สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2552 และแนวโน้มปี 2553(อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 20, 2010 15:40 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมปิโตรเคมี

  ปี                         ปิโตรเคมีขั้นต้น(ล้านบาท)        ปิโตรเคมีขั้นกลาง(ล้านบาท)      ปิโตรเคมีขั้นปลาย(ล้านบาท)
                              นำเข้า       ส่งออก           นำเข้า       ส่งออก           นำเข้า       ส่งออก
 2548                      9,724.15   36,639.37       47,766.15   21,681.55       64,510.56  151,315.07
 2549                     18,896.59   28,109.87       38,052.68   50,435.04       64,853.26  154,147.75
 2550                     25,896.13   18,870.75       29,790.44   54,592.78       74,319.77  167,531.50
 2551                     22,814.76   20,349.16       30,894.10   44,227.06       90,253.86  171,675.33
 2552*                     9,915.54   27,230.24       20,386.41   44,977.90       70,007.13  144,427.05
 อัตราการขยายตัว2552*/2551(%)  -56.53       83.41          -34.01        1.70          -22.43      -15.87

หมายเหตุ : * ตัวเลขคาดการณ์

ภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปี 2552

สำหรับปี 2552 ของปีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยช่วงครึ่งหลังมีทิศทางการปรับตัวที่ดีขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของภาครัฐ โดยการสร้างอุปสงค์ของตลาดภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากความผันผวนของราคาน้ำมัน ภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังการผลิตใหม่ สินค้าราคาถูกจากจีน และตะวันออกกลางที่จะเริ่มทยอยเข้าสู่เอเชียในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 เป็นต้นไป โดยกำลังการผลิตใหม่นี้จะมีผลต่อราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในภูมิภาค

แนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปี 2553

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2553 ถือว่ายังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเต็มไปด้วยความผันผวน เนื่องจากกำลังการผลิตปิโตรเคมีของโลกจะทยอยเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังการผลิตใหม่จากประเทศแถบตะวันออกกลาง และจีน ซึ่งคาดว่าจะออกสู่ตลาดตั้งแต่ในช่วงครึ่งหลังของปีพ.ศ. 2552 เป็นต้นไป ประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี พ.ศ. 2551 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงในปีพ.ศ. 2552 และอาจจะต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2553 หรือจะยาวนานกว่านั้น เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังไม่ชัดเจน และไม่มีทิศทางที่แน่นอน ประกอบกับความต้องการสินค้า ปิโตรเคมีที่หดตัวลงเนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ผลิตขึ้นมาเพื่อนำไปใช้กับสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์

นโยบายรัฐบาล/สศอ.

  • สศอ. จัดทำโครงการข้อมูลอุตสาหกรรมเชิงเปรียบเทียบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน(Competitive Benchmarking) สาขาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 2 จากการศึกษาโดยภาพรวมสรุปได้ว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะในเชิงการผลิตจัดได้ว่ามีสถานภาพที่เข้มแข็ง
  • ภาครัฐ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศ เรื่องโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2552 โดยอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ถูกจัดเข้าอยู่ในบัญชีโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบฯ ด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ