สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2552 และแนวโน้มปี 2553(อุตสาหกรรมยานยนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 20, 2010 14:04 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2552 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการบังคับของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น พร้อมมอบหมายให้มีการดำเนินการในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ กล่าวคือ มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบบริหารการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากประเทศภาคีภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อนำมาประกอบรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อประกอบรถยนต์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงการคลังออกประกาศให้สอดคล้องกัน (ที่มา : www.thaigov.go.th)

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2552 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญของร่างประกาศ ดังนี้(ที่มา : www.thaigov.go.th)

1) ถังบรรจุก๊าซธรรมชาติอัด

1.1) ขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับถังบรรจุก๊าซธรรมชาติอัดประเภทถังคอมโพสิทไฟเบอร์ ตามประเภทย่อย 3923.90.00 ในบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า และสำหรับในกรณีที่นำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นยานบกตามตอนที่ 87 ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 เนื่องจากถังบรรจุก๊าซธรรมชาติอัดประเภทดังกล่าวปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตในประเทศ และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป สำหรับการนำเข้ามาในทั้ง 2 กรณี เห็นควรกำหนดอัตราอากรขาเข้าไว้เท่ากับร้อยละ 10

1.2) ขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรขาเข้าบรรจุก๊าซธรรมชาติอัดประเภทถังเหล็ก และถังอลูมิเนียมตามประเภทย่อย 7311.00.11 7311.00.19 7311.00.91 7311.00.99 และ 7613.00.00 ในบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า และในกรณีที่นำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นยานบกตามตอนที่ 87 ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 1 ปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป สำหรับการนำเข้าในทั้ง 2 กรณี เห็นควรกำหนดอัตราอากรขาเข้าถังบรรจุก๊าซธรรมชาติอัดทั้ง 5 ประเภทย่อยดังกล่าวไว้เท่ากับร้อยละ 10

2) ชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์

ขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรขาเข้าชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินโดยอัตโนมัติ (ไบ-ฟูแอล คอนเวอร์ชัน คิท) และชุดอุปกรณ์ควบคุมการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลโดยอัตโนมัติ (ดีเซล ดูเอล ฟูแอล คอนเวอร์ชันคิท) ตามประเภทย่อย 9032.89.39 ในบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า และสำหรับในกรณีที่นำเข้ามาเพื่อประกอบหรือผลิตเป็นยานบกตามตอนที่ 87 ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป สำหรับการนำเข้าในทั้ง 2 กรณีเห็นควรกำหนดอัตราอากรขาเข้าไว้เท่ากับร้อยละ 10

3) แชสซีส์ที่มีเครื่องยนต์ติดตั้ง

3.1) ขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรขาเข้าแชสซีส์ที่มีเครื่องยนต์ติดตั้งที่นำเข้ามาในลักษณะของสำเร็จรูป สำหรับยานยนต์ที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ 6 ตันขึ้นไปชนิดที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงระบบเดียวตามประเภทย่อย 8706.00.20 ในบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 และสำหรับการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป เห็นควรกำหนดอัตราอากรขาเข้าไว้เท่ากับร้อยละ 30

3.2) ยกเว้นอากรขาเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบไม่ว่าจะเป็นของตามพิกัดประเภทใด แต่ไม่รวมถึงหม้อน้ำ ชุดหม้อพักเก็บเสียงและท่อไอเสีย แบตเตอรี่ แหนบตับหน้าและหลัง ยางนอกและยางใน กระจกนิรภัย ดรัมเบรกหน้าและหลัง มอเตอร์สตาร์ต ตัวยึดชุดท่อไอเสีย ตัวยึดแบตเตอรี่ ฝาครอบแบตเตอรี่ ชุดสายแบตเตอรี่ ชุดสายไฟ สีรถยนต์ กระจกมองหลังภายในรถ และแผงบังแดดที่นำเข้ามาเพื่อประกอบหรือผลิตเป็นแชสซีส์ที่มีเครื่องยนต์ติดตั้งตามประเภท 87.06 สำหรับรถยนต์ชนิดที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงระบบเดียว ดังนี้

3.2.1) รถแทรกเตอร์เดินบนถนนสำหรับลากรถกึ่งรถพ่วงตามประเภทย่อย 8701.20 ยกเว้นอากรขาเข้าเป็นระยะเวลา 3 ปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 และสำหรับการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป กำหนดอัตราอากรขาเข้าไว้เท่ากับร้อยละ 10

3.2.2) ยานยนต์สำหรับขนส่งตามประเภท 87.04 (เว้นแต่รถบรรทุกชนิดแวน ชนิดปิกอัพ และรถที่มีลักษณะคล้ายกับรถดังกล่าว) ยกเว้นอากรขาเข้าเป็นระยะเวลา 3 ปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 และสำหรับการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไปกำหนดอัตราอากรขาเข้าไว้เท่ากับร้อยละ 10

3.2.3) ยานยนต์ที่ใช้งานพิเศษตามประเภท 87.05 ยกเว้นอากรขาเข้าเป็นระยะเวลา 3 ปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 และสำหรับการนำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป กำหนดอัตราอากรขาเข้าไว้เท่ากับร้อยละ 20

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลังเรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) (การแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ข้อ 2 (5) และภาคผนวกแนบท้ายประกาศ) ที่คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ (ที่มา : www.thaigov.go.th)

สาระสำคัญของร่างประกาศ คือ

1) แก้ไขความหมายของคำว่า “รูปร่างของรถยนต์” ใน (2.1) ของข้อ 2 (5) ในประกาศฉบับเดิม

2) เพิ่มเติมความหมายของคำว่า “แบบ” (model) ใน (2) ของข้อ 2 (5) ในประกาศฉบับเดิม

3) แก้ไขภาคผนวก ข. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การถอดแยกส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของแชสซีส์ที่มีเครื่องยนต์ติดตั้งของแทรกเตอร์ตามประเภท 87.01 ให้ใช้เฉพาะแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร เท่านั้น สำหรับแชสซีส์ที่มีเครื่องยนต์ติดตั้งของแทรกเตอร์เดินบนถนนสำหรับลากรถกึ่งรถพ่วง (truck tractor) ตามประเภทย่อย 8701.20 ให้ใช้หลักเกณฑ์การถอดแยกส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบตามภาคผนวก ก.

4) เพิ่มบทเฉพาะกาลให้การขอผ่อนผันหรือขอต่ออายุการถอดแยกส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานยนต์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติ ให้สามารถพิจารณาดำเนินการต่อไปได้

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบให้เปิดประเภทกิจการประกอบรถยนต์ขึ้นใหม่ เพื่อจูงใจให้ผู้ผลิตรถยนต์ย้ายฐานการผลิตจากประเทศอื่นๆ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และส่งเสริมให้ประเทศไทยมีฐานการผลิตรถยนต์เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้การลงทุนในกิจการใหม่ดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการลงทุนในสายการผลิตใหม่ และมีรูปแบบเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ มีปริมาณการผลิตที่สูงมากพอที่จะทำให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต จึงได้กำหนดเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน (ที่มา www.boi.go.th) ดังนี้

1) จะต้องมีปริมาณการผลิตจริง (Actual Production) ไม่น้อยกว่า 100,000 คันต่อปีในปีใดปีหนึ่ง ภายในระยะเวลา 5 ปีแรกของการผลิต

2) จะต้องมีการลงทุนสร้างสายการประกอบรถยนต์ (Assembly Line) ใหม่

3) จะต้องมีขนาดการลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท

4) จะต้องมีการผลิตรถยนต์แบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีการผลิตในประเทศไทย และมีการผลิตรถยนต์ที่มีการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น มีการติดตั้งระบบ Hybrid Drive, ระบบ Brake Energy Regeneration หรือระบบ Electronic Stability Control เป็นต้น ในโครงการตามที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ

5) จะต้องเสนอแผนการลงทุนผลิตชิ้นส่วนหรือการใช้ชิ้นส่วน และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ

6) ไม่อนุญาตให้ขยายเวลาการดำเนินการตามที่กำหนดในบัตรส่งเสริม

7) จะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2553

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรทุกเขต ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นระยะเวลา 5 ปี หากมีขนาดการลงทุนที่ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 6 ปี หากมีขนาดการลงทุนที่ไม่รวมค่าที่ดิน และเงินทุนหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท ไม่ว่าจะตั้งในเขตใด ทั้งนี้ ให้ได้รับเพิ่มเติมอีกกรณีละ 1 ปี หากยื่นคำขอภายในปี 2552 โดยมูลค่าภาษีที่ยกเว้นไม่เกินมูลค่าเงินลงทุนของโครงการ

สถานการณ์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศในช่วง10 เดือนของปี 2552 (มกราคม-ตุลาคม 2552) มีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวม 54 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 14,191.6 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้นกว่า 3,924 คน ในจำนวนนี้มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ คือ 1) โครงการผลิตชิ้นส่วนยางและพลาสติกขึ้นรูปสำหรับยานพาหนะ และชิ้นส่วนพลาสติกขึ้นรูปสำหรับยานพาหนะ ของบริษัท ออโต้ อินทีเรียร์ โปรดักส์ จำกัด เงินลงทุน 2,078.40 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 558 คน ซึ่งใช้วัตถุดิบเป็นเม็ดพลาสติกและแผ่น PVC เพื่อป้อนการผลิตให้กับรถยนต์ขนาดเล็ก (B-car)และ รถ Pick-up และ 2) โครงการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มไทยซัมมิทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของไทย และบริษัท เพรสโกเงียว จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนโลหะรถบรรทุกของญี่ปุ่น เงินลงทุน 2,480 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทย 349 คน โดยทำการผลิตชิ้นส่วนของ Chassis มีกำลังการผลิต 1,384,000 ชิ้นต่อปี และ Rear Axle โดยสินค้าที่ผลิตจะจำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ ปี 2552

  • ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2552 (ม.ค.-ต.ค.) 766,671 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 35.76 และในปี 2552 ประมาณว่า มีการผลิตรถยนต์ 986,000 คันลดลงร้อยละ 29.27 จากปี 2551 ที่มีการผลิตรถยนต์ 1,394,029 คัน โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ประมาณร้อยละ 32, 67 และ 1 ตามลำดับ
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศปี 2552 (ม.ค.-ต.ค.) 419,755 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 17.53 และในปี 2552 ประมาณว่า มีการจำหน่ายรถยนต์ 536,000 คัน ลดลงร้อยละ 12.71 จากปี 2551 ที่มีการจำหน่ายรถยนต์ 614,078 คัน โดยเป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ PPV รวม SUV ประมาณร้อยละ 42 ,45, 6 และ 7 ตามลำดับ
  • ปริมาณการส่งออกรถยนต์ ในปี 2552 (ม.ค.-ต.ค.) 423,298 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 36.54 โดยมีตลาดส่งออกรถยนต์นั่งที่สำคัญของไทย ได้แก่ ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 21.43, 13.36 และ 9.91 ตามลำดับ ตลาดส่งออกรถแวนและปิกอัพที่สำคัญของไทย ได้แก่ ออสเตรเลีย มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 35.77, 4.79 และ 4.49 ตามลำดับ ตลาดส่งออกรถบัสและรถบรรทุกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย ออสเตรเลีย และจอร์แดน ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 23.33, 21.87 และ 10.68 ตามลำดับ ในปี 2552 ประมาณว่า มีการส่งออกรถยนต์ 527,000 คัน ลดลงร้อยละ 32.11 จากปี 2551 ที่มีการส่งออกรถยนต์ 776,241 คัน
  • อุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2552 การผลิตรถยนต์มีการชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยชะลอตัวด้วย โดยตลาดรถยนต์ภายในประเทศมีการชะลอตัว ตามสภาพเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประกอบกับในช่วงต้นปี 2552 สถาบันทางการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ในขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น ออสเตรเลีย และเอเชีย ก็ชะลอตัวเช่นกัน อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศเริ่มฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ประกอบการมีการแนะนำรถยนต์รถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ ปี 2552

  • ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ในปี 2552 (ม.ค.-ต.ค.) 1,328,234 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 17.70 และในปี 2552 ประมาณว่า มีการผลิตรถจักรยานยนต์ 1,595,000 คัน ลดลงร้อยละ 17.08 จากปี 2551 ที่มีการผลิตรถจักรยานยนต์ 1,923,651 คัน โดยแบ่งเป็น รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว (รวมรถจักรยานยนต์แบบครอบครัวและแบบสกู๊ตเตอร์) ประมาณ ร้อยละ 92 และรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ตประมาณ ร้อยละ 8
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศปี 2552 (ม.ค.-ต.ค.) 1,257,773 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 13.97 และในปี 2552 ประมาณว่า มีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ 1,508,000 คัน ลดลงร้อยละ 11.47 จากปี 2551 ที่มีการจำหน่าย 1,703,375 คัน โดยแบ่งเป็น รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว รถจักรยานยนต์แบบสกู๊ตเตอร์ และรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต ประมาณร้อยละ 49, 46 และ 5 ตามลำดับ
  • ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU-Completely Built Up) ในปี 2552 (ม.ค.-ต.ค.) 98,779 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 15.64 และในปี 2552 ประมาณว่า มีการส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) 116,000 คัน ลดลงร้อยละ 23.15 จากปี 2551 ที่มีการส่งออก 150,948 คัน โดยตลาดส่งออกรถจักรยานยนต์ที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเวียดนาม ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 27.89, 16.61และ10.17 ตามลำดับ
  • อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในปี 2552 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย และประเทศคู่ค้าที่สำคัญของตลาดรถจักรยานยนต์ โดยการจำหน่ายในประเทศมีการชะลอตัว สอดคล้องกับรายได้ของลูกค้าหลักของรถจักรยานยนต์นั่นคือ เกษตรกร ที่รายได้ปรับตัวลดลงตามราคาสินค้าเกษตร ในขณะที่ตลาดส่งออกชะลอตัว ทั้งการส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) และรถจักรยานยนต์ในลักษณะชิ้นส่วนครบชุด(CKD-Completely Knock Down)

แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ ปี 2553

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5-10 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ตามการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับตลาดรถยนต์ในประเทศ มีปัจจัยบวกจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco Car) ซึ่งจะมีผู้ประกอบการรถยนต์เปิดตัว Eco Car อีกทั้งผู้ประกอบการหลายรายมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดในช่วงปลายปี 2552 ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นตลาดได้อีกทางหนึ่ง ในส่วนของตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศ คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง น่าจะเห็นผลที่เป็นรูปธรรมได้ ในส่วนของการส่งออกรถยนต์ และรถยนต์จักรยานยนต์ คาดว่าจะเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย อาจส่งผลต่อความต้องการเลือกซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ