สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2552 และแนวโน้มปี 2553(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 22, 2010 15:36 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในปี 2552 คาดว่า จะมีปริมาณ 28,339 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 9.9 ประเภทยาที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาก คือ ยาน้ำ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาลและร้านขายยาจำนวนมาก ทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และเป็นการรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองไม่ให้ลดลง นอกจากนี้ ยาเม็ด มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์เดิม และการผลิตยาที่ใช้เฉพาะทาง เช่น ยาลดคลอเลสเตอรอล และยาเกี่ยวกับโรคหัวใจ ซึ่งเพิ่งผ่านการขึ้นทะเบียน ส่งผลให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในปี 2552 คาดว่า จะมีปริมาณ 26,889.7 ตันเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 8.6 โดยยาที่มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาก คือ ยาน้ำ เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตต่ำ จึงจำหน่ายได้ง่ายกว่ายาชนิดอื่น ประกอบกับความต้องการของตลาดเพิ่มสูงขึ้น

3. การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคปี 2552 คาดว่า จะมีมูลค่าประมาณ 37,074.9 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 10.4 โดยตลาดนำเข้ายาที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ากว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด โดยยาที่นำเข้าส่วนใหญ่มีสิทธิบัตร และมีราคาแพง ซึ่งนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลก นอกจากนี้การนำเข้ายาสามัญ ที่เป็นคู่แข่งกับผู้ผลิตในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า แม้มูลค่าการนำเข้าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทำให้โรงพยาบาลและร้านขายยาสั่งซื้อยาราคาแพงลดลง ประกอบกับโรงพยาบาลของรัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญมากขึ้น เพื่อควบคุมการใช้ยาให้มีความเหมาะสมและลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มูลค่าการนำเข้ายาไม่เติบโตมากเช่นปีก่อน

4. การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคในปี 2552 คาดว่า จะมีมูลค่าประมาณ 5,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 0.8 ตลาดส่งออกยาสำคัญของไทย ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยการส่งออกไปประเทศดังกล่าวมีมูลค่ากว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจได้ส่งผลให้ผู้บริโภคในตลาดโลกหันมาซื้อยาสามัญที่ผลิตเลียนแบบยาต้นตำรับมากขึ้น เพราะมีราคาถูกกว่า เป็นการสร้างโอกาสทำให้การส่งออกยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

5. นโยบายภาครัฐ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2551 และมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2551 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แบบมีส่วนร่วม และให้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เป็นกลไกหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ พร้อมทั้งประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำเสนอ

6. สรุปและแนวโน้ม

ปริมาณการผลิตยา และการจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในปี 2552 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาลและร้านขายยามากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และเป็นการรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองไม่ให้ลดลง รวมทั้งมีการเพิ่มการผลิตยาที่เพิ่งผ่านการขึ้นทะเบียนด้วย โดยประเภทของยาที่เป็นที่ต้องการของตลาด คือ ยาน้ำ และยาเม็ด ด้านการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการนำเข้ายาสิทธิบัตร และยาสามัญ แต่เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทำให้การสั่งซื้อยาราคาแพงลดลง ทั้งโรงพยาบาลและร้านขายยา นอกจากนี้โรงพยาบาลของรัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น เพื่อควบคุมการใช้ยาให้มีความเหมาะสมและลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง

สำหรับการส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจได้ส่งผลให้ผู้บริโภคในตลาดโลกหันมาซื้อยาสามัญที่ผลิตเลียนแบบยาต้นตำรับมากขึ้น เพราะมีราคาถูกกว่าทำให้การส่งออกยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในอนาคตด้วยสำหรับแนวโน้มในปี 2553 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยาในประเทศ จะมีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากภาครัฐให้ความสำคัญกับการควบคุมการเบิกค่าใช้จ่ายด้านยา และสนับสนุนให้มีการใช้ยาที่ผลิตในประเทศ แทนยานำเข้ามากขึ้น ประกอบกับโครงการหลักประกันสุขภาพยังคงดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง และค่าเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2553 มีค่าเหมาจ่ายรายหัว 2,406 บาทต่อคน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีส่วนเอื้อต่อการขยายตัวด้านการผลิตและการจำหน่ายยาในประเทศเพิ่มขึ้น

แม้ความต้องการใช้ยาสามัญในตลาดโลกจะมีมากขึ้น เพราะมีราคาถูก ซึ่งเป็นโอกาสในการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย แต่เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องการขึ้นทะเบียนยาแบบ ACTD (ASEAN Common Technical Dossier) ของประเทศในกลุ่มอาเซียน (ซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกหลัก) เช่น ปัญหาเรื่องระบบเอกสารในการขึ้นทะเบียน บุคลากรไม่เพียงพอ และความไม่พร้อมในทางปฏิบัติของบางประเทศทำให้การขึ้นทะเบียนล่าช้า หรือขึ้นทะเบียนไม่ได้ จึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกอาจมีทิศทางทรงตัวหรือปรับดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน ในส่วนมูลค่าการนำเข้าคาดว่า มีแนวโน้มขยายตัวแต่ในอัตราที่ลดลงเนื่องจากโรงพยาบาลของรัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาครัฐมีความเข้มงวดในการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักมากขึ้น

ตารางที่ 1 ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในประเทศแยกตามรายผลิตภัณฑ์

หน่วย : ตัน

          ประเภท           2550              2551             2552e
ยาเม็ด                   5,823.0           5,882.1           6,079.8
%  เทียบกับปีก่อน                                 1.0               3.4
ยาน้ำ                   12,455.4          13,384.4          15,694.7
%  เทียบกับปีก่อน                                 7.5              17.3
ยาแคปซูล                   652.7             725.2             730.2
%  เทียบกับปีก่อน                                11.1               0.7
ยาฉีด                      431.6             485.3             402.5
%  เทียบกับปีก่อน                                12.4             -17.1
ยาแดงทิงเจอร์ไอโอดีน         117.7             112.8             129.9
%  เทียบกับปีก่อน                                -4.2              15.2
ยาครีม                   2,333.0           2,077.4           2,126.1
%  เทียบกับปีก่อน                               -11.0               2.3
ยาผง                    3,906.6           3,119.2           3,175.8
%  เทียบกับปีก่อน                               -20.2               1.8
รวม                    25,720.0          25,786.4          28,339.0
%  เทียบกับปีก่อน                                 0.3               9.9

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

หมายเหตุ : จำนวนโรงงานที่สำรวจรวมทั้งสิ้น 30 โรงงาน (ยาเม็ด 28 โรงงาน ยาน้ำ 26 โรงงาน ยาแคปซูล 24 โรงงาน ยาฉีด 8 โรงงาน ยาแดงทิงเจอร์ไอโอดีน 4 โรงงาน ยาครีม 15 โรงงาน และยาผง 15 โรงงาน): ปี 2552 เป็นตัวเลขประมาณการ

ตารางที่ 2 ปริมาณการจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในประเทศแยกตามรายผลิตภัณฑ์

หน่วย : ตัน

          ประเภท             2550              2551             2552e
ยาเม็ด                     5,617.4           5,835.6           5,866.7
%  เทียบกับปีก่อน                                   3.9               0.5
ยาน้ำ                     15,334.2          15,527.5          17,722.2
%  เทียบกับปีก่อน                                   1.3              14.1
ยาแคปซูล                     771.0             818.5             810.6
%  เทียบกับปีก่อน                                   6.2              -1.0
ยาฉีด                        309.4             350.3             312.3
%  เทียบกับปีก่อน                13.2             -10.8
ยาแดงทิงเจอร์ไอโอดีน           115.5             112.4             127.6
%  เทียบกับปีก่อน                                  -2.7              13.5
ยาครีม                     2,060.7           1,631.9           1,534.2
%  เทียบกับปีก่อน                                 -20.8              -6.0
ยาผง                        514.5             481.2             516.1
%  เทียบกับปีก่อน                                  -6.5               7.3
รวม                      24,722.7          24,757.4          26,889.7
%  เทียบกับปีก่อน 0.1 8.6

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

หมายเหตุ : จำนวนโรงงานที่สำรวจรวมทั้งสิ้น 30 โรงงาน (ยาเม็ด 28 โรงงาน ยาน้ำ 26 โรงงาน ยาแคปซูล 24 โรงงาน ยาฉีด 8 โรงงาน ยาแดงทิงเจอร์ไอโอดีน 4 โรงงาน ยาครีม 15 โรงงาน และยาผง 15 โรงงาน): ปี 2552 เป็นตัวเลขประมาณการ

ตารางที่ 3 มูลค่าการนำเข้า — ส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค
          มูลค่า (ล้านบาท)           2550           2551           2552e
มูลค่าการนำเข้า                  27,604.5       33,581.6        37,074.9
%  เทียบกับปีก่อน                                    21.7            10.4
มูลค่าการส่งออก                   4,860.1        5,418.2         5,463.0
%  เทียบกับปีก่อน                                    11.5             0.8

ที่มา : กรมศุลกากร

หมายเหตุ : รวบรวมจาก HS 3003 และ 3004

: ปี 2552 เป็นตัวเลขประมาณการ โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ