สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2552 และแนวโน้มปี 2553(อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 20, 2010 15:14 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2552

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาวะการผลิต

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม 2552 โดยดูจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับลดลงร้อยละ 8.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการปรับตัวลดลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ โทรทัศน์สีขนาดจอเล็กกว่าหรือเท่ากับ 20 นิ้ว โทรทัศน์สีขนาดจอเท่ากับ 21 นิ้ว หรือมากกว่า 21 นิ้วขึ้นไป และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต ปรับตัวลดลงร้อยละ 40.86 40.53 และ 34.53 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการของตลาดส่งออกหลักของเครื่องปรับอากาศ ในช่วง 10 เดือนของปี 2552 ได้แก่ ตลาดอียู ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 1 และต้นไตรมาสที่ 2 ทำให้ภาพรวม 10 เดือนแรกยังคงชะลอลง ส่วนแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับตลาดในประเทศนั้นปริมาณการผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศ มีแนวโน้มสูงขึ้นจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิต เครื่องปรับอากาศขนาดไม่เกิน 72000 บีทียู เหลือ 0% แต่การบริโภคโดยรวมของประเทศยังคงซบเซาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้ปริมาณการขายในประเทศไม่เพิ่มสูงมากนัก

ส่วนพัดลม และหม้อหุงข้าว ที่ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.85 และ 1.14 ตามลำดับ เนื่องจากขณะนี้ปริมาณการขายในประเทศกระเตื้องขึ้นจากราคาขายที่ไม่สูงมากนัก และมีแนวโน้มการปรับเปลี่ยนรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะหม้อหุงข้าวที่มีระบบดิจิตอลมากขึ้น ทำให้กระตุ้นปริมาณการผลิตมากขึ้นเล็กน้อย

ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 มีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนๆ ถึงแม้จะผันผวนบ้างในบางเดือน เช่น เดือนเมษายน กรกฎาคม และเดือนตุลาคม 2552 ที่การผลิตปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ซึ่งสะท้อนภาวะที่มีคำสั่งซื้อในระยะสั้น และยังคงมีความกังวลถึงความไม่แน่นอนว่าเศรษฐกิจภาพรวม และการบริโภคมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนหรือไม่

ตารางที่ 1 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รายไตรมาสปี 2552 และช่วงเดือนม.ค.-ต.ค.52
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม                                                       2552
                                                    ไตรมาสที่1    ไตรมาสที่2    ไตรมาสที่3    ม.ค.-ต.ค.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์                    240.65      304.81     353.67       305.21
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (%)                -19.69       26.66      16.03            -
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(%)          -26.12       -3.62      -0.11        -8.41

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, ธันวาคม 2552

ภาวะการตลาด

มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2552 ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.63 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าส่งออก 34,370.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้สินค้าหลักที่มีผลต่อการปรับตัวลดลงของมูลค่าส่งออกโดยรวม ได้แก่ ส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รวม มีการปรับตัวลดลง 15.45% ทำให้การส่งออกโดยรวมมีภาวะหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

จากมูลค่าส่งออกโดยรวมของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าปรับตัวลดลงในทุกตลาดโดยเฉพาะตลาดสำคัญที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดได้แก่ ตลาดอาเซียน มีสัดส่วนการส่งออก 16.45% หรือ 5,654.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าหลักที่มีการส่งออกในตลาดดังกล่าวปรับตัวลดลง ได้แก่ ส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีมูลค่าส่งออกในตลาดดังกล่าว 1,546.82 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลง 12.90%

ตารางที่ 2 มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รายไตรมาสปี 2552 และ ม.ค.-ต.ค.2552
มูลค่าส่งออก                                                          2552
                                             ไตรมาสที่ 1    ไตรมาสที่ 2    ไตรมาสที่ 3     ม.ค.—ต.ค.
มูลค่าส่งออก (ล้านเหรียญสหรัฐ)                      8,281.94    10,070.34    11,822.45    34,370.58
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน(%)           -20.81        21.59        17.40            -
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(%)    -31.49       -15.42        -5.89       -15.63

ที่มา กรมศุลกากร, ธันวาคม 2552

การเคลื่อนไหวของมูลค่าส่งออกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม 2552 เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม 2552 ที่ลดลงจากช่วงไตรมาสที่ 2/2552 โดยที่มูลค่าการส่งออกในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม2552 มีค่าใกล้เคียงกับมูลค่าส่งออกในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2549 และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนก่อนหน้าอย่างต่อเนื่อง

โครงสร้างตลาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2552 พบว่า ตลาดส่งออกหลักเดิม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อียู และญี่ปุ่น ยังมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกค่อนข้างสูง อยู่ที่ประมาณ 40.59% ถึงแม้สัดส่วนสูงแต่มีอัตราการหดตัวระดับสูงในตลาดดังกล่าว นอกเหนือจากวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ภาวะตลาดทั่วโลกถดถอยแล้ว ยังมีประเด็นเสริมจากค่าเงินและอัตราการแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงในช่วงต้นปี ทำให้มูลค่าส่งออกไม่ปรับลดลงมากนัก

ตารางที่ 3 มูลค่าส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จำแนกตามตลาดส่งออกสำคัญ ช่วงเดือนม.ค.—ต.ค.ปี 2552
ตลาดส่งออก                  US          EU         JP       ASEAN       CN        other       Total
มูลค่าส่งออก(ล้านเหรียญสหรัฐ) 4,865.02   5,164.10   3,924.91   5,654.51   5,420.68   9,341.36   34,370.58
อัตราการเปลี่ยนแปลง (%)      -17.62     -23.03     -21.65     -12.09     -11.74     -11.35      -15.63
สัดส่วน (%)                  14.15      15.02      11.42      16.45      15.77      27.19         100

ที่มา กรมศุลกากร, ธันวาคม 2552

ขณะที่ตลาดเอเชียและตลาดอื่นๆ เช่น จีน อาเซียน มีอัตราการหดตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยปรับตัวลดลง 11.74% 12.09% ตามลำดับ ทั้งนี้ ในช่วงก่อนหน้านี้ กลุ่มชิ้นส่วนและส่วนประกอบที่มีความต้องการจากตลาดจีนมากนั้น ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ปรับตัวลดลง เนื่องมาจากการผลิตสินค้าไอทีสำเร็จรูปของจีนเพื่อส่งขายทั่วโลกปรับตัวลดลงจากความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยลดลง

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

ภาวะการผลิต

จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม 2552 ปรับตัวลดลง ร้อยละ 24.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการผลิตของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างสูง และเนื่องจากการชะลอลงของตลาดส่งออกหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอียูที่มีสัดส่วนครอบคลุมถึงประมาณ 40% ของสัดส่วนตลาดส่งออกทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตปรับลดลงดังกล่าว

สินค้าที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 3 อันดับแรก ได้แก่ โทรทัศน์สี (ขนาดจอเล็กกว่า 20 นิ้ว) โทรทัศน์สี (ขนาดจอเท่ากับ 21 นิ้วหรือมากกว่า) และเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต ปรับตัวลดลง 40.86% 40.53% และ 34.53% ตามลำดับ

ตารางที่ 4 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงเดือนม.ค.—ต.ค.ปี 2552
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม                           ม.ค.—ต.ค.52      ม.ค.—ต.ค.51         %YoY
การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์                 305.21           333.24           -8.41
การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า                               98.63           131.01          -24.71
เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่งยูนิต             190.08           283.13          -32.86
เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต              182.92           279.39          -34.53
คอมเพรสเซอร์                                    136.55           163.94          -16.71
พัดลมตามบ้าน                                      28.90            28.37            1.85
ตู้เย็น                                           225.45           252.28          -10.64
กระติกน้ำร้อน                                     143.80           165.24          -12.98
หม้อหุงข้าว                                       115.15           113.85            1.14
สายไฟฟ้า                                        109.10           118.37           -7.83
โทรทัศน์สีขนาดจอเล็กกว่าหรือเท่ากับ 20 นิ้ว               10.94            18.50          -40.86
โทรทัศน์สีขนาดจอเท่ากับ 21 นิ้วหรือมากกว่า 21 นิ้วขึ้นไป    149.64           251.65          -40.53

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, ธันวาคม 2552

หมายเหตุ %YoY การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น กระติกน้ำร้อน ตู้เย็น และสายไฟฟ้า ปรับตัวลดลงโดยมีอัตราการหดตัว 12.98% 10.64% และ 7.83% ตามลำดับ ทั้งนี้ หลังจากที่กระติกน้ำร้อนไฟฟ้าได้มี การปรับระบบการทำงานเป็นแบบระบบดิจิตอล การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายหน้าที่การทำงานมากขึ้น ส่วนใหญ่จัดซื้อทดแทนสินค้าที่มีอยู่ในระบบเดิม และมีคุณลักษณะอเนกประสงค์มากขึ้น รวมถึงการปรับเป็นระบบดิจิตอล ขณะที่ เมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้าปี 2550 ได้รับผลกระทบมากจากการโจมตีของสินค้าจีนที่มีราคาถูกแต่ไม่เป็นที่ยอมรับด้านคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันยอดการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องพร้อมด้วยราคาเหมาะสมสามารถแข่งขันได้ในตลาด

ตารางที่ 5 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ารายไตรมาสปี 2552 และช่วงเดือนม.ค.—ต.ค.52
          ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม                                        2552
                                             ไตรมาสที่ 1    ไตรมาสที่ 2    ไตรมาสที่ 3    ม.ค.—ต.ค.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้า                            86.14       103.83       102.97       98.63
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (%)          -10.67        20.53        -0.83           -
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%)   -40.01       -23.36       -15.45      -24.71

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, ธันวาคม 2552

มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2552 ปรับตัวลดลงร้อยละ 16.74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าส่งออก 12,807.45 ล้านเหรียญสหรัฐการปรับลดลงของมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาปรับตัวลดลงแต่เป็นไปแบบชะลอลง แต่มีความเป็นไปได้ว่าการส่งออกจะกระเตื้องขึ้น

ตารางที่ 6 มูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ารายไตรมาสปี 2552และช่วงเดือนม.ค.-ต.ค.52
          มูลค่าส่งออก                                            2552

ไตรมาสที่ 1 ไตรมาสที่ 2 ไตรมาสที่ 3 ม.ค.-ต.ค.

มูลค่าส่งออก (ล้านเหรียญสหรัฐ)                    3,216.66    3,723.89    4,263.07    12,807.45
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน(%)         -17.95       15.77       14.48            -
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(%)  -28.92      -18.06      -10.75       -16.74

ที่มา กรมศุลกากร, ธันวาคม 2552

สินค้าส่งออกในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2552 ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงทั้งสิ้นซึ่งมีสัดส่วนการส่งออก 66.05% ของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ารวม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การส่งออกของเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมทั้งหมดปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน

หากพิจารณาสินค้าเครื่องปรับอากาศ ที่มีมูลค่าส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ในหลายปีที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง 29.67% เนื่องจากตลาดหลักทั้ง 2 ตลาด อันได้แก่ อียู และ ตะวันออกลางที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ กลุ่มตู้เย็น และเครื่องคอมเพรสเซอร์ก็มีการปรับตัวลดลงเช่นกันแตกต่างกันที่มีตลาดหลักของการส่งออกที่แตกต่างกัน กล่าวคือ การส่งออกตู้เย็นมีการส่งออกไปยังอาเซียนเป็นหลัก และการส่งออกเครื่องคอมเพรสเซอร์ไปยังญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่งทั้งตลาดอียู อาเซียน และญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกมาก ทำให้ยอดรวมการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมปรับลดลงค่อนข้างสูง

ตารางที่ 8 มูลค่าส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจำแนกตามตลาดส่งออกสำคัญช่วงเดือนม.ค.—ต.ค.ปี 2552
          ตลาดส่งออก          US         EU         JP       ASEAN      CN       other      total
มูลค่าส่งออก(ล้านเหรียญสหรัฐ)  1,625.64   1,918.63   1,810.18   2,407.11   873.81   4,172.08   12,807.45
อัตราการเปลี่ยนแปลง(%)         -7.48     -26.26     -20.98     -17.17    -0.40     -15.69      -16.74
สัดส่วน(%)                    12.69      14.98      14.13      18.79     6.82      32.59         100

ที่มา กรมศุลกากร, ธันวาคม 2552

โครงสร้างตลาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า 3 อันดับแรก ประกอบด้วย อาเซียน อียู และญี่ปุ่น โดยมีสัดส่วนรวม 3 ตลาดหลักดังกล่าว 47.9% ถึงแม้จะมีสัดส่วนค่อนข้างสูง แต่อัตราการขยายตัวลดลงค่อนข้างสูงด้วยเช่นกันเนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาในตลาดดังกล่าว

ตลาดจีนและตลาดสหรัฐ มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า 6.88% และ 12.69% ตามลำดับ แต่มีอัตราการหดตัวน้อยกว่า เนื่องจากลักษณะสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ตอบสนองจำเป็นต่อความต้องการของตลาดดังกล่าว และสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อความต้องการของผลิตภัณฑ์ โดยที่มีการชะลอคำสั่งซื้อเนื่องจากสินค้าคงคลังยังมีเหลืออยู่บ้าง

ตลาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า

ตลาดอาเซียน

สินค้าหลักที่มีมูลค่าส่งออกไปยังตลาดอาเซียน 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศมอเตอร์ขนาดเล็ก และตู้เย็น มีสัดส่วนการส่งออกรวมทั้ง 3 อันดับแรกคือ 35.62% ของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมในตลาดดังกล่าว

เป็นที่น่าสังเกตว่า สินค้าสำเร็จรูปส่วนใหญ่จะมีการปรับตัวลดลงเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะสินค้าหลักของไทยส่งออกไปยังตลาดดังกล่าว ขณะที่ส่วนประกอบ เช่น มอเตอร์ขนาดเล็ก มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.37% อันเป็นสัญญาณที่ดีเนื่องจากส่วนประกอบดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มในอนาคตน่าจะมีคำสั่งซื้อสินค้าสำเร็จรูปเข้ามาในตลาดอาเซียนมากขึ้นในช่วงถัดไป

ตลาดสหภาพยุโรป

ตลาดอียูถือเป็นตลาดหลักในการส่งออกเครื่องปรับอากาศมีสัดส่วนการส่งออกเครื่องปรับอากาศ 22.05% ของมูลค่าส่งออกเครื่องปรับอากาศทั้งหมด ซึ่งในช่วงกลางปี 2549 ชะลอลงบ้างจากมาตรการที่มิใช่ภาษี และกลับกระเตื้องขึ้นในปี 2550 และ 2551 พร้อมกับกระแสโลกร้อน

ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม 2552 มีการปรับตัวลดลงแล้ว 52.49% ซึ่งคำสั่งซื้อของตลาดดังกล่าวมีผลต่อยอดรวมของมูลค่าการส่งออกเครื่องปรับอากาศค่อนข้างมาก

กล้องถ่าย TV, VDO เป็นสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงในตลาดนี้ โดย 10 เดือนที่ผ่านมาปี 2552 มีมูลค่าส่งออก 366.82 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนมูลค่าส่งออก 38.35% ของมูลค่าส่งออกกล้องถ่าย TV, VDO ทั้งหมด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 30.34%

ตลาดญี่ปุ่น

ตลาดญี่ปุ่น มีผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก 3 อันดับแรก ได้แก่ มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า สำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม ตู้เย็น และสายไฟ ชุดสายไฟ มีการส่งออก 261.28 200.95 และ 137.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ

สำหรับเตาอบไมโครเวฟมีมูลค่าส่งออกเร่งตัวขึ้นในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2552 ทำให้มูลค่าส่งออกโดยรวมในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1.81% เนื่องจากคำสั่งซื้อจากสินค้าที่มีการปรับเปลี่ยนรุ่นที่มูลค่าค่อนข้างสูงมากขึ้น ประกอบกับคำสั่งซื้อเก่าในช่วงต้นปียังคงมีมาก่อนจะปิดปีงบประมาณของบริษัทญี่ปุ่นโดยทั่วไป

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ภาวะการผลิต

ภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โดยดูจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2552 ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวลดลงทุกผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะ Other IC โดยที่มีการปรับตัวลดลงในช่วงม.ค.-ก.ย. แต่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนในเดือนต.ค.52 เป็นเดือนแรก ประกอบกับการเร่งการผลิตของช่วงก่อนหน้าค่อนข้างมากทำให้มีสินค้าคงคลังเหลือมากพอที่ยังไม่ต้องผลิตใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีการปรับตัวลดลงในอัตราที่ชะลอลงซึ่งเกิดจากความขาดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโดยรวมว่าจะมีมาตรการในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจทั่วโลก ขณะที่ HDD เซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนต้นน้ำของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปหลายอย่างมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแต่เป็นช่วงระยะสั้น และมีความไม่แน่นอนสูง ส่วนใหญ่ทดแทนสินค้าคงคลังที่เริ่มทะยอยขายออกในช่วงหยุดหรือชะลอการผลิต แต่คำสั่งซื้อจากความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงต้องเฝ้าจับตาดูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคำสั่งซื้อในแต่ละเดือนยังคงผันผวน ในลักษณะบางเดือนปรับตัวสูงขึ้น บางเดือนปรับตัวลดลง ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังการผลิตในแต่ละเดือนเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ผลกระทบจากการผลิตที่เกิดจากชะลอการผลิตและหยุดการผลิตในช่วงปลายปี 2551 และต้นปี 2552 ทำให้การระดมแรงงานกลับเข้ามาทำงานใหม่ทำได้ค่อนข้างยากและเป็นผลทำให้ขาดแคลนแรงงานในภาคปฏิบัติมากขึ้น ส่งผลต่อการส่งมอบงานที่เริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาอีก

ตารางที่ 9 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์รายไตรมาสปี 2552และม.ค.—ต.ค.52
          ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม                                      2552

ไตรมาสที่ 1 ไตรมาสที่ 2 ไตรมาสที่ 3 ม.ค.—ต.ค.

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์                     328.29      418.82      495.87     422.38
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (%)          -20.88       27.58       18.40          -
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(%)    -23.49        0.00        2.07      -5.71

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, ธันวาคม 2552

ตารางที่ 10 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ช่วงเดือนม.ค.—ต.ค.ปี 2552
          ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม           ม.ค.-ต.ค.52           ม.ค.—ต.ค.51           %YoY
การผลิตอิเล็กทรอนิกส์                           422.38                447.95          -5.71
Semiconductor devices transistors          124.21                140.97         -11.89
Monolithic integrated circuits             123.77                155.06         -20.18
Other IC                                   196.32                269.31         -27.10
Hard Disk Drive                            845.36                862.82          -2.02
Printer                                     15.22                 22.02         -30.87

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, ธันวาคม 2552

หมายเหตุ %YoY การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุปกรณ์ประเภท IC ปรับตัวลดลงมากเนื่องจากภาวะความต้องการของตลาดโลกที่มีความต้องการชะลอตัวลง ดังนั้น คำสั่งซื้อหลังจากช่วง 10 เดือนที่ผ่านมานั้นมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเนื่องจากตลาดคู่ค้าของอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นส่วนใหญ่เป็นตลาดสหรัฐอเมริกา อียู แต่ยังพอมีตลาดใหม่ๆที่ยังคงมีความต้องการอุปกรณ์ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์และสินค้า Consumer Electronics ด้วย จะส่งผลให้ไทยมีคำสั่งซื้อจากส่วนประกอบและอุปกรณ์จากตลาดเหล่านี้ทดแทนตลาดเดิมได้ ถึงแม้ปริมาณและราคาอาจไม่สูงมากนักก็ตาม

ภาวะการตลาด

มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2552 มีมูลค่า 21,563.13 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 14.96 ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องจากราคาเฉลี่ยลดลงจากเดิม และปริมาณการสั่งซื้อปรับตัวลดลงด้วยเช่นกันโดยเฉพาะตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกา และจีน เป็นต้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในภาวะถดถอย

ตารางที่ 11 มูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์รายไตรมาสปี 2552และม.ค.—ต.ค.52
          มูลค่าส่งออก                                               2552

ไตรมาสที่ 1 ไตรมาสที่ 2 ไตรมาสที่ 3 ม.ค.—ต.ค.

มูลค่าส่งออก (ล้านเหรียญสหรัฐ)                        5,065.3    6,346.44    7,559.37   21,563.13
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (%)           -22.52       25.29       19.11           -
อัตราการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (%)    -33.02      -13.79       -2.91      -14.96

ที่มา กรมศุลกากร, ธันวาคม 2552

สินค้าที่ส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งของอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ เช่น HDD LCD Printer มีมูลค่าส่งออกปรับตัวลดลงในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา 15.45%

ตารางที่ 13 มูลค่าส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จำแนกตามตลาดส่งออกในช่วงเดือนม.ค.—ต.ค.ปี 2552
          ตลาดส่งออก          US          EU         JP         ASEAN        CN        other         total
มูลค่าส่งออก(ล้านเหรียญสหรัฐ)  3,239.38    3,245.47    2,114.73    3,247.40    4,546.88    5,169.27    21,563.13
อัตราการขยายตัว(%)           -21.91      -20.99      -22.23       -7.90      -13.63       -7.52       -14.96
สัดส่วน(%)                    15.02       15.05        9.81       15.06       21.09       23.97          100

ที่มา กรมศุลกากร, ธันวาคม 2552

ตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยมีมูลค่าส่งออกและสัดส่วนการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดถึง 21.09% ได้แก่ ตลาดจีน โดยมีมูลค่าส่งออก 4,546.88 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมา คือ ตลาดอาเซียน มีมูลค่าการส่งออก 3,247.40 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลง7.90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกของตลาดร้อยละ 15.06

ตลาดส่งออกอิเล็กทรอนิกส์

ตลาดจีน

สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังประเทศจีน ได้แก่ ส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์มีมูลค่าส่งออกในช่วงมกราคมถึงกันยายนของปีนี้ มีมูลค่า 3,465.29 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วนส่งออกมากที่สุด 27.33% ของมูลค่าส่งออกส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดทั้งนี้ จีนเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าสำเร็จรูปไปยังภูมิภาคต่างๆ ประกอบกับไทยมีการผลิตส่วนประกอบเพื่อส่งออกค่อนข้างมากเช่นกัน ทำให้ภาวะการส่งออกส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ของไทยนั้นขึ้นกับตลาดส่งออกจีนที่ได้รับคำสั่งซื้อจากความต้องการของสินค้าสำเร็จรูปอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลก

ตลาดสหรัฐอเมริกา

ตลาดสหรัฐอเมริกา เคยเป็นตลาดหลักของส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์เช่นกัน ปัจจุบันเป็นตลาดส่งออกอันดับสามของส่วนประกอบนี้มีสัดส่วนประมาณ 18.21% เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการ Logistics และ Supply Chain ที่มีคำสั่งซื้อทางภูมิภาคเอเชียมากขึ้นการผลิตและขายในภูมิภาคเดียวกันจึงเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้ส่วนหนึ่ง ประกอบกับช่วงปี 2552 เศรษฐกิจคู่ค้าเดิมนั้นมีแนวโน้มชะลอลง ทำให้ตลาดดังกล่าวปรับตัวลดลงถึง 21.91%

ภาพรวมแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2552 และประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมปี 2553

จากการประมาณการดัชนีการส่งสินค้าประจำเดือนธันวาคม 2552 ของแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2552 โดยดูจากดัชนีการส่งสินค้าของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 15.56 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้าบางผลิตภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ปรับตัวลดลงร้อยละ 20.07 ซึ่งสอดคล้องกับการประมาณการภาวะอุตสาหกรรมเครื่องคอมเพรสเซอร์ ที่ปรับตัวลดลง ร้อยละ 4.55 เช่นกันขณะที่ อุตสาหกรรมตู้เย็น ในปี 2552 ยังคงปรับตัวลดลงร้อยละ 8.59 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2552 ประมาณการว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 3.04 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ HDD ค่อนข้างทรงตัว 0.49% แต่ IC ปรับตัวลดลง 19.27% ทั้งนี้เนื่องจากส่วนประกอบและชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับความต้องการในตลาดโลก ซึ่งตัวแปรที่ชี้นำส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมของประเทศที่มีความรุดหน้าทางเทคโนโลยี ได้แก่ ตัวแปรดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศ OECD ดัชนีผลผลิต Electronic Index ของญี่ปุ่นเป็นต้น ซึ่งมีการปรับตัวดีขึ้นโดยลำดับหลังจากในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 2 ของปี 2552ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกลับฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นมา

ประมาณการแนวโน้มภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงปี2553 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า ภาพรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประมาณ 18.64% ทั้งนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.31 ซึ่งจากการผลิตที่มีฐานตัวเลขทางสถิติที่ค่อนข้างต่ำ ในปี2552 ประกอบกับตัวแปรที่ชี้นำการผลิตหลายตัวของประเทศพัฒนาแล้วปรับตัวสูงขึ้นในหลายประเทศ และการเร่งตัวขึ้นของการผลิต HDD IC และเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีผลการประมาณการอัตราการขยายตัว ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.53% 14.54% และ 12.86% ซึ่งผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ไอที เป็นแรงผลักดันหลักที่ทำให้ชิ้นส่วนและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้แบบจำลองดังกล่าวไม่ได้รวมตัวแปรอื่นๆ เช่น ตัวเลขการว่างงานในสหรัฐอเมริกาที่ไม่ได้ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดการณ์ว่าฟื้นตัวอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอีกระลอก หรือเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่สามารถคาดการณ์มาก่อนล่วงหน้าได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ