สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2552 และแนวโน้มปี 2553(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 22, 2010 15:24 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ปี 2552 คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตรวม 10.48 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.56 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัว อุปสงค์ภายในประเทศยังขยายตัว โดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบน รวมทั้งการตอบสนองต่อโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ เช่น คอนโดมิเนียม นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง

2. การตลาด

2.1 การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี 2552 คาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายรวม 3.88 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.23 เนื่องจากผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจเจาะตลาดภายในประเทศมากขึ้น มีการจัดกิจกรรมทั้งที่อยู่อาศัยและเครื่องเรือนเป็นจำนวนมากเพื่อกระตุ้นยอดขาย นอกจากนี้ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จากมาตรการเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์

2.2 การส่งออก

การส่งออกของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี 2552 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 2,107.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 9.95 เนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น อยู่ใน

ภาวะชะลอตัว

รายละเอียดการส่งออกในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่น ๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน คาดว่ามีมูลค่าการส่งออก 891.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯโดยเมื่อเทียบกับปีก่อนมูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 17.37 สินค้ากลุ่มครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 42 ของมูลค่าการส่งออกในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทเครื่องเรือนไม้ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และ ออสเตรเลีย

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วยเครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ คาดว่ามีมูลค่าการส่งออก 266.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบกับปีก่อนมูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 22.75 สินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกร้อยละ 13 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทกรอบรูปไม้ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ไม้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์

3) กลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ คาดว่ามีมูลค่าการส่งออก 949.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเมื่อเทียบกับปีก่อนมูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.60 สินค้ากลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่นมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 45 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด ผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ ไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไม้ไฟเบอร์บอร์ดและไม้อัด ตามลำดับ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม และอินโดนีเซีย

2.3 การนำเข้า

การนำเข้าของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของปี 2552 คาดว่ามีมูลค่า 478.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 27.28 โดยการนำเข้าสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ท่อนประเภทไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้แปรรูปและไม้ซุงซึ่งนำเข้ามาผลิตสินค้าต่อเนื่องเช่น เครื่องเรือนประเภทต่าง ๆ โดยไม้ซุงท่อนส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ และมาเลเซีย สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทไม้หรือไม้แปรรูปประเภทต่าง ๆ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว และสหรัฐอเมริกา และในส่วนของผลิตภัณฑ์ไม้อัดและไม้วีเนียร์นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตามลำดับ

3. สรุปและแนวโน้ม

การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในปี 2552 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ความต้องการที่มีอยู่ โดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบน รวมทั้งโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ เช่น คอนโดมิเนียม ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาลงการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในปี 2552 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจเจาะตลาดภายในประเทศมากขึ้น มีการจัดรายการส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมาตรการของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของประชาชน

สำหรับแนวโน้มของการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัว ซึ่งน่าจะส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กระเตื้องขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนอกจากนี้ ตลาดกลางและตลาดบนยังมีศักยภาพการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี 2552 เมื่อเทียบกับปีก่อน คาดว่าจะลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและโดยเฉพาะเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น อยู่ในภาวะชะลอตัว

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนใน ปี 2553 คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว อีกทั้งตลาดรองของไทย เช่น ออสเตรเลีย จีน และประเทศสมาชิกอาเซียน ขยายตัวได้ดีอย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบ คือ ความผันผวนของราคาน้ำมัน และแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทท่ามกลางการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและของเศรษฐกิจโลก ผู้ประกอบการควรปรับปรุงการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน ค้นหาศักยภาพหรือความถนัดของตน ศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค และพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่คำนึงถึงการแข่งขันด้านราคาแต่เพียงปัจจัยเดียว

ตารางที่ 1 การผลิตของเครื่องเรือนทำด้วยไม้

หน่วย : ล้านชิ้น

           การผลิต           2549           2550           2551           2552*
 เครื่องเรือนทำด้วยไม้          18.46          16.64          10.12           10.48
 อัตราการขยายตัว (%)         -9.82          -9.86         -39.18            3.56

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

หมายเหตุ : 1. จากการสำรวจโรงงาน 43 โรงงาน

2. ปี 2552 เป็นตัวเลขประมาณการ

ตารางที่ 2 การจำหน่ายในประเทศของเครื่องเรือนทำด้วย ไม้

หน่วย : ล้านชิ้น

           การผลิต           2549           2550           2551           2552*
 เครื่องเรือนทำด้วยไม้           3.73           2.36           3.52           3.88
 อัตราการขยายตัว (%)        -54.51         -36.73          49.15          10.23

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

หมายเหตุ : 1 จากการสำรวจโรงงาน 43 โรงงาน

2. ปี 2552 เป็นตัวเลขประมาณการ

ตารางที่ 3 มูลค่าการส่งออกไม้และเครื่องเรือน

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

           รายการ               มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐฯ                     อัตราการขยายตัว : ร้อยละ
                         2549      2550      2551       2552*           2550      2551      2552*
 1.เครื่องเรือนและชิ้นส่วน 1,098.69  1,153.42  1,078.51     891.15            4.98     -6.49     -17.37
   1.1 เครื่องเรือนไม้     612.08    599.32    554.52     501.75           -2.08     -7.48      -9.52
   1.2 เครื่องเรือนอื่น ๆ   279.12    293.03    241.58     196.12            4.98    -17.56     -18.82
   1.3 ชิ้นส่วนเครื่องเรือน  207.49    261.07    282.41     193.28           25.82      8.17     -31.56
 2. ผลิตภัณฑ์ไม้           364.86    379.58    345.17     266.65            4.03     -9.07     -22.75
   2.1 เครื่องใช้ทำด้วยไม้   81.57     90.71     88.69      67.59           11.21     -2.23     -23.79
   2.2 อุปกรณ์ก่อสร้างไม้   124.51    140.69    112.31      72.44           12.99    -20.17     -35.50
   2.3 กรอบรูปไม้        107.73     91.49     82.56      80.96          -15.07     -9.76      -1.94
   2.4 รูปแกะสลักไม้       51.05     56.69     61.61      45.66           11.05      8.68     -25.89
 3.ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น    697.32    807.46    916.40     949.43           15.79     13.49       3.60
   3.1 ไม้แปรรูป         268.65    273.46    269.17     337.32            1.79     -1.57      25.32
   3.2 แผ่นไม้วีเนียร์        7.87      8.27      5.70       2.27            5.08    -31.08     -60.18
   3.3 ไม้อัด            217.01    232.99    261.76     227.95            7.36     12.35     -12.92
   3.4 Fiber Board     157.32    224.40    245.71     237.88           42.64      9.50      -3.19
   3.5 ผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ     46.47     68.34    134.06     144.01           47.06     96.17       7.42
 รวม                 2,160.87  2,340.46  2,340.08   2,107.23            8.31     -0.02      -9.95

ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

หมายเหตุ : ปี 2552 เป็นตัวเลขประมาณการ

ตารางที่ 4 มูลค่าการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

     รายการ            มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐฯ                อัตราการขยายตัว : ร้อยละ
                 2549     2550      2551     2552*        2550     2551     2552*
 ไม้ซุง          110.76    90.94    115.21    48.86       -17.89    26.69    -57.59
 ไม้แปรรูป       374.97   356.27    363.24    278.37       -4.99     1.96    -23.36
 ไม้อัด วีเนียร์     96.34   113.39    122.09    101.36       17.70     7.67    -16.98
 ผลิตภัณฑ์ไม้อื่นๆ    45.13    49.99     57.12     49.66       10.77    14.26    -13.06
 รวม           627.20   610.59    657.66    478.25       -2.65     7.71    -27.28

ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

หมายเหตุ : ปี 2552 เป็นตัวเลขประมาณการ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ