สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) พ.ศ. 2552(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 4, 2009 15:12 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มธัญพืชและแป้ง ประมง และอาหารสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 3.9 และ 3.7 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) เป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าโดยเฉพาะ จีน ที่เพิ่มการสั่งซื้อในผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งนี้หากพิจารณารวมการผลิตน้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 24.2 เนื่องจากเป็นช่วงปิดหีบการผลิต สำหรับภาวะการผลิตน้ำตาลทรายในช่วง 9 เดือนของปี 2552 เมื่อเทียบกับปี 2551 (ม.ค.-ก.ย.) พบว่า ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 4.0 ตามการลดลงของผลผลิตอ้อย

  • ภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญในช่วงไตรมาสที่ 3 สรุปได้ดังนี้
  • กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและร้อยละ 19.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประเทศผู้ผลิตธัญพืชสำคัญ เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ราคาในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับเกษตรกรไทยกำลังประสบปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดในพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง ทำให้การคาดการณ์ผลผลิตลดลง ส่งผลดีต่อโครงการรับจำนำของรัฐบาลที่ผ่านมาซึ่งกำลังทะยอยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังได้มูลค่าเพิ่มขึ้น
  • กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด และความต้องการกุ้งแปรรูป และกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ในตลาดโลกเพิ่มขึ้น จากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศนำเข้าและสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกการเรียกเก็บภาษีทุ่มตลาด
  • กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไก่ต้มสุกแปรรูปไปยังตลาด EU เต็มโควตาแล้ว ส่วนตลาดญี่ปุ่น เริ่มกลับมานำเข้าจากจีน หลังจากที่ทางการจีนได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสารตกค้างและความปลอดภัยในสินค้าอาหาร ทำให้ญี่ปุ่นชะลอการนำเข้าสินค้าจากไทยที่มีราคาสูงกว่าส่งผลให้การผลิตชะลอตัวลง
  • กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 32.0 เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบ เช่น สับปะรด ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน ลดลง (นอกฤดูกาลผลิตหลัก) แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 14.9 เช่นกัน เป็นผลจากการส่งออกที่ชะลอตัวจากปัญหาเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทำให้การสั่งซื้อชะลอตัว ประกอบกับมีการคาดการณ์ราคาผลผลิตในฤดูกาลใหม่ที่อาจปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการคาดการณ์เกี่ยวกับสต็อกสินค้าของหลายประเทศที่มีอยู่ค่อนข้างมาก
  • การผลิตสินค้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบและบริโภคในประเทศ มีการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำมันพืช ลดลงร้อยละ 2.0 และ 14.2 ตามลำดับ เป็นผลจากราคาน้ำมันพืชในประเทศยังไม่ปรับลดลง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการบริโภคลง สำหรับผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 และร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากราคาน้ำนมดิบได้ปรับตัวลดลง และกระทรวงพาณิชย์ประกาศชดเชยราคานมให้กับผู้ประกอบการ ในส่วนของอาหารสัตว์ มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากความต้องการในภาคประมงที่เพิ่มขึ้น

สรุปภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในช่วง 9 เดือนของปี 2552 มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกทำให้ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมรวมและอาหาร ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 แม้ว่าระดับราคาสินค้าอาหารโดยภาพรวมจะปรับตัวสูงสุดในช่วงกลางปี 2551และลดต่ำลงจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามภาครัฐของประเทศต่างๆ ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายระดับ เช่น การลดอัตราภาษีสำหรับการซื้อสินค้าต่างๆ การช่วยเหลือประชาชนโดยเพิ่มสวัสดิการค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภค ทำให้สินค้าอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวันได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยอุตสาหกรรมอาหารที่ผลิตลดลงในช่วง 9 เดือนของปี 2552 คือ ผักผลไม้ ลดลงร้อยละ 17.1 น้ำมันพืช ร้อยละ 14.7 น้ำตาล ร้อยละ 4 และอาหารสัตว์ ร้อยละ 2.6

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลได้ประกาศมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน 6 มาตรการ ประกอบกับระดับราคาน้ำมันได้ปรับตัวขึ้นลงในกรอบแคบๆ ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าบางรายการได้ปรับตัวลดลง ทำให้การบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และส่งผลให้ภาพรวมการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมอาหารในไตรมาสที่ 3 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อนในกลุ่มธัญพืชและแป้ง ประมง และผลิตภัณฑ์นมหากเปรียบเทียบปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศช่วง 9 เดือนของปี 2551 และ 2552 พบว่า ภาพรวมการจำหน่ายในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาล) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของการจำหน่ายธัญพืชและแป้ง ประมง ผลิตภัณฑ์นม และปศุสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 10.3 7.3 และ 5.0 ตามลำดับ แต่หากพิจารณากลุ่มอื่นๆ พบว่า มีปริมาณการจำหน่ายลดลงเล็กน้อย เช่น ผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ อาหารสัตว์ และน้ำมันพืช ลดลงร้อยละ 3.2 3.0 และ 0.7 ตามลำดับ

2.2 ตลาดต่างประเทศ

1) การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2552 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 5,469.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 185,478.7 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 7.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 4.2 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าเริ่มฟื้นตัว แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3-4) ลดลงร้อยละ 12.5 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 11.1 ในรูปของเงินบาท โดยพบว่า ภาวะการส่งออกในรูปของมูลค่ามีการหดตัวในเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ทั้งในรูปเงินบาทและดอลลาร์ฯ เช่น กลุ่มข้าวและธัญพืช กลุ่มอาหารทะเล กลุ่มผักผลไม้ และกลุ่มปศุสัตว์ เนื่องจากระดับราคาสินค้าอาหารได้ปรับตัวลดลงจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผลักดันให้ราคาสินค้า

ในตลาดโลกลดลง ประกอบกับค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้การส่งออกอาหารในภาพรวมลดลงนอกจากนี้หากเปรียบเทียบในช่วง 9 เดือนของปี 2551 และ 2552 จะเห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมมีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 13.6 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 8.5 ในรูปของเงินบาท สำหรับการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเล มีมูลค่าการส่งออก 1,723.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 58,321.8 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 14.2 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งอาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็ง อาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแปรรูปและหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกลดลงร้อยละ 5.9 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 4.5 ในรูปเงินบาท สำหรับมูลค่าการส่งออกโดยเปรียบเทียบช่วง 9 เดือนของปี 2551และปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 4,450.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 153,181.7 ล้านบาท ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 7.3 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 2.0 ในรูปเงินบาท ซึ่งหากพิจารณาการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปริมาณและมูลค่าส่งออกในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและปีก่อน เนื่องจากได้รับผลดีจากข่าวที่ไทยชนะคดีฟ้องร้องภาษีทุ่มตลาดและการเรียกเก็บค่าพันธบัตรประกันการนำเข้ากุ้งของสหรัฐฯ และจะต้องมีการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นย้อนหลัง ส่วนปลาทูน่ากระป๋อง ส่งออกได้ลดลงทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่าในรูปดอลลาร์ฯ หรือเงินบาท โดยเฉพาะตลาดหลักเดิมอย่างสหรัฐฯ หดตัวลดลง จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 615.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 20,820.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในรูปดอลลาร์ฯ แต่ลดลงร้อยละ 2.7 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบโดยเฉพาะสับปะรดลดลง และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 14.9 ในรูปเงินบาท เป็นผลจากการที่ประเทศคู่แข่งประสบภัยธรรมชาติทำให้ปริมาณการผลิตและการส่งออกเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในส่วนของผักกระป๋องและแปรรูปที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง สามารถขยายตลาดส่งออกได้ลดลง จากความต้องการที่ลดลงและราคาส่งออกที่ชะลอตัวลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกหดตัวลง นอกจากนี้หากเปรียบเทียบในช่วง 9 เดือนของปี 2551 และ 2552 พบว่า มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ในภาพรวมลดลงร้อยละ 3.8 ในรูปดอลลาร์ฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ในรูปเงินบาท
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 425.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 14,845.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 16 ในรูปดอลลาร์ฯ และในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 13.4 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 11.3 ในรูปเงินบาท แม้ว่าความต้องการบริโภคจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ ไก่แปรรูป จากการที่ประเทศญี่ปุ่นนำเข้าไก่แปรรูปจากไทยทดแทนจีน แต่เริ่มมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประเทศจีนหันมาปรับปรุงคุณภาพและเน้นความปลอดภัยในอาหารมากขึ้น และสหภาพยุโรปได้กำหนดโควตาในการนำเข้า ซึ่งประเทศไทยใช้โควตาครบแล้ว ประกอบกับระดับราคาที่ปรับตัวลดลง ทำให้มูลค่าส่งออกชะลอตัวลง นอกจากนี้หากพิจารณาเปรียบเทียบช่วง 9 เดือนของปี 2551 และ 2552 มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 2.6 ในรูปดอลลาร์ฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ในรูปเงินบาท
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 1,903.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 64,376.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 2.1 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น โดยผู้ส่งออกไทยเริ่มกลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นหลังจากประเทศผู้นำเข้าคาดการณ์ว่าสต็อกมันสำปะหลังของไทยจะมีมาก และต้องทำการระบายส่งออกประกอบกับประเทศผู้ส่งออกเกิดปัญหาภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ความต้องการยิ่งเพิ่มขึ้น และราคาสูงขึ้นตามและหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ขยายตัวลดลงร้อยละ 21.1 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 19.8 ในรูปเงินบาท โดยเป็นการส่งออกข้าวลดลงกว่าร้อยละ 20 เนื่องจากระดับราคาได้ปรับลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้หากเปรียบเทียบในช่วง 9 เดือนของปี 2551 และ 2552 มูลค่าการส่งออกหดตัวลดลงร้อยละ 24.4 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 19.9 ในรูปเงินบาท
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 488.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 16,527.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.0 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 8.0 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นมาก จากการที่ประเทศผู้ผลิตอย่างอินเดียประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและส่งออกลดลง ส่งผลต่อสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกลดลง แต่ประเทศผู้นำเข้ายังคงชะลอการนำเข้า และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 3.5 ในรูปเงินบาท นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบในช่วง 9 เดือนของปี 2551 และ 2552 พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 18.9 ในรูปเงินบาทเช่นกัน
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 312.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ10,587.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.2 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 9.1 ในรูปเงินบาทจากไตรมาสก่อน และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 36.3 ในรูปดอลลาร์ฯ และร้อยละ 35.3 ในรูปเงินบาท นอกจากนี้หากเปรียบเทียบในช่วง 9 เดือนของปี 2551 และ 2552 มูลค่าการส่งออกในภาพรวมของกลุ่มลดลงร้อยละ 26.9 ในรูปดอลลาร์ และร้อยละ 22.4 ในรูปเงินบาท โดยเป็นผลจากการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าประเภทไขมันพืชและสัตว์ และนมและผลิตภัณฑ์นม

2) การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2552 มีมูลค่ารวม 1,982.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 62,086.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.4 ในรูปดอลลาร์ฯ และลดลงร้อยละ 13.6 ในรูปเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมลดลงร้อยละ 14.7 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 17.2 ในรูปเงินบาท (ตารางที่ 5) และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมลดลงร้อยละ 12.2 ในรูปดอลลาร์ หรือร้อยละ 10.4 ในรูปเงินบาท จากการนำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง และเมล็ดและกากพืชน้ำมันลดลงทั้งในรูปดอลลาร์ฯ และเงินบาท ตามปริมาณความต้องการอาหารสัตว์ที่ชะลอตัวลง

หากเปรียบเทียบในช่วง 9 เดือนของปี 2551 และ 2552 พบว่า มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารโดยรวมลดลงร้อยละ 18.1 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 13.3 ในรูปเงินบาท ซึ่งเป็นการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมลดลงมากที่สุด ร้อยละ 54.9 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 52.1 ในรูปเงินบาท รองลงมา คือ ปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 29.2 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 25.3 ในรูปเงินบาท เมล็ดพืชน้ำมันร้อยละ 28.5 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 24.2 ในรูปเงินบาท และกากพืชน้ำมัน ร้อยละ 6.8 ในรูปดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 1.4 ในรูปเงินบาท

3. นโยบายของภาครัฐ

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2552 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและระดับราคาลดลง รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาปัจจัยการผลิต ได้แก่

3.1 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 และวันที่ 21 กรกฎาคม 2552 เห็นชอบในหลักการแนวทางการประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2552/53 และมาตรการข้าว ปี 2552/53 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยมีแนวทางการดำเนินการ คือ ประกาศราคาประกันขั้นต่ำ ที่คำนวณจากต้นทุน ค่าขนส่ง บวกค่าตอบแทนให้เกษตรกร และให้ ธ.ก.ส. จัดทำสัญญาประกันราคากับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการที่ได้ลงทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไว้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาประกัน หากราคาขายในตลาดต่ำกว่าราคาประกันตามสัญญา เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างของราคาประกันกับราคาตลาดอ้างอิง เพื่อเป็นการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรทั้งสองสินค้า

3.2 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 เห็นชอบการที่นิติบุคคลขออนุมัติชดเชยราคาน้ำนมดิบ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยให้ อ.ส.ค. เบิกจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำนมดิบแก่เกษตรกร และนิติบุคคล รวมทั้งให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณากำหนดขอบเขตและคุณสมบัติของเกษตรกรที่เป็นนิติบุคคล โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการประกอบกิจการ ความเหมาะสมทั้งในเรื่องฐานะการเงินความรุนแรงของผลกระทบจากปัญหาน้ำนมล้นตลาด ภาระงบประมาณ และความเป็นธรรมต่อนิติบุคคลอื่น

3.3 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2552 เห็นชอบในหลักการให้ขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาล จำนวน 5 โรงงาน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยให้กระทรวงฯ จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสนอสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศของกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และส่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับความเห็นของกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการขอขยายกำลังการผลิตจะต้องมีปริมาณอ้อยเพียงพอ เพื่อให้การใช้เครื่องจักรกลมีประสิทธิภาพสูงสุด

4. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2552 จัดอยู่ในช่วงขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 2 จากปริมาณคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ที่นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ขณะที่สหรัฐอเมริกา ที่เป็นตลาดหลักของสินค้าอาหารของไทย ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ระดับที่เพิ่มจะไม่สูงมากนัก แต่ทำให้การผลิตและการส่งออกสินค้าในกลุ่มประมงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง ที่ราคาปรับตัวลดลงจากการยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด นอกจากนี้สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างหนึ่ง มีการผลิตและจำหน่ายลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จึงเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังปรับฟื้นตัวดีขึ้นและผ่านจุดวิกฤตแล้ว อย่างไรก็ดียังมีสินค้าที่มีการผลิตปรับลดลง คือ ไก่และปศุสัตว์ เนื่องจากความต้องการจากต่างประเทศชะลอตัวลงจากสหภาพยุโรปนำเข้าในปริมาณที่เต็มโควตาแล้ว และญี่ปุ่นเริ่มนำเข้าไก่จากจีนจากการที่จีนเร่งรัดแก้ปัญหาความปลอดภัยของอาหารได้ แต่หากพิจารณาในช่วง 9 เดือนของปี 2552 จัดอยู่ในเกณฑ์แย่ลงจากปีก่อน เนื่องจากเมื่อปี 2551 ได้รับผลดีจากราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วงวิกฤตการณ์อาหารโลก ทำให้ปริมาณและมูลค่าการผลิตและส่งออกที่นำมาใช้เป็นฐานเปรียบเทียบกับปี2552 อยู่ในระดับสูง

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 คาดว่าจะมีทิศทางการผลิต การจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคที่ดีขึ้น ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น และการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีความผันผวนลดลง อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบ คือ ความรุนแรงของการระบาดของโรคใหม่ๆ ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ การก่อการร้ายในหลายประเทศ และมาตรการกีดกันการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต เช่น การประกาศมาตรการเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารของยุโรป มาตรการบังคับปิดฉลากเพิ่มเติมของหลายประเทศ และการประกาศเกณฑ์ขั้นต่ำของสารตกค้างในอาหารที่เข้มงวดมากขึ้นในหลายสินค้าของจีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ อาจทำให้โอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทย กระทำได้ยากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ