สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2552 และแนวโน้มปี 2553(เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 19, 2010 15:02 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลก 1

เศรษฐกิจโลกในปี 2552 IMF คาดว่าหดตัวร้อยละ 1.1 เนื่องจากประเทศอุตสาหกรรมหลาย ๆ ประเทศยังคงอยู่ในภาวะถดถอย เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเยอรมัน และอีกหลาย ๆ ประเทศต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เช่น จีน อินเดีย ถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาส 3 เศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นแล้วก็ตาม อัตราเงินเฟ้อปี 2552 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และอัตราการว่างงานปี2552 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 8.2

สถานการณ์การเงินโลกธนาคารกลางหลาย ๆ ประเทศ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา และกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะหนึ่ง

สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากต้นปี โดยราคาน้ำมันดิบ (Dubai) เฉลี่ย 11 เดือนอยู่ที่ 59.93 USD:Barrel และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจาก Energy Administration Information (EIA) คาดการว่าความต้องการใช้น้ำมันในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX มีราคาอยู่ที่ 70.54 USD/Barrel

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา 2

เศรษฐกิจประเทศสหรัฐฯ ในปี 2552 IMF คาดว่า GDP จะหดตัวร้อยละ 1.1 โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาเศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 3.2 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและการบริโภคภายในสหรัฐฯ ที่หดตัว ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 อยู่ที่ระดับ 44.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2552 อยู่ที่ระดับ 49.5 อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 69.8 ในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 70.7 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 97.8 ในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ ระดับ 98.6

การส่งออกในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 21.8 ในเดือนตุลาคม 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 10.3 การส่งออกที่ยังคงหดตัวเนื่องจากการค้าโลกยังคงซบเซา การนำเข้าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 30.4 ในเดือนตุลาคม 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 21.3

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศสหรัฐฯ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.9 อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ร้อยละ -0.2 เป็นผลมาจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราการว่างงานในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 9.2

ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 ให้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.25 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจยังคงต้องการเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา

เศรษฐกิจจีน 3

เศรษฐกิจประเทศจีนในปี 2552 IMF คาดว่า GDP ขยายตัวร้อยละ 8.5 โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาเศรษฐกิจประเทศจีนขยายตัวร้อยละ 7.6 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่หดตัว อย่างไรก็ตามการบริโภคภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศจีน มูลค่าการค้าปลีกในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 15.2 ในเดือนตุลาคม 2552 ขยายตัวร้อยละ 16.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี2552 อยู่ที่ระดับ 87.1 ในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 88.5 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 26.2 ในเดือนตุลาคม 2552 ขยายตัวร้อยละ 33.3 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากมาตรการการเร่งปล่อยสินเชื่อของรัฐบาล ทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้น ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 อยู่ที่ระดับ 56.1 ในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 59.4

การส่งออกในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 20.54 ในเดือนตุลาคม2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 13.69 การส่งออกที่ยังคงหดตัวเนื่องจากการค้าโลกยังคงซบเซา การนำเข้าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 19.5 ในเดือนตุลาคม 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.8

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศจีนในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -1.1 อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 เป็นผลมาจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราการว่างงานใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 4.3

ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 5.31 ธนาคารกลางจีนจะใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายควบคู่กับนโยบายกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น 4

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นในปี 2552 IMF คาดว่า GDP หดตัวร้อยละ 1.3 โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 6.6 ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 4.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.4 เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่หดตัว ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 3 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 40.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 31.2 การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคครัวเรือนในไตรมาส 3 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 0.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 3 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 12.1 เป็นการหดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 6.6 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 3 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 83.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 อยู่ที่ระดับ 104.6

การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 34.4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 เป็นการลดลงในตลาดส่งออกหลัก เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป การนำเข้าไตรมาส3 ปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 39.7 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 21.1

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -1.3 อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ร้อยละ -2.5 เป็นผลมาจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานอยู่ในระดับต่ำ อัตราการว่างงานใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 5.1

ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.1 เพื่อพยุงเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจสหภาพยุโรป 5

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปในปี 2552 IMF คาดว่า GDP หดตัวร้อยละ 2.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.7 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงหดตัว ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา GDP หดตัวร้อยละ 4.6 ซึ่งในไตรมาส 3 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 4.1 ในส่วนของ GDP ภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 16.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 ดัชนี

การผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 89.3 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 107.3

การส่งออกในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีมูลค่าลดลงร้อยละ 19.5 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.2 การส่งออกที่ลดลงอย่างรุนแรงเป็นผลมาจากความต้องการของโลกหดตัว การนำเข้าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีมูลค่าลดลงร้อยละ 25.5 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.8

ภาวะเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศยุโรปในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.6 อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ร้อยละ -0.1 สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อลดลงเป็นผลจากราคาพลังงานที่ลดลง อัตราการว่างงานในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 9.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.0 อัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2552 อยู่ที่ร้อยละ 9.4 เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงหดตัวทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 1.0 (เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552) เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา

เศรษฐกิจเอเชีย 6

เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียในปี 2552 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่ำกว่าในปี 2551 ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.1 เนื่องจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลกส่งผลทำให้ การส่งออกของประเทศในภูมิภาคเอเชียไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นหดตัวลง โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียหดตัวอย่างหนักต่อเนื่องมาจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 อย่างไรก็ตามในไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 เศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคเริ่มมีการฟื้นตัว โดยจะเห็นได้จากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าหดตัวน้อยลงกว่าในไตรมาสที่ 1 ทั้งนี้เป็นผลมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นภายหลังจากรัฐบาลในแต่ละประเทศใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งตลาดเงินและตลาดทุนเริ่มฟื้นตัว และการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวทำให้เริ่มมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียยังคงมีความไม่แน่นอนในหลายๆ ด้าน ทั้งอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังต้องอาศัยมาตรการการกระตุ้นจากรัฐบาล ฐานะทางการเงินของภาคเอกชนที่ยังคงอ่อนแอ และปัญหาการว่างงาน ทั้งนี้ IMF คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2553 ของภูมิภาคเอเชียว่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.8 โดยจีนจะเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในภูมิภาค

สิงคโปร์ 7

เศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2552 มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหดตัวลดลงอย่างต่อเนื่องโดยในไตรมาสที่ 1 เศรษฐกิจหดตัวสูงถึงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจหดตัวน้อยลงอยู่ที่ร้อยละ 3.3 และในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.6 จากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ทางด้านอุปทาน ภาคการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และภาคการก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 โดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์คาดว่าทั้งปี 2552 เศรษฐกิจสิงคโปร์จะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ถึง 2.5 เนื่องจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการผลิตผลิตภัณฑ์ยาและอิเล็กทรอนิกส์รวมถึงการปรับตัวดีขึ้นในด้านการค้าและการท่องเที่ยว

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 102.2 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผลผลิตในกลุ่มไบโอเมดิคอล โดยภาพรวมผลผลิตภาคอุตสาหกรรม 9 เดือนแรกของปี 2552 ลดลงร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลผลิตลดลงในเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยกเว้นกลุ่มไบโอเมดิคอลที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 ด้านการว่างงาน ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 สิงคโปร์มีอัตราว่างงานหลังปรับฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 3.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันในปีก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.3

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคของสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 อยู่ที่ระดับ 110.6 จุด ลดลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากการปรับลดลงของราคาที่อยู่อาศัยและค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง

ทางด้านการส่งออกในปี 2552 การส่งออกหดตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 สิงคโปร์มีมูลค่าการส่งออกรวม 56,632 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 32.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออกรวม 63,261 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 30.7 โดยภาพรวม การส่งออก 9 เดือนแรกมีมูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่ 192,392 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 28.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญเป็นสินค้าในกลุ่ม Electrical Machinery รองลงมาเป็นสินค้าในกลุ่ม Machinery (Reactors, Boilers) และ Minereal Fuel, Oil

สำหรับแนวโน้มในปี 2553 เศรษฐกิจสิงคโปร์จะขึ้นอยู่กับสภาวะและปัจจัยภายนอกประเทศเป็นสำคัญ เนื่องจากเศรษฐกิจสิงคโปร์พึ่งพาการส่งออกสูง โดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์คาดการณ์ว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2553 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0 -5.0

มาเลเซีย 8

เศรษฐกิจของมาเลเซียในปี 2552 มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหดตัวลดลงอย่างต่อเนื่องโดยในไตรมาสที่ 1 เศรษฐกิจหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาสที่ 2 หดตัวร้อยละ 3.9 และไตรมาสที่ 3 หดตัวร้อยละ 1.2 เนื่องจากการปรับตัวที่ดีขึ้นของภาคการบริการและการก่อสร้าง รวมทั้งการใช้จ่ายด้านการบริโภคของภาคเอกชนและภาครัฐบาลก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่ 3 การบริโภคของภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ1.5 ส่วนภาครัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 ทั้งนี้ภาพรวมทั้งปี 2552 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.6

ด้านดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 100.8 ลดลงร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวลดลงของผลผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่มีดัชนีผลผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติหดตัวลง และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่มีผลผลิตในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ไม้ กระดาษ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลง โดยภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2552 ดัชนีผลผลิต ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 98.3 หดตัวร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านการเงินการธนาคาร ธนาคารกลางมาเลเซียยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.0 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมยังคงติดลบที่ร้อยละ 1.5 เนื่องจากราคาด้านพลังงานและราคาสินค้าในหมวดอาหารมีการปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามธนาคารกลางมาเลเซียมีการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกในเดือนพฤศจิกายนหากภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีความเข้มแข็งเพียงพอ

ทางด้านการส่งออก ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 มาเลเซียมีมูลค่าการส่งออกรวม 33,466 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 28.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออกรวม 36,411 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 33.3 ทั้งนี้ภาพรวมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552 มาเลเซียมีมูลค่าการ ส่งออกรวมทั้งสิ้น 97,245 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 30.1 เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น Electrical Machinery, Machinery (Reactors,Boilers) และ Mineral Fuel,Oil มีการส่งออกที่หดตัวลงเมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ในส่วนการนำเข้า การนำเข้า 8 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้ารวม 75,821 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 31.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับแนวโน้มภาพรวมปี 2553 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของมาเลเซียจะขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ฮ่องกง 9

ภาวะเศรษฐกิจของฮ่องกงในปี 2552 ภาวะเศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องโดย GDP มีการหดตัวลดลง ซึ่งในไตรมาสที่ 3 นั้นหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากที่เคยหดตัวถึงร้อยละ 7.8 และ 3.6 ในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ตามลำดับ โดยมีการบริโภคภายในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวลดลง การใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 การใช้จ่ายของผู้บริโภคเริ่มกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.2 หลังจากที่หดตัวมาติดต่อกันมา 4 ไตรมาส ในขณะที่สถานการณ์การส่งออกนั้นยังคงหดตัว แต่ในด้านภาคบริการนั้นมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากภาคบริการท่องเที่ยว และภาคบริการทางการเงิน

การส่งออกของฮ่องกงมีมูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 1 นั้นลดลงร้อยละ 22.7 ไตรมาสที่ 2 ลดลงร้อยละ 12.4 และไตรมาสที่ 3 ลดลงร้อยละ 13.2 โดยมีมูลค่าการส่งออก 85,859 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่การส่งออกภาคบริการมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาสที่ 3 นั้นมีมูลค่าการส่งออกลดลงเพียงร้อยละ 0.9 จากที่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.3 และ 5.2 ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ตลาดหลักที่สำคัญคือประเทศจีน ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 43,687 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3 โดยมูลค่าส่งออกไปยังประเทศจีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในขณะที่การส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกายังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับการส่งออกใน 10 เดือนแรกของปี 2552 มีมูลค่าทั้งสิ้น 268,526 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดคือเครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าส่งออก 115,098 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือเครื่องจักรอุตสาหกรรมมีมูลค่า 34,501 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอัญมณีมีมูลค่า 21,685 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.87 14.46 และ 0.01 ตามลำดับ

โดยรัฐบาลของฮ่องกงได้คาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 นั้นเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป และคาดการณ์ว่าทั้งปี 2552 นั้นเศรษฐกิจฮ่องกงจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.3 มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับร้อยละ 0.5

ฟิลิปปินส์ 10

เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในปี 2552 การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับที่ต่ำ นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 เศรษฐกิจขยายตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 0.8 และไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 0.8 โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจนี้เกิดจากปัจจัยทางบวก คือ

ภาคการบริโภคของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภาคการค้า ภาคการเงิน ภาคเหมืองแร่ รวมทั้งภาคการบริการที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยลบจากภาคการผลิตที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ภาพรวมทั้งปี2552 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.0

อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายน ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 สูงกว่าเดือนตุลาคมซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.6 เนื่องจากราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังจากฟิลิปปินส์ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยฟิลิปปินส์มีอัตราเงินเฟ้อในช่วง 10 เดือนแรกของปีอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งถือว่ายังอยู่ในช่วงของอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายสำหรับปี 2552 ที่ตั้งไว้อยู่ในช่วงร้อยละ 2.5- 4.5 ในขณะที่อัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคมของฟิลิปปินส์อยู่ที่ร้อยละ 7.6 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 7.4

ด้านการเงินการธนาคาร ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.0

ทางด้านการส่งออกของฟิลิปปินส์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกรวม 7,924 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 36.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าการส่งออกรวม 9,297 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 28.8 ทั้งนี้ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2552 ฟิลิปปินส์มีมูลค่าการส่งออกรวม 38,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 29.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้าส่งออกสำคัญอย่างสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตมียอดการส่งออกลดลง

สำหรับแนวโน้มภาพรวมปี 2553 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

เกาหลีใต้ 11

เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในปี 2552 เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้เร็ว โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 เกาหลีใต้มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนไตรมาสที่ 2 หดตัวร้อยละ 2.2 และไตรมาสที่ 3 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 เนื่องมาจากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐที่ทำให้การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาคการ ส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว และค่าเงินสกุลท้องถิ่นที่อ่อนค่าลง ทั้งนี้ OECDคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั้งปี 2552 ของเกาหลีใต้จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.1

ดัชนีราคาผู้บริโภค ในเดือนตุลาคมของปี 2552 อยู่ที่ระดับ 113.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกรายการ ยกเว้นค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งที่ปรับตัวลดลง และค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสารที่อยู่คงที่

ด้านการเงินการธนาคาร ธนาคารกลางเกาหลีใต้ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.0 เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน

ภาพรวมการส่งออกของเกาหลีใต้ในปี 2552 นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีมีการส่งออกหดตัวน้อยลงอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสที่1 หดตัวร้อยละ 25.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาสที่ 2 และ 3 หดตัวร้อยละ 20.8 และ 17.4 ตามลำดับ ทั้งนี้การส่งออก 10 เดือนแรกของปี มีมูลค่าการส่งออกรวม 294,044 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญเป็นสินค้าในกลุ่ม Electrical Machinery ที่มีการส่งออกหดตัวร้อยละ 16.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาเป็นสินค้าในกลุ่ม Ships and Boats ที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 และสินค้าในกลุ่ม Machinery (Reactors, Boilers) หดตัวร้อยละ 23.1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และฮ่องกง ตามลำดับ ในส่วนของการนำเข้าในเดือนตุลาคมมีการนำเข้าลดลงร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องของมูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและพลังงานที่สำคัญ ทั้งน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และแก็ส

สำหรับแนวโน้มภาพรวมปี 2553 OECD คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเกาหลีใต้จะขยายตัวร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

อินโดนีเซีย 12

เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2552 ยังคงมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เศรษฐกิจขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 4.0 และไตรมาสที่ 3 ขยายตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.2 เนื่องจากในไตรมาส 3 ทั้งการใช้จ่ายของรัฐ การบริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนในประเทศของอินโดนีเซียมีการปรับตัวสูงขึ้น โดย IMF คาดการณ์ว่าทั้งปี 2552 เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.0

ด้านการเงินการธนาคาร ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 6.5 เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว

ทางด้านการส่งออกของประเทศอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 3 มีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.4 ซึ่งเป็นการหดตัวที่ลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2552 โดยในไตรมาสที่ 1 มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 29.5 และไตรมาสที่ 2 มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ24.6 สำหรับการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกนั้นมีมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 70,301 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศที่เป็นตลาดหลักได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา มูลค่าการส่งออกของตลาดหลักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อนนั้นลดลงในทุกตลาด โดยการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นหดตัวมากถึงร้อยละ 41.69 ซึ่งหมวดสินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุดได้แก่ น้ำมัน และแร่เชื้อเพลิง มูลค่าส่งออก 18,576 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าส่งออก 4,979 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการส่งออกของ 2 หมวดสินค้าลดลงร้อยละ 34.93 และ 5.62 ตามลำดับ

สำหรับแนวโน้มภาพรวมปี 2553 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีระดับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 4-6

อินเดีย 13

เศรษฐกิจของอินเดียในปี 2552 มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2552 เศรษฐกิจขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาสที่ 2 ขยายตัวร้อยละ 6.0 และไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 6.7 เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอินเดียแสดงให้เห็นว่าอินเดียสามารถรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ได้ดีกว่าหลายประเทศในเอเชีย เนื่องจากเศรษฐกิจของอินเดียเน้นการบริโภคภายในประเทศมากกว่าการส่งออก โดย IMF คาดการณ์ว่าทั้งปี 2552 เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.4

ด้านการเงินการธนาคาร ธนาคารกลางอินเดียคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงถึงร้อยละ 6.5 ภายในเดือนมีนาคม ของปี 2553 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้ต่ำ รัฐบาลอินเดียจึงประกาศเตรียม ถอนเงินอัดฉีดออกจากระบบเศรษฐกิจ โดยที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียได้ดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ ปรับลดอัตราภาษี ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมถึงอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางอินเดียกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.25

ทางด้านการส่งออกของอินเดีย ในเดือนตุลาคมของปี 2552 อินเดียมีมูลค่าการส่งออกรวม 13,193 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมของปีก่อน โดยหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก ในส่วนการนำเข้า ในเดือนตุลาคมอินเดียมีมูลค่าการนำเข้ารวม 21,994 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สำหรับแนวโน้มภาพรวมปี 2553 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินเดียจะขยายตัวร้อยละ 6.4 จากอุปสงค์ภายในประเทศที่เข้มแข็ง และภาคการเงินกลับสู่ภาวะปกติช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการลงทุนให้กับภาคเอกชน

หมายเหตุ

1 - ที่มา www.eia.doe.gov www.thaioil.co.th www.imf.org

2 - ที่มา www.worldbank.org www.imf.org www.bea.gov www.ceicdata.com www.imf.org

3 - ที่มา www.stats.gov.cn, www.pbc.gov.cn, www.ceicdata.com, www.imf.org

4 - www.cao.go.jp www.boj.or.jp www.stat.go.jp www.ceicdata.com www.imf.org

5 - ที่มา eurostat, www.ecb.int www.ceicdata.com www.imf.org

6 - ที่มา : www.apecthai.org

7 - ที่มา : www.apecthai.org, www.gov.sg/, www.bangkokbank.com, www.gtis.com/gta

8 - ที่มา : www.bnm.gov.my/, www.statistics.gov.my/, www.apecthai.org, www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

9 - ที่มา http://www.hkeconomy.gov.hk/ - http://www.gtis.com/GTA/

10 - ที่มา : www.nscb.gov.ph/, www.bsp.gov.ph/, www.apecthai.org, www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

11 - ที่มา : www.koreaherald.co.kr/, www.exim.go.th, www.apecthai.org, bok.or.kr/, www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

12 - ที่มา : www.exim.go.th, www.bangkokbank.com, www.gtis.com/gta

13 - ที่มา : www.ceicdata.com, commerce.nic.in/, otp.moc.go.th www.rib.org.in, www.exim.go.th

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ