สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2552 และแนวโน้มปี 2553(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 20, 2010 13:46 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญปี 2552 มีประมาณ 6,569,485 เมตริกตัน( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 13.72 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนและเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 48.40 รองลงมาคือเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 32.14 และผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 30.40 โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งในและต่างประเทศ จึงมีผลทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีความต้องการใช้เหล็กลดลง รายละเอียดตามตารางที่ 1

ตารางที่ 1 : ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญปี 2552 เทียบกับปี 2551

หน่วย : เมตริกตัน

ผลิตภัณฑ์(1)                                       ปี 2552(e)           ปี 2551      อัตราการเปลี่ยนแปลง

(ร้อยละ)

ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป(Semi-Finished Products)    3,627,838          5,212,212           -30.40
เหล็กทรงยาว(Long Products)                      3,365,510          4,251,219           -20.83
เหล็กทรงแบน(Flat Products)                      5,070,410          5,916,863           -14.31
  เหล็กแผ่นรีดร้อน(Hot-rolled Flat)                3,203,975          3,363,293            -4.74
  เหล็กแผ่นรีดเย็น(Cold-rolled Flat)               1,112,036          1,638,744           -32.14
  เหล็กแผ่นเคลือบ (Coated Steel)                    754,399            914,826           -17.54
   - เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี(Galvanized Sheet)         250,766            278,967           -10.11
   - เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก (Tin plate)                 370,141           377,1399            -1.86
   - เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม (Tin free)                 -                   -                 -
   - อื่นๆ (other coated steel)                    133,492            258,720           -48.40
ท่อเหล็ก (Pipes & Tubes)                               N/A                N/A              N/A
รวม (1)                                        6,569,485          7,614,512           -13.72

ที่มา : สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ(1) : ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบ และท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ

e : จากการประมาณการของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การใช้ในประเทศ(1)

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญใน ปี 2552 ประมาณ 8,955,082 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 26.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงแบนที่ลดลง ร้อยละ 26.76 และเหล็กทรงยาวที่ลดลง ร้อยละ 25.94

การนำเข้า-การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญใน ปี 2552 มีจำนวนประมาณ 173,043 ล้านบาท และ 6,946,241 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการนำเข้าลดลง ร้อยละ 48.39 และ 32.20 ประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่นและรัสเซีย ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน (HR sheet) ลดลง ร้อยละ 64.95 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน (HR sheet P&O) ลดลงร้อยละ 58.44 และผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ชนิดอื่นๆ ลดลงร้อยละ 57.44

ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กแท่งแบน (Slab) มีมูลค่า 25,210 ล้านบาท รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน มีมูลค่า 18,410 ล้านบาท

(1) ข้อมูลการใช้ในประเทศจะเป็นปริมาณการใช้ปรากฎ (Apparent Steel Use) ซึ่งรวมสต๊อกไว้ด้วย

การส่งออก

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าในปี 2552 มีจำนวนประมาณ 36,599 ล้านบาท และ 1,354,448 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออก ลดลง ร้อยละ 50.90 และ 37.89 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดในช่วงนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน ลดลง ร้อยละ 82.77 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้าลดลง ร้อยละ 74.47 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการมูลค่าการส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ท่อเหล็กมีตะเข็บ มีมูลค่า 9,007 ล้านบาท รองลงมาคือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน มีมูลค่า 4,334 ล้านบาท และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน มีมูลค่า 4,015 ล้านบาท ตามลำดับ

2. สรุป

สถานการณ์เหล็กโดยรวมใน ปี 2552 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 13.72 ความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ 26.45 สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้า ลดลง ร้อยละ 48.39 และ 32.20 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กแผ่นบางรีดร้อน (HR sheet) ลดลง ร้อยละ 64.95 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน (HR sheet P&O) ลดลงร้อยละ 58.44 และผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 57.44 สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออก ลดลง ร้อยละ 50.90 และ 37.89 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดในช่วงนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน ลดลง ร้อยละ 82.77 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า ลดลง ร้อยละ 74.47 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลก อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาวัตถุดิบที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการเหล็กในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง(ยานยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า) รวมทั้งเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ลดลงอย่างมาก สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กลดลงโดยเฉพาะเหล็กทรงแบน สาเหตุหลักมาจากอุตสาหกรรมปลายทางที่มีการบริโภคในเหล็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะเหล็กที่เป็นเกรดคุณภาพสูงที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีภาวะการผลิตที่ชะลอตัว ในขณะที่การส่งออกก็ยังไม่มีการฟื้นตัว

3.แนวโน้ม

แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2552 คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีการฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้เหล็กมากยิ่งขึ้น คาดว่าความต้องการใช้เหล็กของปี 2553 จะอยู่ในช่วง 10.98 — 12.57 ล้านตัน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ