สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2552(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 4, 2009 14:45 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.54 และ 13.38 ตามลำดับ.สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2552 การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ลดลงร้อยละ 19.73 เนื่องจากความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นของตลาดในประเทศและตลาดโลกลดลง ตามยอดการจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวนอกจากนี้การที่ความต้องการใช้ยางในตลาดโลกชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคายางมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศผู้ผลิตยางสำคัญของโลกหันมาร่วมมือกันลดปริมาณการผลิตและการส่งออกยางเพื่อรักษาระดับราคายางในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นได้กระเตื้องขึ้นในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจีนทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น จึงนำเข้ายางแปรรูปขั้นต้นจากไทยเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายหลังที่จีนได้มีการปรับลดภาษีรถยนต์บางรุ่นลง

การผลิตผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 แบ่งเป็นการผลิตของกลุ่มยางนอกรถยนต์ 6.13 ล้านเส้น กลุ่มยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน 10.81 ล้านเส้น และกลุ่มยางใน 16.33 ล้านเส้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.24 16.91 และ 11.65 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน กลุ่มยางนอกรถยนต์ กลุ่มยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 5.14 และ 10.38 ตามลำดับ แต่กลุ่มยางในมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.30 ส่วนผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เช่น ถุงมือยาง ถุงมือตรวจโรค เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.02 และ11.76 ตามลำดับ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2552 การผลิตของกลุ่มยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีปริมาณการผลิตลดลง 23.28 และ 15.00 ตามลำดับ แต่กลุ่มยางใน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก มีการผลิตเพิ่มขึ้นพียง ร้อยละ 0.07 ในส่วนของถุงมือยาง ถุงมือตรวจโรค เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.71 เมื่อพิจารณาในภาพรวมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในกลุ่มยางนอกรถยนต์และยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ที่ลดลงนี้ลดลงตามยอดการจำหน่ายของอุตสาหกรรมรถยนต์ และรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา อย่างไรก็ตาม การผลิตผลิตภัณฑ์ยางก็ได้เริ่มกระเตื้องขึ้นในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะฟื้นตัว สำหรับในส่วนของถุงมือยางไม่มีผลกระทบ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะซบเซา เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.27 และ 17.57 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ กลุ่มยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.15 17.78 และ 9.04 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวของปีก่อนการจำหน่ายยางนอกรถยนต์ในประเทศลดลง ร้อยละ 8.29 แต่การจำหน่ายยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และกลุ่มยางใน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.34 และ 7.58 ตามลำดับ สำหรับในการจำหน่ายถุงมือยางในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.47 และ 60.71 ตามลำดับ

ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2552 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.23 เท่านั้น สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ กลุ่มยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ลดลงร้อยละ 23.49 และ 6.46 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยางในยังทรงตัว เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.68 ในขณะที่ถุงยางและถุงมือตรวจโรคเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.48

การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศที่ยังไม่มีการขยายตัวเท่าที่ควร และยอดการจำหน่ายของกลุ่มยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยานที่ลดลงนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ลดลง ทำให้ยอดการจำหน่ายยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ลดลงตามไปด้วย

2.2 ตลาดส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ มีมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 จำนวน 1,021.93 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 36.79 แต่เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกรวมลดลง ร้อยละ 52.54 และในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2552 มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้น มีจำนวน 2,724.78 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 50.43 สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญยังคงเป็นประเทศจีนมาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของหลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ซึ่งมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 มีจำนวน 1,249.70 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 25.24 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 2.52 และมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2552 คิดเป็นมูลค่า 3,165.33 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 9.41 โดยลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ยกเว้น ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ซึ่งยังทรงตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์

เมื่อพิจารณาในภาพรวม มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยาง ที่ลดลงนี้เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราของโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าคงทน โดยเฉพาะรถยนต์รวมถึงการเปลี่ยนยางทดแทนออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางรถยนต์ ที่เป็นผู้ใช้ยางพาราหลักถึง ร้อยละ 70 นอกจากนี้การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นที่ลดลงนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้ส่งออกยางไทยหันไปส่งออกยางคอมปาวด์หรือยางผสม แทนยางแผ่น ยางแท่ง เนื่องจากจีนลดภาษีผลิตภัณฑ์ยางลงเหลือ ร้อยละ 0 ตั้งแต่ต้นปี 2552 ในขณะที่การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นยังคงเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 เท่าเดิม และอีกปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลต่อมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทยคือ การปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้ายางรถยนต์นั่ง และรถบรรทุกขนาดเล็กทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา จากประเทศจีนเป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 ปี ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2552 โดยจะมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้ายางรถยนต์จากเดิมร้อยละ 4 เพิ่มเป็น ร้อยละ 35 ในปีแรก ร้อยละ 30 ในปีที่ 2 และร้อยละ 25 ในปีที่ 3 ซึ่งจากการที่สหรัฐอเมริกานำเข้ายางรถยนต์จากจีนลดลง อาจส่งผลต่อประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศที่ส่งออกยางแปรรูปขึ้นต้นไปยังอุตสาหกรรมยางรถยนต์ของจีน แต่ในขณะเดียวกันอาจกลายเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกยางรถยนต์ของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา

สำหรับมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมถุงมือยาง ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2552 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค อีกทั้งการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกตื่นตัวมากขึ้นต่อการป้องกันโรคติดต่อ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย

3. ตลาดนำเข้า

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางและเศษยาง และวัสดุทำจากยางยาง มีมูลค่า 317.98 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อย ละ 43.71 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 20.01 ประเภทสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางวัลแคไนซ์ ยางรถยนต์ ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง โดยยางสังเคราะห์ ยางวัลแคไนซ์ ยางรถยนต์ ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การนำเข้าเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 69.54 22.59 16.24 และ 70.32 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 28.59 18.37 8.54 และ0.41 ตามลำดับ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเยอรมัน

ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2552 มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางและเศษยาง วัสดุทำจากยาง มีจำนวน 755.30 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 31.80 โดยลดลงทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ยาง ยางและเศษยาง และวัสดุทำจากยาง คิดเป็นร้อยละ 18.84 38.20 และ34.13 ตามลำดับ

3. สรุปและแนวโน้ม

ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2552 จากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นของตลาดในประเทศและตลาดโลกลดลง ตามยอดการจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลง นอกจากนี้ ความต้องการใช้ยางในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคายางมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศผู้ผลิตยางสำคัญของโลกหันมาร่วมมือกันลดปริมาณการผลิตและการส่งออกยาง เพื่อรักษาระดับราคายางในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นได้กระเตื้องขึ้นในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจีนทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น จึงนำเข้ายางแปรรูปขั้นต้นจากไทยเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายหลังที่จีนได้มีการปรับลดภาษีรถยนต์บางรุ่นลง

สำหรับผลิตภัณฑ์ยางเมื่อพิจารณาในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2552 การผลิตผลิตภัณฑ์ยางในกลุ่มยางนอกรถยนต์และยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ลดลง ตามยอดการจำหน่ายของอุตสาหกรรมรถยนต์ และรถรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา อย่างไรก็ตามการผลิตผลิตภัณฑ์ก็ได้เริ่มกระเตื้องขึ้นในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะฟื้นตัว สำหรับในส่วนของถุงมือยาง ไม่มีผลกระทบ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะซบเซา เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ภาวะอุตสาหกรรมยางแปรรูปขั้นต้น และผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะมีแนวโน้มขยายตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัว ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบในแง่วัตถุดิบ เป็นประเทศที่ผลิตยางพารามากได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ทำให้ต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนสนใจที่จะร่วมลงทุนในธุรกิจยางรถยนต์ในประเทศไทย โดยให้ไทยเป็นฐานการผลิต ผลผลิตส่วนหนึ่งเพื่อส่งออกจำหน่ายในตลาดโลกและอีกส่วนหนึ่งเพื่อส่งกลับไปใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศของตนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนซึ่งยังเป็นอุตสาหกรรมที่สดใสและขยายตัวอย่างต่อเนื่องสวนกระแสภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอย เนื่องจากจีนมีการพัฒนาการก่อสร้างทางหลวงและอุตสาหกรรมขนส่งรวมทั้งรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นและจูงใจให้ซื้อรถยนต์ ทำให้ความต้องการรถยนต์สูง ซึ่งผลักดันให้เกิดความต้องการยางรถยนต์ หากโครงการเหล่านี้เข้ามาลงทุนจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราของไทย อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทยในอนาคต อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลต่อมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทยคือ การปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้ายางรถยนต์นั่ง และรถบรรทุกขนาดเล็กทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา จากประเทศจีนเป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 ปี ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2552 โดยจะมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้ายางรถยนต์จากเดิมร้อยละ 4 เพิ่มเป็น ร้อยละ 35 ในปีแรก ร้อยละ 30 ในปีที่ 2 และร้อยละ 25 ในปีที่ 3 ซึ่งจากการที่สหรัฐอเมริกานำเข้ายางรถยนต์จากจีนลดลง อาจส่งผลต่อประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศที่ส่งออกยางแปรรูปขึ้นต้นไปยังอุตสาหกรรมยางรถยนต์ของจีน แต่ในขณะเดียวกันอาจกลายเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกยางรถยนต์ของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดส่งออกยางรถยนต์ที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะในปีแรกที่มาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกามีผลบังคับใช้ (ตุลาคม 2552 - กันยายน 2553) แต่ผลดังกล่าวจะค่อยๆ ลดลงในปีที่ 2 และ 3 เมื่ออัตราภาษีปรับลดลงมาเป็นร้อยละ 30 และ 25 ตามลำดับ แต่การที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้น้อยลง อาจทำให้มีการผลักสินค้าไปสู่ตลาดอื่นๆมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นตลาดส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เน้นข้อได้เปรียบด้านราคามากกว่าคุณภาพ

สำหรับภาวะอุตสาหกรรมถุงมือยางในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 คาดว่าจะขยายตัวได้ดีจากความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ