สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2552 และแนวโน้มปี 2553(อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 26, 2010 15:06 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์ทั่วไป

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูง โดยปี 2552 ในช่วง 10 เดือนแรก มีมูลค่าการส่งออก 8,774.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 3 ของสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน ตั้งแต่การทำเหมือง การเจียระไน การออกแบบ การทำและประกอบตัวเรือน การผลิตเครื่องมือเครื่องจักรในการเจียระไนพลอย และการทำวัสดุหีบห่อ เป็นต้น ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก มีโรงงานที่จดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 750 โรงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจึงเป็นอุตสาหกรรมหลักประเภทหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

การผลิต

จากตัวเลขประมาณการภาพรวมในปี 2552 ดัชนีผลผลิต เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและของที่เกี่ยวข้องกัน (ดูตารางที่ 1 ประกอบ) อยู่ที่ 62.07 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 คิดเป็นร้อยละ 6.25 ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว ดัชนีส่งสินค้า (ดัชนีการจำหน่าย) อยู่ที่ 66.31 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 คิดเป็นร้อยละ 9.17 เนื่องจากมีมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงจากปี 2551 คิดเป็นร้อยละ 23.17 ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีส่งสินค้า

การตลาด

การส่งออก

จากตัวเลขประมาณการภาพรวมในปี 2552 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจะมีมูลค่าการส่งออก (ดูตารางที่ 2 ประกอบ) คิดเป็นมูลค่า 10,529.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 27.32 ซึ่งปี 2551 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 7,454.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกสินค้าที่สำคัญ เช่น การส่งออกเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองจะมีมูลค่า 1,393.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 24.17 เนื่องจากราคาทองคำที่เป็นวัตถุดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก อันดับถัดมา ได้แก่ เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยเงินมีมูลค่า 915.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.35 เนื่องจากผู้บริโภคนิยมบริโภคสินค้าประเภทนี้มากขึ้นและประกอบกับราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เพชรมีมูลค่า 783.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 29.04 และพลอยมีมูลค่า 423.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 18.59 เป็นต้น

ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.44, 24.17, และ 20.30 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดออสเตรเลีย ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้นรูปเครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง และเครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน สินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป และพลอย และสินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดฮ่องกง ได้แก่ อัญมณี เพชร และพลอย

การนำเข้า

จากตัวเลขประมาณการภาพรวมในปี 2552 ไทยจะมีการนำเข้าสินค้าเครื่องเพชรพลอยอัญมณี เงินแท่งและทองคำ (ดูตารางที่ 3 ประกอบ) คิดเป็นมูลค่า 6,695.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 24.20 สาเหตุที่มูลค่าการนำเข้าลดลงเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว ทำให้การนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบไม่ขยายตัวเท่าที่ควร ประกอบกับราคาทองคำในตลาดโลกโดยเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อน โดยในเดือนพฤศจิกายน 2552 อยู่ที่ระดับประมาณ 1,190 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ ซึ่งในปี 2551 ราคาทองคำโดยเฉลี่ยประมาณ 900 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ คาดว่ามูลค่าการนำเข้าทองคำโดยรวมคิดเป็นมูลค่า 4,979.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 17.94 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการนำเข้าเพชรมีมูลค่า 810.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 47.59 อันดับถัดมา ได้แก่ เงิน พลอย และโลหะมีค่า และโลหะอื่นๆ เป็นต้น

แหล่งนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของไทย ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และอินเดีย

สรุปและแนวโน้ม

โดยสรุปภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2552 เมื่อเทียบกับปี 2551 จะขยายตัวร้อยละ 6.25

ภาพรวมด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2552 จะมีการขยายตัวร้อยละ27.32 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 6,475.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ด้านการนำเข้าในอุตสาหกรรมนี้ คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 24.20 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งสินค้านำเข้าส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต

จากการประมาณการมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าในปี 2552 พบว่าไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกมากกว่ามูลค่าการนำเข้า

สำหรับแนวโน้มการผลิต ในปี 2553 คาดว่าการผลิตจะยังทรงตัว โดยมีปัจจัยบวก คือการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 สำหรับการนำเข้าวัตถุดิบพลอยดิบ ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนวัตถุดิบแล้ว ยังเป็นการสร้างบรรยากาศให้ผู้ค้าพลอยต่างชาติจากทั่วโลก โดยเฉพาะอินเดียและแอฟริกานำวัตถุดิบเข้ามาค้าในไทยเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณี และเครื่องประดับของโลก ทางด้านปัจจัยลบ คือ แนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่สูงกว่าปีก่อน โดยขณะนี้ราคาสูงประมาณ 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาเรล

สำหรับแนวโน้มด้านการส่งออก ในปี 2553 ปัจจัยสนับสนุน คือ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก และผลจากนโยบายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ที่จะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบลดลงและมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีเข้ามาให้เลือกใช้อย่างมาก ปัจจัยลบคือ ค่าเงินบาทที่คาดว่าจะแข็งค่ากว่าปีก่อน ด้านการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ปัจจัยการเมืองภายในประเทศ และการระมัดระวังในการใช้จ่ายของผู้บริโภคทั้งไทยและต่างประเทศ จากปัจจัยดังกล่าวคาดว่ามูลค่าการส่งออกโดยรวมจะขยายตัวได้แต่จะน้อยกว่าปีก่อน โดยจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3 - 5

แนวโน้มด้านการนำเข้า ในปี 2553 จากนโยบายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ในการนำเข้าวัตถุดิบพลอยดิบ จะเป็นผลให้การนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 10

ตารางที่ 1 ดัชนีการผลิตเครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้องกัน
ดัชนี (ISIC 3691)     2548    2549     2550    2551    25521 %    ปี52 เทียบ ปี51
ผลผลิต              68.46   70.06    71.20   58.41    62.07           6.25
ส่งสินค้า             72.90   72.41    73.74   60.74    66.31           9.17
สินค้าสำเร็จรูปคงคลัง   96.22   92.32    96.76   96.25    73.95         -23.17

ที่มา : ศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

หมายเหตุ ฐานเฉลี่ย ปี 2543 และเป็นดัชนีที่ยังไม่ได้ปรับผลกระทบของฤดูกาล

1 เป็นตัวเลขประมาณการ

ตารางที่ 2 การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

  รายการ                           2548     2549         2550      2551      2552(1)   ปี52 เทียบ ปี51
อัญมณีและเครื่องประดับ              3,232.66   3,668.28   5,382.50   7,454.22   10,529.81     27.32
1 อัญมณี                         1,115.46   1,145.20   1,335.87   1,596.58   1,215.47     -25.91
 (1) เพชร                        862.84     861.47     950.65   1,059.85     783.11     -29.04
 (2) พลอย                        230.89     268.05     371.37     520.45     423.08     -18.59
 (3) ไข่มุก                         21.73      15.68      13.85      16.30       9.29     -46.28
2 เครื่องประดับแท้                 1,691.00   1,738.55   2,107.66   2,696.59   2,454.01     -13.85
 (1) ทำด้วยเงิน                    505.74     569.56     786.82     818.33     915.29       6.35
 (2) ทำด้วยทอง                  1,140.16   1,127.42   1,214.83   1,736.04   1,393.84     -24.17
 (3) ทำด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ             45.10      41.57     106.01     142.22     144.88      -3.32
3 เครื่องประดับอัญมณีเทียม             119.74     159.99     179.34     185.07     210.78       6.58
4 อัญมณีสังเคราะห์                    17.19      41.99     104.56      68.66      60.26     -14.89
5 ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป                224.76     508.27   1,513.31   2,795.87   6,475.85      91.38
6 โลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ  64.51      74.28     141.76     111.47     113.45     -11.89

ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

(1) เป็นตัวเลขประมาณการ

ตารางที่ 3 การนำเข้าเครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ

หน่วย : ล้านเหรียญสหรัฐฯ

  รายการ                             2548      2549      2550      2551    2552(1)   ปี52 เทียบ ปี51
เครื่องเพชรพลอย อัญมณีเงินแท่งและทองคำ 3,924.65  3,890.83  4,117.65  8,493.64   6,695.36    -24.20
 1 เพชร                          1,303.13  1,275.73  1,401.43  1,547.63     810.97    -47.59
 2 พลอย                            145.32    168.84    225.25    344.28     248.68    -27.15
 3 อัญมณีสังเคราะห์                     38.99     36.43     61.71     73.06      51.42    -32.20
 4 ไข่มุก                             25.38     15.32     19.84     20.80      15.50    -31.97
 5 ทองคำ                         1,970.18  1,876.54  1,636.30  5,779.74   4,979.89    -17.94
 6 เงิน                             332.03    375.29    509.41    509.70     498.04     -9.49
 7 แพลทินัม                           23.38     23.73     23.05     22.43      22.50     -6.56
 8 โลหะมีค่า และโลหะอื่น ๆ              86.25    118.95    240.66    196.00      68.39    -66.23
เครื่องประดับอัญมณี                     199.42    224.14    255.15    650.30     551.83    -18.70
 1 เครื่องประดับอัญมณีแท้                186.40    206.45    233.46    627.99     530.62    -19.01
 2 เครื่องประดับอัญมณีเทียม               13.02     17.69     21.69     22.29      21.22    -10.29

ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร

(1) เป็นตัวเลขประมาณการ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ