สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2552 และแนวโน้มปี 2553(อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 20, 2010 15:34 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมผลิตภัณฑ์พลาสติก

ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตในประเทศไทย ที่สำคัญได้แก่ ถุงและกระสอบพลาสติกแผ่นฟิลม์ ฟอยล์ เป็นต้น อุตสาหกรรมพลาสติกมีจำนวนโรงงานทั่วประเทศประมาณ 3,500 โรงงาน (จากการสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2552) ทั้งนี้โรงงานส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และมีเพียงร้อยละ 10 ที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมที่ใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบในการผลิตที่สำคัญได้แก่ บรรจุภัณฑ์ สิ่งทอ รองเท้า วัสดุก่อสร้าง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น โครงสร้างต้นทุนในการผลิตอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกประกอบด้วยวัตถุดิบ(เม็ดพลาสติก) ร้อยละ 70 แรงงานร้อยละ 10 — 15 พลังงานร้อยละ 8 ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ร้อยละ 7-12

การตลาด

การส่งออก

ปี 2552 ผลิตภัณฑ์พลาสติกมีมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ 2,154.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ผลิตภัณฑ์หลักที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ แผ่นฟิล์ม ฟอยล์ และแถบ ถุงและกระสอบพลาสติก และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารพลาสติกโดยมีมูลค่าส่งออกประมาณ 691 490 และ 98 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ โดยลดลงร้อยละ 7.55 18.23 และ 18.72 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ

การนำเข้า

ปี 2552 ผลิตภัณฑ์พลาสติกมีมูลค่าการนำเข้ารวมประมาณ 2,142.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 15.07 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีการนำเข้าหลอดและท่อพลาสติกแผ่นฟิล์ม ฟอยล์และแถบพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ ซึ่งมีมูลค่านำเข้าประมาณ 90 805 และ1,247 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ โดยลดลงร้อยละ 14.04 9.36 และ 18.46 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา

สรุปภาวะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกปี 2552

ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ที่สหรัฐอมริกาส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะงักงัน รวมทั้งประเทศไทยด้วย และมีผลต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 โดยเศรษฐกิจของไทยได้ชะลอตัวลงมาก ทั้งด้านการผลิต การจำหน่าย การส่งออกและการนำเข้า อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมพลาสติกเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 และคาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 4 สถานการณ์จะดีขึ้นทั้งด้านการผลิต การจำหน่าย การส่งออก และนำเข้า ทั้งนี้เนื่องจาก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกามีการประกาศมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หรือประเทศจีนที่มีการปรับอัตราค่าธรรมเนียมในการส่งออกสินค้าลง เพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถอยู่รอดได้ รวมทั้งประเทศไทยที่ยังคงมาตรการลดการเก็บค่าน้ำ ค่าไฟ รถเมล์ การแจกเช็คช่วยชาติมูลค่า 2,000 บาท โครงการไทยเข้มแข็ง เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ก่อให้เกิดการนำเงินมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และเป็นแรงผลักในด้านการผลิต และลงทุนมากขึ้น อันจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมพลาสติกดีขึ้น

แนวโน้มผลิตภัณฑ์พลาสติก ปี 2553

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก ในช่วงปี 2553 น่าจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2552 เพราะมาตรการต่าง ๆ ของทั้งในและต่างประเทศ ที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และจากตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ดีขึ้นตามลำดับ รวมทั้งตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยด้วย จากเหตุผลดังกล่าว น่าจะส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมพลาสติกถือว่าเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนจึงน่าจะได้รับอานิสงห์จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล่านี้ไปในทิศทางที่ดีด้วยเช่นกัน

รัฐบาล/สศอ. มาตรการ/นโยบายเพื่อรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจ และช่วยเหลือผู้ประกอบการ

สศอ. ร่วมกับหน่วยงานของภาคเอกชน ได้จัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ การพัฒนาเทคโนโลยีและการจัดการ การเพิ่มความสามารถทางการตลาด และ การสร้างฐานข้อมูลอุตสาหกรรมพลาสติก โดยในปัจจุบันสศอ. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับ Plastic Intelligent Unit (PIU) ผ่านทางเว็บไซด์เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับผู้ประกอบการและภาครัฐในการวางแผน นโยบายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกนอกจากนี้ ในปี 2553 สศอ.ยังได้รับงบประมาณมาเพื่อจัดทำโครงการพัฒนาเม็ดคอมพาวน์ด และโครงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมพลาสติก ภายใต้โครงการเพิ่มผลผลิต Productivity ซึ่งโครงการต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ฯ ที่จะขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมพลาสติกก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ