลือในปริมาณที่สูงมากในช่วงปลายปี

ตารางที่ 3 มูลค่าการนำเข้า — ส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค*

มูลค่า (ล้านบาท)

                                         ไตรมาส                 2551(มค.-กย.)    2552(มค.-กย.)
                               3/2551    2/2552    3/2552
 มูลค่าการนำเข้า                 8,830.2   9,088.0   9,829.1          24,920.8         28,161.4
 %  เทียบกับไตรมาสก่อน                                   8.2
 %  เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                           11.3                               13.0
 มูลค่าการส่งออก                 1,428.4   1,384.8   1,404.9           4,035.6          4,076.5
 %  เทียบกับไตรมาสก่อน                                   1.5
 %  เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน                           -1.6                                1.0
ที่มา : กรมศุลกากร
หมายเหตุ : รวบรวมจาก HS 3003 และ 3004

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ