สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2552 และแนวโน้มปี 2553(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 26, 2010 15:39 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2552 คาดว่าจะปรับตัวลดลงจากปีก่อนร้อยละ 1.3 เนื่องจากการผลิตในหลายสินค้า ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในช่วงครึ่งปีแรก และทะยอยปรับฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 — 4 โดยระดับราคาสินค้าในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงในเกือบทุกสินค้า ยกเว้นน้ำตาล ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศผู้ผลิตสำคัญหลายประเทศประสบปัญหาด้านวัตถุดิบจากภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ประเทศผู้ผลิตรายสำคัญอย่างจีน ประสบปัญหาความปลอดภัยของอาหารที่ประเทศนำเข้าตรวจสอบพบสารตกค้างและสิ่งปลอมปนในอาหารจนเกิดวิกฤตความปลอดภัยทั้งในสินค้าประเภทประมง และ ปศุสัตว์ ทำให้ประเทศนำเข้าหันมานำเข้าสินค้าอาหารจากไทยทดแทนเพิ่มขึ้น สำหรับภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในแต่ละกลุ่ม มีดังนี้

  • กลุ่มปศุสัตว์ สินค้าสำคัญ คือ ไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูป ภาพรวมปี 2552 คาดว่า จะมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.9 เป็นผลจาก EU ได้ยกเลิกการนำเข้าไก่เนื้อจากจีน ทำให้ภาวะการแข่งขันของไก่ไทยภายใต้โควตาของ EU ลดลง ประกอบกับตลาดญี่ปุ่นและตลาดใหม่ในแถบตะวันออกกลางให้การรับรองเริ่มนำเข้าไก่จากไทยเพิ่มขึ้นหลังจากโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ของไทยได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาเปรียบเทียบไก่ของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง
  • กลุ่มประมง สินค้าสำคัญ คือ กุ้งและผลิตภัณฑ์จากกุ้ง ภาพรวมปี 2552 ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์จากปลาทูน่า ปรับตัวลดลง ทำให้ในภาพรวมคาดว่าปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.7 เนื่องจากการผลิตกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ที่เป็นสินค้าหลักได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากจากปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และตลาดส่งออกหลักนำเข้าเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าประมงไปญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับตลาดสหรัฐฯ เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวของการบริโภคสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น
  • กลุ่มผักผลไม้ ภาพรวมของการผลิต ปี 2552 คาดว่า จะปรับตัวลดลงร้อยละ 14.7 จากการผลิตลดลงของสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ สับปะรดกระป๋อง เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณลดลงจากปีก่อน และความต้องการของตลาดต่างประเทศปรับตัวลดลง ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง
  • ผลิตภัณฑ์นม ธัญพืชและแป้ง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป การผลิตในปี 2552 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 13.9 และ 2.7 จากระดับราคาวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ผลิตภัณฑ์นม ข้าวและแป้งสาลี โดยผลผลิตในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ส่งผลต่อต้นทุนที่ปรับตัวลดลง
  • น้ำมันพืช การผลิตในปี 2552 คาดว่า จะปรับตัวลดลงร้อยละ 7.8 เนื่องจากระดับราคาที่สูงขึ้นในช่วงต้นปี ทำให้ผู้บริโภคชะลอการบริโภคลง ต่อมาระดับราคาได้ปรับลดลงตามระดับราคาธัญพืชในตลาดโลก ทำให้ผู้ผลิตปรับลดราคาจำหน่ายในประเทศลง ส่งผลต่อการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ขณะที่ผลผลิตบางส่วนได้นำไปผลิตเป็นพลังงานทดแทน เนื่องจากระดับราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกทำให้การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น แต่เมื่อระดับราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นช่วงปลายปี จนทำให้การขยายตัวของการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทนได้ปรับราคาสูงขึ้น
  • น้ำตาล การผลิตในปี 2552 คาดว่า จะปรับตัวลดลงร้อยละ 2.9 เนื่องจากผลผลิตอ้อยลดลงจากภาวะแล้งในฤดูหนาวช่วงต้นปี แต่ได้รับชดเชยจากระดับค่าความหวานที่เพิ่มขึ้น โดยทั้งปีได้รับผลดีจากราคาตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นจากสต็อกน้ำตาลที่ลดลง เนื่องจากอินเดียที่เดิมเป็นผู้ส่งออกประสบปัญหาภัยธรรมชาติผลผลิตลดต่ำลง จึงชะลอการส่งออก

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ภาพรวมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร ในปี 2552 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองที่รุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 2 และเริ่มลดความรุนแรงลงส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อได้ปรับตัวลดลงจนกระทั่งติดลบในช่วงกลางปี อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ระดับราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับต้นทุนสินค้าและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น ส่งผลให้ตลอดทั้งปีการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

2.2 ตลาดต่างประเทศ

ภาพรวมการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในปี 2552 คาดว่า จะลดลงในเชิงปริมาณร้อยละ 8.1 แต่จากการลดลงของระดับราคาสินค้าในตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกจะลดลงในเชิงมูลค่าในรูปเงินบาทร้อยละ 5.2 และในรูปเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 8.3 โดยการส่งออกได้ลดลงในทุกตลาด ตลาดส่งออกที่ลดลงมากที่สุด คือ EU รองลงมา คือ กลุ่มอาเซียน ญี่ปุ่น อาฟริกา สหรัฐฯ และตะวันออกกลาง สำหรับการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ มีดังนี้

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ประมง ภาพรวมปริมาณการส่งออกในปี 2552 มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับปี 2551 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 โดยมีปลาทูน่ากระป๋องและแปรรูป เป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.8 ส่วนมูลค่าการส่งออก พบว่า มีมูลค่าลดลงทั้งในรูปเงินบาท และเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 2.5 และ 5.3 ตามลำดับ โดยเป็นการส่งออกลดลงในตลาดญี่ปุ่น และ EU ขณะที่ตลาดหลักเดิมอย่างสหรัฐอเมริกาขยายตัวดีขึ้นในสินค้ากุ้ง เนื่องจากปัญหาการเรียกเก็บ AD เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคของสหรัฐฯ เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ ภาพรวมการส่งออกในปี 2552 มีปริมาณการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และมูลค่าในรูปเงินบาทขยายตัวร้อยละ 2.4 แต่ปรับลดลงในรูปเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 1.1 โดยเป็นการขยายตัวของสินค้าผักผลไม้สดและแห้งมากกว่าในรูปของกระป๋องและแปรรูป และเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดหลัก คือ ประเทศจีน และกลุ่มอาเซียน
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ สินค้าหลัก คือ ไก่และสัตว์ปีก คาดว่า ในปี 2552 ภาพรวมปริมาณการส่งออกจะลดลงร้อยละ 2.2 และมูลค่าทั้งในรูปเงินบาทและเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.5 และ 9.1 เนื่องจากระดับราคาสินค้าปรับลดลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัวลงตั้งแต่ช่วงต้นปี
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช ภาพรวมการส่งออกของสินค้าในกลุ่มนี้ลดลงในเชิงมูลค่าประมาณร้อยละ 10-20 เป็นผลจากการปรับราคาส่งออกลดลงของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและข้าว เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกลดลง โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกมันเส้นและแป้งมันสำปะหลัง รวมทั้งมีตลาดรองรับอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเลเซีย ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ข้าว มีการส่งออกชะลอตัวลงจากระดับราคาที่ลดลงในช่วงไตรมาส 1-2 แต่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4 จากการที่ประเทศผู้นำเข้าประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ผลผลิตได้รับความเสียหาย และหันมาประมูลนำเข้าข้าวในช่วงไตรมาสที่ 4 คาดว่าปี 2552 จะสามารถส่งออกข้าวได้ประมาณ 8.1 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่ส่งออกได้ประมาณ 10.2 ล้านตัน
  • น้ำตาลทราย ภาพรวมการส่งออกมีการขยายตัวลดลงในเชิงปริมาณ แต่จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับราคาน้ำตาลในตลาดโลก จากการที่ประเทศอินเดียประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้สต็อกน้ำตาลในตลาดโลกปรับลดลง แต่หากพิจารณาอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทยังแข็งค่าในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวทั้งในรูปเงินบาท มากกว่ารูปเงินดอลลาร์ โดยในปี 2552 คาดว่าการส่งออกจะลดลงในเชิงปริมาณร้อยละ 2.8 แต่จะเพิ่มขึ้นในเชิงมูลค่าในรูปเงินบาทและเงินเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 16.3 และ 12.4 ตามลำดับ

3. สรุปและแนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2553 คาดว่า จะขยายตัวจากปี 2552 ร้อยละ 2.9 ขณะที่การคาดการณ์การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2553 ในเชิงมูลค่าในรูปเงินบาทจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 แต่หากไม่รวมการส่งออกข้าว ภาพรวมการส่งออกจะขยายตัวในเชิงมูลค่ารูปเงินบาทและเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.3 และ 9.8 โดยมีปัจจัยภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกา และประเทศผู้นำเข้าทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การผลิตและการส่งออกของไทยในสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การประกาศลดค่าเงินของประเทศคู่แข่งและการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคที่ยังชะลอการจับจ่ายใช้สอย การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกรอบใหม่ ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ และมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังการประกาศมาตรการกีดกันรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของแรงงาน ซึ่งจะทะยอยประกาศใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ นอกจากนี้การเร่งแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของอาหารที่จีนเคยถูกปฏิเสธการนำเข้า เริ่มกลับมาส่งออกได้ อาจส่งผลต่อการแข่งขันกับสินค้าไทยได้ในอนาคต สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มการผลิตและการส่งออกในปี 2553 ในแต่ละกลุ่ม มีดังนี้

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ประมง แนวโน้มการผลิตในปี 2553 คาดว่า จะขยายตัวจากปีก่อนประมาณร้อยละ 7.0 สำหรับการส่งออก คาดว่า จะมีการขยายตัวในเชิงปริมาณร้อยละ 4.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี2552 ที่หดตัวร้อยละ 3.9 ส่วนในเชิงมูลค่าคาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 5.2 ในรูปเงินบาทและร้อยละ 6.6 ในรูปเหรียญสหรัฐฯ โดยจะเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและแปรรูป ในส่วนกุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป อาจจะลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.8 ในรูปเงินบาท และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ในรูปเหรียญสหรัฐฯ
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ แนวโน้มการผลิตในปี 2553 คาดว่า จะเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.5 สำหรับการส่งออก คาดว่า จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณ และในเชิงมูลค่าทั้งในรูปเงินบาทและเหรียญสหรัฐฯ ร้อยละ 6.6 6.9 และ 8.5 ตามลำดับ
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ แนวโน้มการผลิตในปี 2553 คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 4.5 สำหรับการส่งออก คาดว่า จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณร้อยละ 6.5 ในเชิงมูลค่าจะขยายตัวร้อยละ 9.1 ในรูปเงินบาท และร้อยละ 10.7 ในรูปเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากได้รับผลดีจากการรับรองโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ของไทยจากประเทศญี่ปุ่นและตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น รวมถึงผลจากความตกลง JTEPA ประกอบกับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการส่งออกไก่เนื้อของไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้น
  • กลุ่มข้าว แป้ง และธัญพืช แนวโน้มการผลิตในปี 2553 คาดว่า จะปรับลดลงประมาณร้อยละ 3 สำหรับการส่งออกในสินค้าข้าว คาดว่า จะลดลงในเชิงปริมาณร้อยละ 5 และในเชิงมูลค่าร้อยละ 5.0 ในรูปเงินบาท และร้อยละ 6.6 ในรูปเหรียญสหรัฐฯ เนื่องจากประเทศผู้ผลิตและผู้นำเข้าประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย ประกอบกับสต็อกตลาดโลกเริ่มลดลง ทำให้ระดับราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ระดับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อราคาสินค้าที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • น้ำตาลทราย แนวโน้มการผลิตในปี 2553 จะเริ่มเปิดฤดูหีบอ้อยช่วงเดือนพฤศจิกายน2552 ซึ่งคาดการณ์ว่า ผลผลิตจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.5 (ปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณอ้อยที่เข้าโรงงาน 71 ล้านตันจาก 67 ล้านตันในปี 2552) สำหรับปริมาณการส่งออกน้ำตาลทราย คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และมูลค่าในรูปเงินบาทปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 และในรูปเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เนื่องจากสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกในปี 2552 ต่อเนื่อง 2553 มีการปรับลดลง เนื่องจากประเทศอินเดียประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ราคาตลาดโลกในปี 2552 ปรับเพิ่มขึ้น
  • น้ำมันพืช และผลิตภัณฑ์นม แนวโน้มการผลิตน้ำมันพืชในปี 2553 คาดว่า จะปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของไทย และราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบกับราคาปาล์มน้ำมันที่เริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่กลางช่วงไตรมาส 3 ของปี 2551 จนกระทั่งต้นปี 2552 นอกจากนี้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ระดับราคาปาล์มน้ำมันอาจปรับลดลงอีกในช่วงปลายปี 2552 ที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ส่วนผลิตภัณฑ์นม เนื่องจากการปรับราคาน้ำนมดิบในปี 2552 เริ่มส่งผลต่อระดับราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมที่ปรับเพิ่มขึ้น อาจทำให้ความต้องการบริโภคนมลดลง ส่งผลให้การผลิตอาจปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 4.0
ตารางที่ 1 การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารของไทย

การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบระหว่างปี

                                          ปริมาณการผลิต (ตัน)                               (ร้อยละ)
                  ปี 2549         ปี 2550        ปี 2551       ปี 2552p       ปี 2553f  51/50  52/51  53/52
ปศุสัตว์           970,558.9   1,221,350.9   1,607,553.8   1,622,722.0   1,695,744.5   31.6    0.9    4.5
ประมง           941,216.3     944,004.7     959,422.3     975,692.5   1,043,990.9    1.6    1.7    7.0
ผักผลไม้        1,021,593.5     910,165.4     995,533.8     848,827.3     853,071.4    9.4  -14.7    0.5
น้ำมันพืช        1,558,923.2   1,461,971.8   1,691,973.1   1,559,191.7   1,590,375.5   15.7   -7.8    2.0
ผลิตภัณฑ์นม      1,101,439.4   1,081,907.2   1,006,069.7   1,060,239.5   1,017,829.9   -7.0    5.4   -4.0
ธัญพืชและแป้ง    2,234,531.2   2,130,723.7   1,967,055.5   2,240,499.4   2,307,714.4   -7.7   13.9    3.0
อาหารสัตว์      6,282,622.5   7,007,387.7   7,188,802.4   7,108,349.6   7,179,433.1    2.6   -1.1    1.0
น้ำตาล         7,994,336.4  11,015,703.6  11,937,207.7  11,585,741.3  12,107,099.6    8.4   -2.9    4.5
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป   166,154.4     169,688.4     162,201.3     166,610.6     165,777.5   -4.4    2.7   -0.5
รวม          22,271,375.7  25,942,903.5  27,515,819.5  27,167,873.8  27,961,036.9    6.1   -1.3    2.9
รวม          14,277,039.2  14,927,199.9  15,578,611.8  15,582,132.5  15,853,937.3    4.4    0.0    1.7
(ไม่รวมน้ำตาล)

ตารางที่ 2 การจำหน่ายในประเทศผลิตภัณฑ์อาหารของไทย

การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบระหว่างปี

                                          ปริมาณการผลิต (ตัน)                               (ร้อยละ)
                  ปี 2549         ปี 2550        ปี 2551       ปี 2552p       ปี 2553f  51/50  52/51  53/52
ปศุสัตว์          786,760.7      951,509.7   1,189,792.0   1,232,697.8   1,294,332.6   25.0    3.6    5.0
ประมง          125,351.4      131,041.0     121,801.3     142,232.1     148,632.6   -7.1   16.8    4.5
ผักผลไม้         183,922.9      184,019.4     206,647.2     193,279.8     188,447.8   12.3   -6.5   -2.5
น้ำมันพืช       1,133,201.3    1,059,913.8   1,215,242.9   1,272,661.2   1,291,751.2   14.7    4.7    1.5
ผลิตภัณฑ์นม       923,052.0      954,899.0     898,115.4     997,364.3   1,047,232.5   -5.9   11.1    5.0
ธัญพืชและแป้ง   1,242,479.8    1,206,676.5   1,087,657.7   1,322,911.2   1,395,671.4   -9.9   21.6    5.5
อาหารสัตว์     5,813,683.3    6,400,328.7   6,520,170.6   6,441,190.9   6,698,838.5    1.9   -1.2    4.0
น้ำตาล        4,025,415.7    5,199,495.1   6,030,223.8   6,244,538.8   6,356,940.5   16.0    3.6    1.8
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  138,286.9      142,526.3     129,699.8     135,276.2     141,228.3   -9.0    4.3    4.4
รวม         14,372,154.1   16,230,409.3  17,399,350.6  17,982,152.3  18,563,075.4    7.2    3.3    3.2
รวม         10,346,738.4   11,030,914.2  11,369,126.8  11,737,613.6  12,206,134.9    3.1    3.2    4.0
(ไม่รวมน้ำตาล)

ที่มา : ข้อมูลเพื่อการจัดทำดัชนีอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

หมายเหตุ : ปี 2552p เป็นตัวเลขเบื้องต้น ปี 2553f เป็นตัวเลขพยากรณ์

ตารางที่ 3 การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารของไทย
  สินค้าส่งออก              ---------- ปริมาณการส่งออก (เมตริกตัน)-----------     การเปลี่ยนแปลง
                         2550           2551        2552p        2553f   2551   2552p 2553f

ปศุสัตว์

ไก่และสัตว์ปีก          354,785.1      429,046.5    419,467.2    446,732.5   20.9   -2.2    6.5
ผลิตภัณฑ์ประมง       1,534,318.4    1,548,680.4  1,488,472.5  1,551,617.8    0.9   -3.9    4.2
กุ้ง                  355,219.1      358,927.5    397,029.4    416,880.9    1.0   10.6    5.0
ทูน่ากระป๋อง/แปรรูป     468,144.2      506,097.3    497,017.6    546,719.4    8.1   -1.8   10.0
ปลากระป๋อง/แปรรูป     185,799.6      193,760.9    181,370.0    194,065.9    4.3   -6.4    7.0
ปลาแช่แข็ง            431,616.5      408,117.1    335,607.4    318,827.0   -5.4  -17.8   -5.0
ปลาหมึก               93,539.1       81,777.6     77,448.1     75,124.6  -12.6   -5.3   -3.0
ผักและผลไม้         2,507,260.2    2,601,861.4  2,610,656.3  2,782,709.9    3.8    0.3    6.6
ผลไม้กระป๋อง/แปรรูป    916,162.0      976,888.3    819,732.7    873,015.3    6.6  -16.1    6.5
ผลไม้สด/แช่แข็ง/แห้ง    715,983.7      732,510.3  1,000,546.0  1,100,600.6    2.3   36.6   10.0
ผักสดและแปรรูป        597,240.6      585,509.0    484,809.5    497,414.5   -2.0  -17.2    2.6
น้ำผัก/น้ำผลไม้         277,873.9      306,953.8    305,568.1    311,679.5   10.5   -0.5    2.0

สินค้าอาหารอื่นๆ

ข้าว               9,289,395.4   10,218,286.3  8,046,180.4  8,448,489.4   10.0  -21.3    5.0
น้ำตาลทราย         4,435,672.0    5,011,802.5  4,871,548.6  4,978,722.6   13.0   -2.8    2.2
น้ำมันปาล์ม            401,752.8      498,115.3    161,817.4    186,090.1   24.0  -67.5   15.0
มันสำปะหลัง         4,488,390.0    2,851,433.4  3,611,920.9  3,431,324.9  -36.5   26.7   -5.0
แป้งมันสำปะหลัง      1,496,337.9    1,286,512.9  1,640,548.5  1,722,575.9  -14.0   27.5    5.0
แป้งและสตาร์ช         161,493.6      156,970.7    155,397.3     158,505.3  -2.8   -1.0    2.0
เครื่องปรุงรส          166,861.2      177,128.1    192,782.8     189,891.1   6.2    8.8   -1.5
ผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าว       72,921.1      91,474.8      97,112.2     105,366.7  25.4    6.2    8.5
เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  249,186.7     425,722.9     282,071.6     338,485.9  70.8  -33.7   20.0
อาหารสัตว์            807,680.8     695,027.6     754,460.7     799,728.4 -13.9    8.6    6.0
อาหารสัตว์เลี้ยง        233,522.3     268,686.7     239,096.9     263,006.5  15.1  -11.0   10.0
อาหารอื่นๆ          2,368,134.7   2,774,527.5   2,160,337.2   2,257,552.4  17.2  -22.1    4.5
อาหารทั้งหมด       28,567,720.0  29,035,481.3  26,676,060.0  27,660,799.4   1.6   -8.1    3.7
ไม่รวมข้าว         19,278,324.6  18,817,195.0  18,629,879.6  19,212,310.0  -2.4   -1.0    3.1

ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม

หมายเหตุ : ปี 2552p เป็นตัวเลขเบื้องต้น ปี 2553f เป็นตัวเลขพยากรณ์

ตารางที่ 4 การส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารของไทย
  สินค้าส่งออก            ----------มูลค่าการส่งออก (ล้านบาท)---------        การเปลี่ยนแปลง
                       2550        2551       2552p       2553f    2551   2552p   2553f

ปศุสัตว์

ไก่และสัตว์ปีก         51,279.0    59,397.1    55,528.7    60,569.9    15.8    -6.5     9.1
ผลิตภัณฑ์ประมง       179,142.0   202,297.6   197,232.4   207,475.8    12.9    -2.5     5.2
กุ้ง                 81,646.0    84,195.9    91,810.1    91,111.2     3.1     9.0    -0.8
ทูน่ากระป๋อง/แปรรูป    47,897.0    64,555.4    56,793.7    63,417.0    34.8   -12.0    11.7
ปลากระป๋อง/แปรรูป    19,089.0    16,655.5    16,725.3    18,606.5   -12.7     0.4    11.2
ปลาแช่แข็ง           15,544.0    23,420.2    20,283.5    23,017.4    50.7   -13.4    13.5
ปลาหมึก             14,965.0    13,470.6    11,619.7    11,323.7   -10.0   -13.7    -2.5
ผักและผลไม้          71,311.0    78,685.4    80,575.3    86,155.1    10.3     2.4     6.9
ผลไม้กระป๋อง/แปรรูป   31,671.0    36,866.1    33,050.1    38,052.5    16.4   -10.4    15.1
ผลไม้สด/แช่แข็ง/แห้ง   17,985.0    13,737.5    18,634.2    16,516.3   -23.6    35.6   -11.4
ผักสดและแปรรูป       13,520.0    18,255.9    18,072.0    20,005.1    35.0    -1.0    10.7
น้ำผัก/น้ำผลไม้         8,135.0     9,826.0    10,819.1    11,581.2    20.8    10.1     7.0

สินค้าอาหารอื่นๆ

ข้าว               119,328.0   203,254.5   170,865.8   179,380.5    70.3   -15.9     5.0
น้ำตาลทราย          40,510.0    47,637.5    55,423.7    57,952.1    17.6    16.3     4.6
น้ำมันปาล์ม           10,445.0    16,538.7     5,015.6     7,302.4    58.3   -69.7    45.6
มันสำปะหลัง          19,314.0    15,707.2    15,933.9    16,423.2   -18.7     1.4     3.1
แป้งมันสำปะหลัง       14,336.0    15,315.4    15,006.7    17,458.9     6.8    -2.0    16.3
แป้งและสตาร์ช         4,026.0     4,128.6     3,602.6     3,664.8     2.5   -12.7     1.7
เครื่องปรุงรส          8,096.0     9,846.8    11,600.8    13,201.1    21.6    17.8    13.8
ผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าว      6,956.0     7,083.8     7,986.6     8,178.5     1.8    12.7     2.4
เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  5,948.0     7,214.4     8,651.6     9,112.0    21.3    19.9     5.3
อาหารสัตว์            8,465.0     8,661.2     8,235.0     8,736.8     2.3    -4.9     6.1
อาหารสัตว์เลี้ยง       15,646.0    19,536.9    18,390.5    19,926.7    24.9    -5.9     8.4
อาหารอื่นๆ           74,290.0    82,747.1    83,650.9    97,462.4    11.4     1.1    16.5
อาหารทั้งหมด        629,092.0   778,056.2   737,700.0   793,000.3    23.7    -5.2     7.5
ไม่รวมข้าว          509,764.0   574,801.7   566,834.2   613,619.8    12.8    -1.4     8.3

ที่มา : กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม

หมายเหตุ : ปี 2552p เป็นตัวเลขเบื้องต้น ปี 2553f เป็นตัวเลขพยากรณ์

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ