สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2552 และแนวโน้มปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 19, 2010 14:44 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลกในปี 2552 IMF คาดว่าหดตัวร้อยละ 1.1 เนื่องจากประเทศอุตสาหกรรมหลาย ๆ ประเทศยังคงอยู่ในภาวะถดถอย เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมัน และอีกหลาย ๆ ประเทศต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น จีน อินเดีย ถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาส 3 เศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นแล้วก็ตาม อัตราเงินเฟ้อปี 2552 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และอัตราการว่างงานปี 2552 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ ทั้งนี้ในส่วนสถานการณ์การเงินโลกธนาคารกลางหลาย ๆ ประเทศ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา และกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะหนึ่ง

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากต้นปี โดยราคาน้ำมันดิบ (Dubai) เฉลี่ย11 เดือนอยู่ที่ 59.93 USD:Barrel และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจาก Energy Administration Information(EIA) คาดการว่าความต้องการใช้น้ำมันในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX มีราคาอยู่ที่ 70.54 USD/Barrel

ส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 หดตัวร้อยละ -2.8 ซึ่งหดตัวน้อยลงจากไตรมาสที่ 1 (-7.1) และไตรมาสที่ 2 (-4.9) ของปี 2552 แต่หดตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2551ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 สำหรับเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2552 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่า GDP จะหดตัวร้อยละ -3.0

ในภาคอุตสาหกรรม จากรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในช่วงเดือนมกราคม — ตุลาคม 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 11.6 โดยมีอุตสาหกรรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ Hard Disk Drive เป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตลดลง และคาดว่าทั้งปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะหดตัวที่ร้อยละ -8.5 สำหรับแนวโน้มปี 2553 คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะกลับมาขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6 — 8

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของปี 2552 นั้นในเดือน ม.ค.-ต.ค. 2552 การค้าของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 230,707.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 25.4 โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 124,113.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 106,593.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 19.6 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 31.2 ส่งผลให้ ดุลการค้าเกินดุล 17,520 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา และกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งอออกทั้งปี 2552 จะมีมูลค่าลดลงร้อยละ 13-15 เมื่อเทียบกับปี 2551 คิดเป็นมูลค่า 151,000-154,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับในปี 2553 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการส่งออก ปรับรูปแบบการผลักดันส่งออกสินค้าสำคัญใหม่ โดยให้มีการแต่งตั้งประธานกลุ่มขึ้นมาดูแลสินค้า 10 อันดับแรกเป็นพิเศษ มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 85 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด จึงต้องการให้มีผู้รับผิดชอบ ทั้งการวางแผนบุกเจาะตลาด การเพิ่มยอดการส่งออก รวมไปถึงการจัดกิจกรรมการส่งออกให้เหมาะสมกับแต่ละสินค้า แต่ละตลาด สินค้าทั้ง 10 รายการ ได้แก่ สินค้าอาหารและข้าว สินค้าสิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าสินค้าวัสดุก่อสร้าง เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก สินค้ายานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยางพารา นอกจากนี้ ยังได้แต่งตั้งประธานกลุ่มสินค้าเพิ่มเติมอีก 3 กลุ่ม คือ สินค้าเอกลักษณ์ไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ ผ้าไหม กล้วยไม้ อาหารไทยและสปาไทย กลุ่มสินค้าใหม่ที่มีศักยภาพในการขยายการส่งออกเช่น เครื่องสำอาง สบู่ ผลิตภัณฑ์เภสัช เครื่องมือแพทย์ เครื่องเขียน และธุรกิจสิ่งพิมพ์ และสุดท้ายกลุ่มดูแลผู้ประกอบการ SMES ให้มีความพร้อมในการส่งออก และการส่งเสริมสินค้า OTOP คาดว่าจะสามารถผลักดันให้ยอดการส่งออกสินค้าไทยในปี 2553 มีอัตราการขยายตัวได้ร้อยละ 10-15 และอาจจะมีโอกาสขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 18

สรุปภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม 2552 โดยดูจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับลดลงร้อยละ 8.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ โทรทัศน์สีขนาดจอเล็กกว่าหรือเท่ากับ 20 นิ้ว โทรทัศน์สีขนาดจอเท่ากับ 21 นิ้ว หรือมากกว่า 21 นิ้วขึ้นไป และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต

ประมาณการแนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงปี 2553 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ภาพรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 18.64% ทั้งนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.31 ซึ่งจากการผลิตที่มีฐานตัวเลขทางสถิติที่ค่อนข้างต่ำ ในปี 2552 ประกอบกับตัวแปรที่ชี้นำการผลิตหลายตัวของประเทศพัฒนาแล้วปรับตัวสูงขึ้นในหลายประเทศ และการเร่งตัวขึ้นของการผลิต HDD IC และเซมิคอนดักเตอร์

เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2552 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ในภาวะชะลอตัวลงทั้งนี้เนื่องจาก อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์โดยส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบเบื้องต้นในการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ ภายในประเทศ ซึ่งจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก กับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน น่าจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจหดตัว รวมทั้งอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ด้วย

แนวโน้มของอุตสาหกรรรมเคมีภัณฑ์ ปี2553 ทั้งการผลิต จำหน่าย การนำเข้า และการส่งออกน่าจะดีขึ้น เนื่องจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ โครงการไทยเข้มแข็ง นอกจากนี้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นและภาวะเศรษฐกิจของโลกที่กำลังดีขึ้น

ปิโตรเคมี ปี 2552 ของปีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยช่วงครึ่งหลังมีทิศทางการปรับตัวที่ดีขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของภาครัฐ โดยการสร้างอุปสงค์ของตลาดภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากความผันผวนของราคาน้ำมัน ภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังการผลิตใหม่ สินค้าราคาถูกจากจีน และตะวันออกกลางที่จะเริ่มทยอยเข้าสู่เอเชียในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เป็นต้นไป โดยกำลังการผลิตใหม่นี้จะมีผลต่อราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในภูมิภาค

แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2553 ถือว่ายังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เต็มไปด้วยความผันผวน เนื่องจากกำลังการผลิตปิโตรเคมีของโลกจะทยอยเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังการผลิตใหม่จากประเทศแถบตะวันออกกลาง และจีน ซึ่งคาดว่าจะออกสู่ตลาดตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ.2552 เป็นต้นไป ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี พ.ศ. 2551 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงในปี พ.ศ.2552 และอาจจะต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2553 หรือจะยาวนานกว่านั้น เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังไม่ชัดเจน และไม่มีทิศทางที่แน่นอน

เหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กโดยรวมใน ปี 2552 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมลดลงขึ้น ร้อยละ 13.72 ความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ 26.45 สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้า ลดลง ร้อยละ 48.39 และ 32.20 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลก อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาวัตถุดิบที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการเหล็กในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง(ยานยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า) รวมทั้งเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ลดลงอย่างมากสำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กลดลงโดยเฉพาะเหล็กทรงแบน สาเหตุหลักมาจากอุตสาหกรรมปลายทางที่มีการบริโภคในเหล็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะเหล็กที่เป็นเกรดคุณภาพสูงที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีภาวะการผลิตที่ชะลอตัว ในขณะที่การส่งออกก็ยังไม่มีการฟื้นตัว

แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2552 คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีการฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้เหล็กมากยิ่งขึ้นคาดว่าความต้องการใช้เหล็กของปี 2553 จะอยู่ในช่วง 10.98 — 12.57 ล้านตัน

ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2552 (ม.ค.-ต.ค.) 766,671 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 อยละ 35.76 และในปี 2552 ประมาณว่า มีการผลิตรถยนต์ 986,000 คัน ลดลงร้อยละ 29.27 จากปี 551 ที่มีการผลิตรถยนต์ 1,394,029 คัน โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ประมาณร้อยละ 32, 67 และ 1 ตามลำดับ

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5-10 มื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ตามการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศผลิตภัณฑ์พลาสติก ปี 2552 ผลิตภัณฑ์พลาสติกมีมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ 2,154.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา นโดนีเซีย และออสเตรเลีย

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก ในช่วงปี 2553 น่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2552 เพราะมาตรการต่าง ๆ ของทั้งในและต่างประเทศ ที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ดีขึ้นตามลำดับ รวมทั้งตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยด้วย จากเหตุผลดังกล่าวน่าจะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมพลาสติกถือว่าเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนจึงน่าจะได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล่านี้ไปในทิศทางที่ดีด้วยเช่นกัน

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ในปี 2552 สถานการณ์การผลิตเมื่อเทียบกับปี 2551 คาดว่าจะลดลงใน 2 ลุ่มผลิตภัณฑ์ คือ ดัชนีผลผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลากและดัชนีผลผลิตรองเท้าลดลงร้อยละ 31.4 และ 15.9 ตามลำดับ การผลิตภายในประเทศลดลง อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการบริโภคภายในประเทศลดลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกของรองเท้าและชิ้นส่วน และ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ในปี 2552 ที่คาดว่าจะชะลอตัวลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 17.5 และ 22.0 ตามลำดับ เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา และประเทศในกลุ่ม EU ที่เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

แนวโน้มการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังใน ปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2552 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากฐานการผลิตและการส่งออกปี 2552 อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้า และประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการออกแบบและเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าในเรื่องของคุณภาพมากขึ้น

อาหาร ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2552 คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.3 เนื่องจากการผลิตในหลายสินค้า ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในช่วงครึ่งปีแรกและทะยอยปรับฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 — 4 โดยระดับราคาสินค้าในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงในเกือบทุกสินค้า ยกเว้นน้ำตาล ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศผู้ผลิตสำคัญหลายประเทศประสบปัญหาด้านวัตถุดิบจากภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ประเทศผู้ผลิตรายสำคัญอย่างจีน ประสบปัญหาความปลอดภัยของอาหารที่ประเทศนำเข้าตรวจสอบพบสารตกค้างและสิ่งปลอมปนในอาหารจนเกิดวิกฤตความปลอดภัยทั้งในสินค้าประเภทประมง และปศุสัตว์ ทำให้ประเทศนำเข้าหันมานำเข้าสินค้าอาหารจากไทยทดแทนเพิ่มขึ้น

แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2553 คาดว่า จะขยายตัวจากปี 2552 ร้อยละ2.9 ขณะที่การคาดการณ์การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2553 ในเชิงมูลค่าในรูปเงินบาทจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 แต่หากไม่รวมการส่งออกข้าว ภาพรวมการส่งออกจะขยายตัวในเชิงมูลค่ารูปเงินบาทและเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.3 และ 9.8 โดยมีปัจจัยภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกา และประเทศผู้นำเข้าทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การผลิตและการส่งออกของไทยในสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น

ไม้และเครื่องเรือน ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ปี 2552 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตรวม 10.48 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.56 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัว อุปสงค์ภายในประเทศยังขยายตัว โดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบน รวมทั้งการตอบสนองต่อโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ เช่น คอนโดมิเนียม นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง

สำหรับแนวโน้มของการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี2553 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัว ซึ่งน่าจะส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กระเตื้องขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนอกจากนี้ ตลาดกลางและตลาดบนยังมีศักยภาพ

ผลิตภัณฑ์ยาง ในปี 2552 ความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นของตลาดในประเทศและตลาดโลกคาดว่าจะลดลง ตามยอดการจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลง จากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และจากความต้องการใช้ยางในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงนี้ ส่งผลให้ราคายางมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศผู้ผลิตยางสำคัญของโลกหันมาร่วมมือกันลดปริมาณการผลิตและการส่งออกยาง เพื่อรักษาระดับราคายางในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นได้กระเตื้องขึ้นในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจีนทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น จึงมีการนำเข้ายางแปรรูปขั้นต้นจากไทยเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายหลังที่จีนได้มีการปรับลดภาษีรถยนต์บางรุ่นลง

สำหรับแนวโน้มใน ปี 2553 ภาวะอุตสาหกรรมยางแปรรูปขั้นต้น และผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะมีแนวโน้มขยายตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัว ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบในแง่วัตถุดิบเป็นประเทศที่ผลิตยางพาราได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ทำให้ต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนสนใจที่จะร่วมลงทุนในธุรกิจยางรถยนต์ในประเทศไทย โดยให้ไทยเป็นฐานการผลิต ผลผลิตส่วนหนึ่งเพื่อส่งออกจำหน่ายในตลาดโลกและอีกส่วนหนึ่งเพื่อส่งกลับไปใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศของตน

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในปี 2552 คาดว่า จะมีค่าดัชนีผลผลิต106.0 เมื่อเทียบกับ ปีก่อนลดลงร้อยละ 16.9 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษที่ลดลงสำหรับภาวะการผลิตกระดาษทุกประเภท ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก ปี 2552 คาดว่า จะมีค่าดัชนีผลผลิต 116.8 120.8 121.2 และ 164.2 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงเช่นเดียวกัน สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตกระดาษที่ลดลง ร้อยละ 1.0 5.4 3.9 และ 18.1 ตามลำดับ โดยสาเหตุที่ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษลดลงเป็นเพราะ ภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศชะลอตัวทั่วโลก ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัวตาม

สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในปี 2553 คาดว่า จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในตลาดโลก รวมถึงตลาดภายในที่คาดว่าจะมีทิศทางเป็นบวกเพิ่มขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

ยา การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในปี 2552 คาดว่า จะมีปริมาณ 28,339 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.9 ประเภทยาที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาก คือ ยาน้ำ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาลและร้านขายยาจำนวนมาก ทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและเป็นการรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองไม่ให้ลดลง

สำหรับแนวโน้มในปี 2553 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยาในประเทศ จะมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากภาครัฐให้ความสำคัญกับการควบคุมการเบิกค่าใช้จ่ายด้านยา และสนับสนุนให้มีการใช้ยาที่ผลิตในประเทศ แทนยานำเข้ามากขึ้น ประกอบกับโครงการหลักประกันสุขภาพยังคงดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง และค่าเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นทุกปี

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 2552 เมื่อพิจารณาจากดัชนีอุตสาหกรรม การผลิตเส้นใยสิ่งทอ ฯ การผลิตผ้าฯและ การผลิตเครื่องแต่งกายฯ ดัชนีผลผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 9.4 , 22.7 และ 15.8 ตามลำดับ ส่งผลให้การจำหน่ายปรับตัวลดลงร้อยละ 5.1, 19.5 และ 13.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากความไม่มั่นใจของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซาเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการได้มีการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าราคาถูกจากประเทศจีน และเสื้อผ้าแฟชั่นจากฮ่องกง ทั้งนี้คาดว่าในปี 2553 การผลิตและการจำหน่ายจะขยายตัวมากขึ้นกว่าปี 2552 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5

สำหรับแนวโน้มการผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปในปี 2553 คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเน้นในตลาดอาเซียนและญี่ปุ่นมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปชะลอตัว

ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ ปี 2552 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 37.57 ล้านตัน ส่วนการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการผลิต 33.58 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.52 และ2.38 ตามลำดับ จะเห็นว่าปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปี 2552 ยังคงหดตัว แต่มีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง โดยเน้นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ในระยะ 3 ปีข้างหน้าซึ่งการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล จะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในปี 2553 ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของธุรกิจการก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเติบโตดีขึ้น ตามเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะเริ่มฟื้นตัว

ผลิตภัณฑ์เซรามิก การผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ในปี 2552 มีปริมาณ 142.00 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้น ในอัตราร้อยละ 1.67 ซึ่งเป็นการเติบโตในอัตราที่ลดลงจากปีก่อน แม้ว่าการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง จะได้รับผลกระทบจากการซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศบ้าง แต่การผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง จะอิงกับตลาดซ่อมแซมบ้านเก่าเป็นหลัก และบางส่วนเป็นการผลิตเพื่อขยายตลาดส่งออก จึงทำให้การผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ในปีนี้ยังสามารถเติบโตเพิ่มขึ้น ในขณะที่การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ ในปี2552 มีปริมาณ 5.81 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลง ร้อยละ 30.08 เนื่องจากการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์จะอิงกับตลาดบ้านใหม่ที่ปัจจุบันอยู่ในภาวะซบเซาอย่างหนัก จึงได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ในปี 2553 มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่อยู่ในระยะเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับในปี 2553 เป็นช่วงที่งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตามโครงการไทยเข้มแข็งน่าจะเริ่มเกิดผลในทางปฏิบัติซึ่งจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น

อัญมณีและเครื่องประดับ การผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2552 เมื่อเทียบกับปี2551 จะขยายตัวร้อยละ 6.25 ภาพรวมด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2552 จะมีการขยายตัวร้อยละ 27.32 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 6,475.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับแนวโน้มการผลิต ในปี 2553 คาดว่าการผลิตจะยังทรงตัว โดยมีปัจจัยบวก คือ การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 สำหรับการนำเข้าวัตถุดิบพลอยดิบ ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนวัตถุดิบแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรยากาศให้ผู้ค้าพลอยต่างชาติจากทั่วโลก โดยเฉพาะอินเดียและแอฟริกานำวัตถุดิบเข้ามาค้าในไทยเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก ทางด้านปัจจัยลบ คือ แนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่สูงกว่าปีก่อน โดยขณะนี้ราคาสูงประมาณ 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาเรล

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ