ดัชนีอุตฯ ต.ค.- 0.5% กำลังการผลิตพุ่ง 61%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2009 11:38 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สศอ.เผยดัชนีอุตฯ ต.ค. ติดลบเล็กน้อย อุตฯหลักมีสัญญาณฟื้นชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่ม Hard disk drive-เหล็ก-เม็ดพลาสติก ยอดผลิต และจำหน่ายคึกคัก ขณะที่การผลิตรถยนต์ติดลบน้อยลงเรื่อยๆ ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับ 61%

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(ดัชนีอุตฯ) เดือนตุลาคม ปี 2552 ติดลบ 0.5% เมี่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นการปรับตัวในระยะสั้นทางธุรกิจของผู้ประกอบการ หลังจากเมื่อเดือนที่ผ่านมา ดัชนีอุตฯปรับตัวเป็นบวก 1% เชื่อว่าช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ ดัชนีอุตฯบวกได้อย่างแน่นอน เนื่องจากมีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มี เสถียรภาพมากขึ้น จากมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจของทั่วโลกเริ่มมีผล ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจกลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ส่งผลให้ภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมไทยฟื้นตัวตามไปด้วย อุตสาหกรรมหลักโดยเฉพาะการผลิต Hard Disk Drive การผลิตเหล็ก และเม็ด พลาสติก ยอดผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างคึกคัก ขณะที่การผลิตยานยนต์เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยยอดผลิตและจำหน่ายติดลบน้อยลง ส่งผลให้อัตรา การใช้กำลังการผลิตโดยรวมอยู่ที่ 61%

นางสุทธินีย์ กล่าวว่า การผลิต Hard disk drive เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.6% และ 6.5% เนื่องจากเมื่อปีก่อนเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่แทบจะปรับตัวไม่ทัน จึงส่งผลต่อภาวะการจ้าง งานที่ทำให้หลายแห่งมีการปรับลดพนักงานลงอย่างมาก แต่สำหรับปีนี้ทิศทางการฟื้นตัวกลับเข้ามาแล้วผู้ประกอบการเริ่มมีคำสั่งซื้อล่วงหน้ากลับเข้ามา แล้ว ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และไตรมาสสุดท้ายของทุกปีจะเป็นช่วงการผลิตและส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้เป็นไปอย่างคึกคัก คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญ ส่งให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยฟื้นตัวอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายโดยรวมเพิ่มขึ้น 66.8% และ 42.4% ตามลำดับ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นต่างๆ จากภาครัฐมีความชัดเจน โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ได้มีการเปิดประมูล และมีคู่สัญญากับภาครัฐเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะเริ่มลงมือก่อสร้างภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งปัจจัยจากภาคธุรกิจก่อสร้างเริ่มฟื้นตัวจึงมีความต้องการบริโภคเหล็ก มากขึ้น ขณะที่ราคาเหล็กโลกปีนี้มีเสถียรภาพมากขึ้น และทิศทางการจำหน่ายมีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน ผู้ผลิตจึงมีความมั่นใจผลิตสินค้าออกมาไว้ในสต๊อก เพื่อรองรับความต้องการอย่างเพียงพอ

การผลิตเม็ดพลาสติก เมื่อเทียบกับเดือนเดียวของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น 15.9% และ 12.2% เนื่องจากช่วงเดียวกันของปี ก่อน ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก รวมทั้งความผันผวนจากราคาน้ำมันดิบทำให้ผู้ประกอบการหลายแห่งลดการผลิตลง ถึงขั้นต้องปิดสาย การผลิตลง เพื่อลดความเสี่ยงของ สต๊อกสินค้าที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกลับเข้ามาจึงเริ่มมีการผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้น ดัง กล่าว

ขณะที่ การผลิตยานยนต์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตได้ติดลบน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ -12.9% เทียบกับที่ เคยติดลบไม่ต่ำกว่า -40% ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากมีการปรับปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรับกับการส่งออกที่มียอดคำสั่งซื้อกลับเข้ามามากขึ้น รวม ทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจกลับฟื้นขึ้นมา จึงพร้อมที่จะตัดสินใจซื้อรถใหม่มากขึ้น

นางสุทธินีย์ กล่าวว่า ภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2552 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนพบว่า ดัชนีผลผลิต (มูลค่า เพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 180.19 ลดลง 0.5% จากระดับ 181.11ดัชนีผลผลิต (มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ระดับ 182.24 ลดลง -0.9% จากระดับ 183.90 ดัชนี สินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 1170.39 ลดลง -19.1% จากระดับ 210.61 ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 182.71 ลดลง - 3.5% จากระดับ 189.39 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 111.25 ลดลง -4.2% จากระดับ 116.18 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 184.08 เพิ่มขึ้น 3.7% จากระดับ 177.51 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 164.54 เพิ่มขึ้น 21.0% จากระดับ 135.89 ขณะที่ อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 61%

5 อุตสาหกรรมที่เป็นบวก และ ติดลบที่ปรับตัวดีเข้าใกล้บวก

  ลำดับ             อุตสาหกรรมเป็นบวก                 เปลี่ยนแปลง          อุตสาหกรรมที่ติดลบ                     เปลี่ยนแปลง
                                                     (YOY)          (ปรับตัวได้ดีเข้าใกล้บวก)                    (YOY)
    1    การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก                 66.80%     การผลิตรถจักรยานยนต์                          -0.20%
    2    การผลิตเม็ดพลาสติก                            15.90%     การผลิตยางนอก และยางใน                      -1.60%
    3    การผลิตคอนกรีต                               11.90%     การผลิตอาหารสำเร็จรูป                         -2.40%
    4    การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์  8.50%     การผลิตเบียร์                                 -2.30%
    5    การผลิต Hard Disk Dive                       2.60%     การเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ   -4.90%

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต
         Index                         2551                                      2552
                           ต.ค.    พ.ย.   ธ.ค.    ม.ค.    ก.พ.    มี.ค.   เม.ย.    พ.ค.   มิ.ย.   ก.ค.   ส.ค.   ก.ย.   ต.ค.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม        181.11  167.73    149  139.13  139.79  159.71  146.66  159.24  170.1  167.8  169.4  186.6  180.2
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) %     -2    -7.4  -11.2    -6.6     0.5    14.2    -8.7     9.2    6.6   -1.3    0.8   10.1   -3.3
อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY) %   -0.4    -8.7  -19.7   -25.6   -23.1   -17.7   -12.8   -12.4   -6.8     -9   -8.6      1   -0.5
อัตราการใช้กำลังการผลิต %      60.8    55.8     53    51.7      50    54.4    51.4      55   55.7     57   57.2   60.1     61

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ