สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2552 และแนวโน้มปี 2553(อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 20, 2010 15:31 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ของประเทศไทยมีผู้ประกอบเป็นจำนวนมาก และมีความหลากหลายของประเภทผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเนื่องจากเคมีภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์เคมีพื้นฐานก่อให้เกิดการผลิตต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นปลายอื่นๆ

โครงสร้างการผลิต

ผู้ประกอบการ

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 75 สำหรับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นปลายเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนต่ำ ในขณะที่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เงินลงทุนสูง

โครงสร้างต้นทุนการผลิต

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานใช้วัตถุดิบและพลังงานค่อนข้างสูง แต่มีการใช้แรงงานต่ำ เช่น ในการผลิตโซเดียมไฮดรอกไซด์ และคลอรีนเหลว มีสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบร้อยละ45 พลังงานร้อยละ 50 และแรงงานร้อยละ 5 เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีการใช้วัตถุดิบค่อนข้างสูง เช่นในการผลิตสี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง มีสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบร้อยละ 82, 80-90, 85, 73 และ 70 ตามลำดับ

ทั้งนี้ วัตถุดิบส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานเป็นกิจการที่ต้องผลิตตลอด 24 ชั่วโมง

การตลาด

ในปี 2552 การนำเข้าเคมีภัณฑ์ (พิกัด 28-38 ยกเว้น 30 35 และ 36) มีมูลค่ารวมประมาณ 3.49 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.78 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับการส่งออกเคมีภัณฑ์ (พิกัด 28-38 ยกเว้น 30 35 และ 36) มีมูลค่ารวม 1.14 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.14 เมื่อเทียบกับปีก่อน ดุลการค้าเคมีภัณฑ์ขาดดุล 2.35 แสนล้านบาท

การส่งออก

ในปี 2552 การส่งออกเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าประมาณ 20,036 ล้านบาทลดลงร้อยละ 5.69 เมื่อเทียบกับปีก่อน เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ดมีมูลค่าส่งออกประมาณ 15,226 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.30 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออกประมาณ 25,543 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.67 เมื่อเทียบกับปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 2,143 ล้านบาทลดลงร้อยละ 14.41 เมื่อเทียบกับปีก่อน และอุตสาหกรรมสี มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 9,022 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.63 เมื่อเทียบกับปีก่อน

การนำเข้า

การนำเข้าเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ในปี 2552 มีมูลค่าประมาณ 60,125 ล้านบาทลดลงร้อยละ 7.68 เมื่อเทียบกับปีก่อน เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ดมีมูลค่านำเข้าประมาณ 71,028 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.01 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนปุ๋ยมีมูลค่านำเข้าประมาณ 70,998 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.98 เมื่อเทียบกับปีก่อน อุตสาหกรรมเครื่องสำอางมูลค่านำเข้าประมาณ 17,248 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.24 เมื่อเทียบกับปีก่อน และอุตสาหกรรมสีมูลค่านำเข้าประมาณ 30,216 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.27

สรุปภาวะอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์

ปี 2552

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในปี 2552 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ในภาวะชะลอตัวลง ทั้งนี้เนื่องจาก อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์โดยส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบเบื้องต้นในการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ ภายในประเทศ ซึ่งจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก กับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน น่าจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจหดตัว รวมทั้งอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ด้วย

ปี 2553

แนวโน้มของอุตสาหกรรรมเคมีภัณฑ์ ปี2553 ทั้งการผลิต จำหน่าย การนำเข้าและการส่งออกน่าจะดีขึ้น เนื่องจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ โครงการไทยเข้มแข็ง นอกจากนี้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นและภาวะเศรษฐกิจของโลกที่กำลังดีขึ้น

รัฐบาล/สศอ. มาตรการ/นโยบายเพื่อรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจ และช่วยเหลือผู้ประกอบการ

สศอ.ร่วมกับ UNIDO ได้มีการจัดสัมมนาให้ความรู้ผู้ประกอบการในเรื่องเกี่ยวกับกฎระเบียบ REACH เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและสามารถส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้อย่างต่อเนื่อง และได้ดำเนินงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจาก UNIDO จัดทำโครงการ Trade Capacity Building in Thailand through Upgrading Chemical Testing Laboratories to Meet REACH Requirements of EU และ โครงการ REACH Information Center ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ