1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
1.1 การผลิต
การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ในปี 2552 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 16.73 เมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นของตลาดในประเทศและตลาดโลกลดลง ตามยอดการจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และจากการที่ความต้องการใช้ยางในตลาดโลกชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคายางมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศผู้ผลิตยางสำคัญของโลกหันมาร่วมมือกันลดปริมาณการผลิตและการส่งออกยาง เพื่อรักษาระดับราคายางในตลาดโลก
การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ปี 2552 ในกลุ่มยางนอกรถยนต์ โดยการผลิตของกลุ่มยางนอกรถยนต์นั่ง ยางนอกรถกระบะ ยางนอกรถบรรทุกและรถโดยสาร และยางนอกรถแทรกเตอร์ คาดว่าจะผลิตได้ 12.04, 3.64, 3.66 และ 0.26 ล้านเส้น ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน กลุ่มยางนอกรถยนต์มีปริมาณการผลิตลดลงในผลิตภัณฑ์ทุกประเภท ยกเว้นยางนอกรถแทรกเตอร์ ซึ่งมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.63 สำหรับกลุ่มยางนอกรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน และยางอื่นๆ มีปริมาณการผลิต 19.95,18.29 และ 0.51 ล้านเส้นตามลำดับ ซึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้มีปริมาณการผลิตลดลงทุกประเภท นอกจากนี้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางใน ประกอบด้วยยางในรถบรรทุกและรถโดยสาร ยางในรถจักรยานยนต์ และยางในรถจักรยาน คาดว่าจะมีปริมาณการผลิต 1.79, 39.32 และ17.66 ล้านเส้น ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อนมีปริมาณการผลิตลดลงในทุกประเภทยกเว้นยางในรถจักรยานยนต์ที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.74 สำหรับในส่วนของถุงมือยาง ถุงมือตรวจโรค คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.66 เมื่อเทียบกับปีก่อน
1.2 การจำหน่ายในประเทศ
ในปี 2552 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.51 โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของยางแผ่น สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางของกลุ่มยางยานพาหนะ โดยรวมลดลง แบ่งออกเป็นการจำหน่ายของกลุ่มยางนอกรถยนต์ประมาณ 14.73 ล้านเส้น กลุ่มยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยานประมาณ 20.28 ล้านเส้น และกลุ่มยางในประมาณ 36.48 ล้านเส้น โดยกลุ่มยางนอกรถยนต์ และกลุ่มยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน มีปริมาณการจำหน่ายในประเทศลดลงจากปีก่อนร้อยละ 21.47 และ 2.70 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มยางในมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 4.24 โดยเพิ่มขึ้นในกลุ่มของยางในรถจักรยานยนต์ สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทถุงมือยาง ถุงมือตรวจโรค มีปริมาณการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 25.35
เมื่อพิจารณาในภาพรวม การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของยางแปรรูปขั้นต้น และผลิตภัณฑ์ยางกลุ่มยางยานพาหนะ ลดลงตามยอดการจำ หน่ายของอุตสาหกรรมรถยนต์ และรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของถุงมือยางไม่มีผลกระทบมากนัก แม้ว่าจะอยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซา เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ
2.การส่งออกและการนำเข้า
2.1 การส่งออก
การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกใน ปี 2552 จำนวน 3,633.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 46.51 โดยลดลงในผลิตภัณฑ์ทุกประเภทของการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้น เนื่องจากประเทศผู้ใช้ยางที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย มีความต้องการใช้ยางเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตยางรถยนต์และชิ้นส่วนที่ทำจากยางลดลง ตามยอดการจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลงอย่างมาก อันเป็นผลต่อเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นที่ลดลงนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้ส่งออกยางไทยหันไปส่งออกยางคอมปาวด์หรือยางผสม แทนยางแผ่น ยางแท่ง เนื่องจากจีนลดภาษีผลิตภัณฑ์ยางลงเหลือ ร้อยละ 0 ตั้งแต่ต้นปี 2552 ในขณะที่การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นยังคงเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 เท่าเดิม สำหรับตลาดส่งออกสำคัญยังคงเป็น จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา
ในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของหลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ใน ปี 2552 มีจำนวน 4,220.44 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปี ร้อยละ 7.25 โดยลดลงในผลิตภัณฑ์ทุกประเภทยกเว้น ยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ
เมื่อพิจารณาในภาพรวม มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยาง ที่ลดลงนี้เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราของโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าคงทน โดยเฉพาะรถยนต์ และยังรวมไปถึงการเปลี่ยนยางทดแทนออกไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยางรถยนต์ ที่เป็นผู้ใช้ยางพาราหลักถึง ร้อยละ 70 และอีกปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลต่อมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทยคือ การปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้ายางรถยนต์นั่ง และรถบรรทุกขนาดเล็กทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา จากประเทศจีนเป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 ปี ซึ่งมาตรการดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2552 โดยจะมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้ายางรถยนต์จากเดิมร้อยละ 4 เพิ่มเป็น ร้อยละ 35 ในปีแรก ร้อยละ 30 ในปีที่ 2 และร้อยละ 25 ในปีที่ 3 ซึ่งจากการที่สหรัฐอเมริกานำเข้ายางรถยนต์จากจีนลดลง อาจส่งผลต่อประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศที่ส่งออกยางแปรรูปขึ้นต้นไปยังอุตสาหกรรมยางรถยนต์ของจีน แต่ในขณะเดียวกันอาจกลายเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกยางรถยนต์ของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา
สำหรับความต้องการถุงมือยางในตลาดโลก ถึงแม้ในปี 2552 จะชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่แนวโน้มความต้องการยังคงขยายตัวได้ เป็นผลมาจากกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกตื่นตัวมากขึ้นต่อการป้องกันโรคติดต่อ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย
2.2 การนำเข้า
ใน ปี 2552 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางและเศษยาง และวัสดุทำจากยาง คาดว่าจะมีมูลค่า 1,107.07 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 23.85 ประเภทสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางวัลแคไนซ์ ยางรถยนต์ ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง ซึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อนมีการนำเข้าลดลงในทุกประเภท คิดเป็นร้อยละ 37.09, 32.23, 14.19 และ 23.41 ตามลำดับ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเยอรมนี
3. สรุปและแนวโน้ม
ในปี 2552 ความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นของตลาดในประเทศและตลาดโลกคาดว่าจะลดลง ตามยอดการจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลง จากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และจากความต้องการใช้ยางในตลาดโลกที่ชะลอตัวลงนี้ ส่งผลให้ราคายางมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศผู้ผลิตยางสำคัญของโลกหันมาร่วมมือกันลดปริมาณการผลิตและการส่งออกยาง เพื่อรักษาระดับราคายางในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นได้กระเตื้องขึ้นในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจีนทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น จึงมีการนำเข้ายางแปรรูปขั้นต้นจากไทยเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายหลังที่จีนได้มีการปรับลดภาษีรถยนต์บางรุ่นลง
สำหรับผลิตภัณฑ์ยาง ปี 2552 การผลิตผลิตภัณฑ์ยางในกลุ่มยางนอกรถยนต์และยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน คาดว่าจะลดลง ตามยอดการจำหน่ายของอุตสาหกรรมรถยนต์ และรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา อย่างไรก็ตาม การผลิตผลิตภัณฑ์ก็ได้เริ่มกระเตื้องขึ้นในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะฟื้นตัว สำหรับในส่วนของถุงมือยางไม่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะซบเซา เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ
สำหรับแนวโน้มใน ปี 2553 ภาวะอุตสาหกรรมยางแปรรูปขั้นต้น และผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะมีแนวโน้มขยายตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัว ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบในแง่วัตถุดิบ เป็นประเทศที่ผลิตยางพาราได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ทำให้ต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนสนใจที่จะร่วมลงทุนในธุรกิจยางรถยนต์ในประเทศไทย โดยให้ไทยเป็นฐานการผลิต ผลผลิตส่วนหนึ่งเพื่อส่งออกจำหน่ายในตลาดโลกและอีกส่วนหนึ่งเพื่อส่งกลับไปใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศของตนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนซึ่งยังเป็นอุตสาหกรรมที่สดใสและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจีนมีการพัฒนาการก่อสร้างทางหลวงและอุตสาหกรรมขนส่ง รวมทั้งรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นและจูงใจให้ซื้อรถยนต์ ทำให้ความต้องการรถยนต์สูง ซึ่งผลักดันให้เกิดความต้องการยางรถยนต์ หากโครงการเหล่านี้เข้ามาลงทุนจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราของไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทยในอนาคต อย่างไรก็ตาม อีกปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลต่อมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทยคือ การปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้ายางรถยนต์นั่ง และรถบรรทุกขนาดเล็กทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา จากประเทศจีนเป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 ปี ซึ่งมาตรการดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2552 โดยจะมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้ายางรถยนต์จากเดิมร้อยละ 4 เพิ่มเป็น ร้อยละ 35 ในปีแรก ร้อยละ 30 ในปีที่ 2 และร้อยละ 25 ในปีที่ 3 ซึ่งจากการที่สหรัฐอเมริกานำเข้ายางรถยนต์จากจีนลดลง อาจส่งผลต่อประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศที่ส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นไปยังอุตสาหกรรมยางรถยนต์ของจีน แต่ในขณะเดียวกันอาจกลายเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกยางรถยนต์ของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดส่งออกยางรถยนต์ที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะในปีแรกที่มาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกามีผลบังคับใช้ (ตุลาคม 2552 - กันยายน 2553) แต่ผลดังกล่าวจะค่อยๆลดลงในปีที่ 2 และ 3 เมื่ออัตราภาษีปรับลดลงมาเป็นร้อยละ 30 และ 25 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้น้อยลง อาจทำให้มีการผลักสินค้าไปสู่ตลาดอื่นๆมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นตลาดส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เน้นข้อได้เปรียบด้านราคามากกว่าคุณภาพ
สำหรับภาวะอุตสาหกรรมถุงมือยางใน ปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวได้ดี จากความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสหราชอาณาจักรสำหรับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย
สำหรับราคายางธรรมชาติในปี 2553 คาดว่ามีแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นมีหลายปัจจัย คือ แนวโน้มของเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะประเทศจีน มีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้มีความต้องการยางพาราจำนวนมาก เพื่อนำไปผลิตยางรถยนต์ นอกจากนี้เศรษฐกิจของประเทศอินเดียก็เริ่มดีขึ้นและมีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--