รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประจำเดือนมกราคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 17, 2010 15:10 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนธันวาคม 2552
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2552 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ร้อยละ 8.0 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะ Hard Disk Drive ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ทั้งนี้การที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหนึ่งมาจากฐานตัวเลขการผลิตที่ต่ำในเดือนธันวาคม 2551 และเศรษฐกิจมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ทั้งปี 2552 ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 7.2 จากปี 2551 ซึ่งหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนธันวาคม 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 61.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60.6 ในเดือนพฤศจิกายน2552
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนมกราคม 2553

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าจะขยายตัวตามคำสั่งซื้อ ซึ่งมีปัจจัยบวกหลักจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว เป็นแรงส่งให้ผู้บริโภคเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น อีกทั้งการเปิดเสรีทางการค้าที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการผู้นำเข้าวัตถุดิบและผู้ผลิตปลายน้ำ ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบต่ำลง

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

สถานการณ์เหล็กในเดือนมกราคม 2553 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้ปัจจัยหนุนของเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับเหล็กทรงแบนก็พบว่าในอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนสินค้าในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ต่างมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 19.97 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นและคอมเพรสเซอร์เป็นหลัก จากกำลังซื้อเริ่มกลับมาของตลาด EU และอาเซียน

แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.02 เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของส่วนประกอบ HDD ชิ้นส่วน IC และเซมิคอนดักเตอร์เริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการผลิต HDD ปรับตัวสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการสินค้าสำเร็จรูปที่ปรับตัวเพิ่มสูงมาก

ดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2552

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ 185.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (174.6) ร้อยละ 6.0 และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (165.9) ร้อยละ 11.5

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ เบียร์ น้ำตาล ผลไม้และผักแปรรูป เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ Hard Disk Drive อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น
  • ในปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 166.1 ลดลงจากปี 2551 (178.9) ร้อยละ 7.2 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย เบียร์ โทรทัศน์สี เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 61.1 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 57.9) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (ร้อยละ 56.5)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ เหล็ก Hard Disk Drive น้ำโซดาและน้ำดื่มบริสุทธิ์ เบียร์ เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ Hard Disk Drive เหล็ก เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น
  • ในปี 2552 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 56.3 ลดลงจากปี 2551 (ร้อยละ 62.6) โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ ยานยนต์ เส้นใยสิ่งทอ Hard Disk Drive โทรทัศน์สี ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ เป็นต้น
แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2553

ในปี 2553 คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกโดยจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 6.0 — 8.0 สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2553 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียและเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดใหม่ส่วนใหญ่ที่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน แนวโน้มของการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์การเมืองที่มีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐสามารถเดินหน้าโครงการต่างๆ ได้ตามแผนที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม ก็ยังจะต้องมีการติดตามปัจจัยข้างต้นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่แม้จะชัดเจนขึ้น แต่ยังคงมีความเปราะบางอยู่ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและ สหภาพยุโรปที่ยังมีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 10 ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น ในเรื่องของปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองก็อาจจะสามารถเกิดความรุนแรงมากขึ้นได้ในทุกช่วงเวลา อีกส่วนคงจะหนีไม่พ้นเรื่องของกรณีมาบตาพุดจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในปี 2553 ได้หากปัญหายังไม่ได้ข้อสรุปและยืดเยื้อต่อไป เพราะจะทำให้เม็ดเงินที่มีแผนจะลงทุนในปี 2553 นี้ ไม่สามารถสามารถลงทุนได้ตามแผนที่ตั้งไว้ แต่ทั้งนี้หากปัญหาคลี่คลายได้และโครงการต่างๆสามารถกลับมาดำเนินโครงการต่อได้ และเม็ดเงินลงทุนที่ถูกระงับจะสามารถทยอยลงทุนได้ภายในปี 2553 ก็จะทำให้เศรษฐกิจรวมถึงภาคอุตสาหกรรมสามารถขับเคลื่อนไปสู่การฟื้นตัวต่อไปได้ รวมถึงเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างประเทศให้กลับคืนมา

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

พ.ย. 52 = 180.2

ธ.ค. 52 = 194.7

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • น้ำตาล
  • เบียร์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

พ.ย. 52 = 60.6

ธ.ค. 52 = 61.8

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • น้ำตาล
  • เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนธันวาคม 2552 มีค่า 194.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2552 (180.2) ร้อยละ 8.0 และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนธันวาคม 2551 (149.0) ร้อยละ 30.7
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2552 ได้แก่ Hard Disk Drive น้ำตาล เบียร์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เม็ดพลาสติก เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก เหล็ก เป็นต้น
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนธันวาคม 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 61.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2552 (ร้อยละ 60.6) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนธันวาคม 2551 (ร้อยละ 53.0)
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน อาหารสัตว์สำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ Hard Disk Drive น้ำตาล เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ยาง เบียร์ เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2552
  • ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2552 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 324 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 310 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 4.52 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 11,673 ล้านบาท ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งมีการลงทุน 21,163 ล้านบาท ร้อยละ 44.84 และการจ้างงานรวมมีจำนวน 5,456 คน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,159 คน ร้อยละ 33.13
  • ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 205 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 58.05 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งมีการลงทุน 7,707 ล้านบาท ร้อยละ 51.45 แต่การจ้างงานรวมลดลงจากเดือนธันวาคม 2551 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,544 คน ร้อยละ 27.68
  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนธันวาคม 2552 คือ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องเรือนจากไม้ จำนวน 35 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขุดหรือลอก กรวด ทรายหรือดิน 22 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนธันวาคม 2552 คือ อุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้า เงินลงทุน 3,244 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมถลุง หลอม หล่อ รีด ดึง ผลิตเหล็ก เหล็กกล้าในขั้นต้น เงินลงทุน 2,300 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนธันวาคม 2552 คือ อุตสาหกรรม ถลุง หลอม หล่อ รีด ดึง ผลิตเหล็ก เหล็กกล้าในขั้นต้น จำนวนคนงาน 387 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำขนมปัง หรือขนมเค้ก จำนวนคนงาน 292 คน
  • ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในช่วงเดือนมกราคม —ธันวาคม 2552 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 1,003 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน 1,252 โครงการ ร้อยละ 19.89 และมีเงินลงทุน 281,400 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 497,800 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.47
  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2552
          การร่วมทุน              จำนวน(โครงการ)         มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
 1.โครงการคนไทย 100%                 344                     73,700
 2.โครงการต่างชาติ 100%                361                     87,700
 3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ          298                    120,000
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม- ธันวาคม 2552 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 122,800 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 47,900 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรม อาหาร คาดว่า จะดีขึ้นจากปีก่อน ตามระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น สำ หรับการจำ หน่ายภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและปีก่อนร้อยละ 5.3 และ 1.7 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่น ไก่แปรรูป สับปะรดกระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.3 12.1และ 13.1 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อของต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังคลี่คลายลง

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 82.4 เนื่องจากผลิตเพื่อสำรองเพิ่มขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการเกรงว่าจะไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบได้ช่วงต้นปี ประกอบกับราคาวัตถุดิบมีแนวโน้มสูงขึ้น

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนธันวาคม สินค้าอาหารและเกษตร มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและปีก่อน ร้อยละ 5.1 และ 4.4 เนื่องจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคจับจ่าย ใช้สอยเพิ่มขึ้น

2) ตลาดต่างประเทศ เดือนธันวาคม มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหารในรูปเงินบาทลดลงร้อยละ 4.4 จากเดือนก่อนเนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาท แต่หากเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 จากปริมาณสต๊อกสินค้าในตลาดโลกลดลง ประกอบกับราคาสินค้าอาหารและเกษตรในตลาดโลกเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีการเร่งนำเข้า ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้าเกือบทุกชนิดมูลค่าการส่งออกจึงเพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและน้ำตาล เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 139.6 และ 72.4 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ตามระดับราคาที่เพิ่มขึ้น สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตามความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“การผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะขยายตัวตามคำสั่งซื้อ ซึ่งมีปัจจัยบวกหลักจากเศรษฐกิจคู่ค้าอย่างสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว”

1. การผลิต

ภาวะการผลิตในเดือนธันวาคม 2552 ส่วนใหญ่มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและผ้าทอ ลดลงร้อยละ 1.2, 1.2, 20.9 และ 6.0 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.0, 12.3 และ 1.5 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเริ่มมีเข้ามา และเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เดือนธันวาคม 2552 ยังไม่กระเตื้องเท่าที่ควร ในขณะที่การส่งออกขยายตัวถึงร้อยละ 18.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม (+19.8%) เสื้อผ้าสำเร็จรูป (+20.0%) ผ้าผืน (+10.3%) ด้ายฝ้าย (+11.7%) เคหะสิ่งทอ(+14.0%) และเส้นใยประดิษฐ์ (+30.0%) เป็นต้น และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ11.5 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในสินค้าผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ และเส้นใยประดิษฐ์ ร้อยละ 17.6, 45.4, 57.4 และ 144.5 ตามลำดับ

การส่งออก สำหรับตลาดส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นในตลาดหลักทุกตลาดเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งออกตลาดสหรัฐอเมริกา(+15.2%)สหภาพยุโรป (+25.2%) ญี่ปุ่น (+5.5%) และอาเซียน(+9.4%) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกไปสหภาพยุโรปและอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 และ 34.2 แต่ยังติดลบในตลาดสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นร้อยละ 14.6 และ 2.3 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าจะขยายตัวตามคำสั่งซื้อ ซึ่งมีปัจจัยบวกหลักจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว เป็นแรงส่งให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น อีกทั้งการเปิดเสรีทางการค้าที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการผู้นำเข้าวัตถุดิบและผู้ผลิตปลายน้ำ ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบต่ำลง

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • บริษัท POSCO ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของสาธารณรัฐเกาหลีคาดการณ์ไว้ว่า ความต้องการของเหล็กกล้าไร้สนิมน่าจะฟื้นตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นประกอบกับการเพิ่มระดับสต็อกสินค้าในปีนี้ สำหรับราคาของเหล็กกล้าไร้สนิมก็น่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกันจากการลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตเหล็กกล้าไร้สนิมและระดับสต็อกสินค้าที่ค่อนข้างต่ำในปัจจุบัน

1.การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนธันวาคม 2552 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ร้อยละ 4.10 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว พบว่า ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 8.08 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 25.52 รองลงมาคือ ลวดเหล็ก ลดลงร้อยละ 17.96 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าแล้วแต่ยังไม่นำออกจากโรงงาน ผู้ผลิตจึงไม่สามารถผลิตเพิ่มได้มากขึ้นนักเนื่องจากไม่มีพื้นที่จัดเก็บสินค้าสำหรับเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิต ลดลง ร้อยละ 3.58 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 18.89 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 13.45 และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 9.94 เนื่องจากจำนวนวันทำงานที่น้อยกว่าปกติ รวมถึงลูกค้าจะไม่นิยมสั่งซื้อสินค้าปริมาณมากในช่วงปลายปีเพราะต้องรักษาระดับ สต๊อกให้เหมาะสม ดังนั้นผู้ผลิตจึงปรับลดยอดการผลิตให้สอดคล้องกับเหตุผลดังกล่าว

ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 58.09 โดยเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.29 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ลวดเหล็กแรงดึงสูง ร้อยละ 143.57 รองลงมาคือเหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 76.61 สำหรับเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 83.83 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 247.67 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 223.67 เนื่องจากเมื่อปีที่แล้วการผลิตโดยรวมลดลงจึงทำให้ฐานต่ำจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลก ประกอบกับปีนี้เริ่มมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น เพราะภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐที่นำมาใช้ ทำให้มีความต้องการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น

2.ราคาเหล็ก

การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนมกราคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กที่สำคัญส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นโดย เหล็กเส้นเพิ่มขึ้นจาก 441 เป็น 455 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.17 เหล็กแท่งเหล็กบิลเล็ต เพิ่มขึ้นจาก 414 เป็น 427 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.06 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 508 เป็น 518 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.97 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 608 เป็น 613 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.82 ผลิตภัณฑ์ที่มีราคาทรงตัว คือ เหล็กแท่งแบน อยู่ที่ 410 เหรียญสหรัฐต่อตัน

3. แนวโน้ม

สถานการณ์เหล็กในเดือนมกราคม 2553 คาดว่าจะมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น โดยเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้ปัจจัยหนุนของเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับเหล็กทรงแบนก็พบว่าในอุตสาหกรรมต่อเนื่องมีคำ สั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนสินค้าในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ต่างมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2552 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับในช่วงปลายปี 2551 เริ่มเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ฐานตัวเลขสถิติค่อนข้างต่ำในเดือนธันวาคม 2551สำหรับข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม มีดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 111,722 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งมีการผลิต 84,602 คัน ร้อยละ 32.06 แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ร้อยละ 7.66
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 72,085 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งมีการจำหน่าย 59,002 คัน ร้อยละ 22.17 และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2552ร้อยละ 26.40 เนื่องจากมีการจัดงานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 26 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-13 ธันวาคม 2552 ณ อิมแพคเมืองทองธานี โดยมียอดการจองรถยนต์ทั้งสิ้น 25,220 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มียอดจองรถยนต์ 14,690 คัน ร้อยละ 71.68
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 53,600 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งมีการส่งออก 43,273 คัน ร้อยละ 23.86 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกตลาดส่งออก (เอเชีย โอเชียเนียน ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลาง และอเมริกาใต้)แต่มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน2552 ร้อยละ 8.63
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม 2553 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2552 จากสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้ามากขึ้น สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนมกราคม 2553 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 41และส่งออกร้อยละ 59

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม 2552 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากภาครัฐใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 141,402 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งมีการผลิต 136,066 คัน ร้อยละ 3.92 แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ร้อยละ 14.59
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 147,424 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งมีการจำหน่าย 116,026 คัน ร้อยละ 27.06 และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ร้อยละ 13.17
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 8,420 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งมีการส่งออก 17,512 คัน ร้อยละ 51.92 เนื่องจากในช่วงนี้ของปี 2551 ปริมาณความต้องการรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีระบบจ่ายน้ำมันแบบหัวฉีดมาก อย่างไรก็ดี ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม 2552 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ร้อยละ 4.20
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2553 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2552 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2553 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 95 และส่งออกร้อยละ 5
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น และตลาดส่งออกหลักของไทย เป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังคงมีการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนธันวาคม 2552 ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.39 และ 0.89 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.31 และ 17.34 ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการเพิ่มการผลิตเพื่อรองรับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับรัฐบาลเริ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการอัดฉีดงบภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งลงระบบมากขึ้นทำให้ธุรกิจภาคเอกชนมีการขยายตัวด้านการลงทุนมากขึ้น

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนธันวาคม 2552 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.41 และ18.10 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นโดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในตลาดส่งออกหลักที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศบังคลาเทศ เวียดนาม และ เมียนมาร์

3.แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ 2553 มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูกาลก่อสร้าง รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่รัฐบาลมีแผนการดำเนินการ ส่วนใหญ่อาจเริ่มก่อสร้างได้จริงประมาณต้นปี 2553

สำหรับการส่งออก เศรษฐกิจโลกเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศในแถบอาเซียนเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งตลาดใหม่ในประเทศแถบแอฟริกาและตะวันออกกลาง ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นประเทศกำลังพัฒนา มีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเดือน ม.ค.2553 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 19.97 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นและคอมเพรสเซอร์เป็นหลัก จากกำลังซื้อเริ่มกลับมาของตลาด EU และอาเซียน
  • แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.02

ตารางที่ 1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ธ.ค. 2552

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์           มูลค่า           %MoM           %YoY
          อุปกรณ์คอมพิวเตอร์               1,620.97           8.62           54.30
          IC                             639.82          -0.58           49.00
          เครื่องปรับอากาศ                  184.55          23.22           53.55
          เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า                 145.06          -3.02           29.42
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  4,147.25           4.80           39.46

ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนธันวาคม2552 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 72.40 และเมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.88 ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น HDD เป็นต้น โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลง ร้อยละ 19.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อน ขณะที่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.80เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์เกือบทั้งหมดยกเว้นกระติกน้ำร้อนและเครื่องรับโทรทัศน์แบบ CRT

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 81.59 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21.46 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ HDD ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.91 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 91.57 โดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 1,228.82

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนธันวาคม 2552 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 4.80 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.46 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,147.25 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกรวมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 3.65 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.29 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมของเครื่องใช้ไฟฟ้าคือ 1,444.50 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่า 2,702.74 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.43 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.58 โดยผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุดได้แก่ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ รองลงมาคือวงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี (Integrated Circuit)

3. แนวโน้ม

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 19.97 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็นและคอมเพรสเซอร์เป็นหลัก จากกำลังซื้อเริ่มกลับมาของตลาดEU และอาเซียน

ขณะที่ แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.02 เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของส่วนประกอบ HDD ชิ้นส่วน IC และเซมิคอนดักเตอร์เริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะการผลิต HDD ปรับตัวสูงมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีความต้องการจากสินค้าสำเร็จรูปค่อนข้างมาก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ