สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2552 และแนวโน้มปี 2553(อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 22, 2010 15:50 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ทั่วไป

อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งการส่งออกเป็นสำคัญ ดังนั้นการผันผวนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะส่งผลต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าว จากผลกระทบวิฤตการเงินโลก ทำให้ภาคการผลิตเริ่มชะลอตัวในปี2552 ซึ่งอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกันเนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ประสบปัญหาเศรษฐกิจซบเซา

2. การผลิต

ในปี 2552 อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังที่จดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม(ข้อมูลล่าสุด 21 ม.ค. 2552) มีประมาณ 1,014 โรง มีการจ้างงาน 108,136 คน สามารถแยกได้ดังนี้

อุตสาหกรรมฟอกย้อมแต่งสำเร็จหนัง 189 โรง มีแรงงาน 8,158 คน

อุตสาหกรรมรองเท้า 468 โรง มีแรงงาน 73,805 คน

อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง 357 โรง มีแรงงาน 26,173 คน

ในปี 2552 ดัชนีอุตสาหกรรมของรองเท้าและเครื่องหนังมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • การฟอกและตกแต่งหนังฟอก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ

3.1 ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงร้อยละ 3.2

  • การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 31.4 ดัชนีการส่งสินค้าลดลงร้อยละ 42.1 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงร้อยละ 49.8
  • การผลิตรองเท้า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 15.9 ดัชนีการส่งสินค้าลดลงร้อยละ 14.9 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1

3. การตลาด

การส่งออก

การส่งออกสินค้ารองเท้าและเครื่องหนังรวมในปี 2552 คาดว่าลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 20.0 ซึ่งทุกสินค้ามีอัตราการขยายตัวลดลง คือ รองเท้าและชิ้นส่วน, เครื่องใช้สำหรับเดินทาง, หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ลดลงร้อยละ 17.5, 22.0 และ 23.3 ตามลำดับ

รองเท้าและชิ้นส่วน ในปี 2552 คาดว่ามีการส่งออกลดลงจากปี 2551 ร้อยละ17.5 ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกเลดลง คือ รองเท้ากีฬา รองเท้าหนัง รองเท้าอื่นๆ และ ส่วนประกอบของรองเท้า ลดลงร้อยละ 30.7, 10.0, 4.2 และ 20.1 ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกเพิ่มขึ้น คือ รองเท้าแตะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 สำหรับตลาดส่งออกที่ลดลง (ม.ค.-ต.ค. 52) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลดลงร้อยละ 42.15, 16.29 และ 27.11 ตามลำดับ

เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ในปี 2552 คาดว่ามีการส่งออกลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 22.0 ทุกผลิตภัณฑ์ส่งออกลดลง คือ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และ เครื่องเดินทางอื่นๆ ลดลงร้อยละ 24.2, 13.1, 6.9 และ 27.2 ตามลำดับ ตลาดส่งออกที่มีอัตราการขยายตัวลดลง (ม.ค.-ต.ค. 52) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ลดลงร้อยละ 22.41, 4.73 และ 13.51 ตามลำดับ

หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ในปี 2552 คาดว่ามีการส่งออกลดลงจากปี2551 ร้อยละ 23.3 โดยเกือบทุกผลิตภัณฑ์คาดว่ามีการส่งออกลดลง คือ หนังโคกระบือฟอก, ถุงมือหนัง,เครื่องแต่งกายและเข็มขัด, หนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่น ๆ ลดลง ร้อยละ 18.4, 12.0, 27.4 และ 34.2 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์คาดว่ามีการส่งออกเพิ่มขึ้น คือ ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.4 ตลาดส่งออกที่ลดลง (ม.ค.-ต.ค. 52) ได้แก่ ฮ่อกง เวียดนาม และ จีน ลดลงร้อยละ 32.79, 35.16 และ 30.26 ตามลำดับ

การนำเข้า

หนังดิบและหนังฟอก ในปี 2552 คาดว่ามีการนำเข้าลดลงจากปี 2551 คือ ลดลงร้อยละ 38.5 ตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลีย

รองเท้า ในปี 2552 คาดว่ามีการนำเข้าลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 8.7 สินค้าที่ลดลง คือ รองเท้าทำด้วยยางหรือพลาสติก และรองเท้าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 26.2 และ 12.1 ตามลำดับ ตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม

กระเป๋า ในปี 2552 คาดว่ามีการนำเข้าลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 10.6 สินค้าทุกชนิดลดลง คือ กระเป๋าเดินทาง , กระเป๋าถือและกระเป๋าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 19.6 และ 6.8 ตามลำดับ ตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน ฝรั่งเศส และอิตาลี

4. สรุปและแนวโน้ม

ในปี 2552 สถานการณ์การผลิตเมื่อเทียบกับปี 2551 คาดว่าจะลดลงใน 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์คือ ดัชนีผลผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก และดัชนีผลผลิตรองเท้าลดลงร้อยละ 31.4 และ 15.9 ตามลำดับ การผลิตภายในประเทศลดลง อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการบริโภคภายในประเทศลดลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกของรองเท้าและชิ้นส่วน และ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ในปี 2552 ที่คาดว่าจะชะลอตัวลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 17.5 และ 22.0 ตามลำดับ เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา และประเทศในกลุ่ม EU ที่เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ สำหรับการนำเข้ารองเท้า คาดว่าจะขยายตัวลดลงร้อยละ 8.7 ซึ่งตลาดนำเข้าที่สำคัญจะเป็นสินค้าราคาถูกจากจีน ส่วนการนำเข้ากระเป๋าลดลงร้อยละ 10.6 ซึ่งเป็นสินค้าคุณภาพดีจากอิตาลีและฝรั่งเศส ตามกระแสแฟชั่น รวมทั้งการนำเข้าหนังดิบ เพื่อมาผลิตเป็นหนังฟอกเพื่อการส่งออก จะลดลงร้อยละ 38.5 เนื่องมาจากความต้องการภายในประเทศลดลงผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจชะลอตัว

แนวโน้มการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังใน ปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2552 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากฐานการผลิตและการส่งออกปี 2552 อยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้า และประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการออกแบบและเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าในเรื่องของคุณภาพมากขึ้น อีกทั้งการที่ EU และสหรัฐอเมริกาต่ออายุมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) รองเท้าจากประเทศจีนและเวียดนามอีก 2 ปี และเตรียมการตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร(GSP) สำหรับอุตสาหกรรมรองเท้าของประเทศเวียดนาม โดยจะเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงขึ้น รวมทั้งการเปิดการค้าเสรีกับประเทศญี่ปุ่น ภายใต้กรอบ JTEPA จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ในตลาดญี่ปุ่น โดยในปี 2553 ทั้งปีคาดว่าการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2552

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ