สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2552 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2552(เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 18, 2010 14:26 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลก(1)

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4 ปี 2552 ยังคงอยู่ในภาวะถดถอยแต่ในหลาย ๆ ประเทศมีสัญญาณการฟื้นตัว เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น นอกจากนี้ประเทศจีนเศรษฐกิจยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน สำหรับปัญหาการว่างงานของหลาย ๆ ประเทศมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัว

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ 74.58 USD/Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 อยู่ที่ 55.64 USD/Barrel เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับเป็นช่วงฤดูหนาวและสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้หลายประเทศมีอากาศหนาวรุนแรงกว่าปีก่อนมาก ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้น สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลง เนื่องจากการแข็งค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรประกอบกับตลาดยังคงกังวลต่อนโยบายการเงินที่เข้มงวดของรัฐบาลจีน และสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรวมถึงความต้องการใช้น้ำมันของโลกในอนาคต ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในสหรัฐฯ ในปัจจุบันยังคงไม่ฟื้นตัว เห็นได้จากปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมีนาคม มีราคาอยู่ที่ 71.19 USD/Barrel

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา(2)

ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ปี 2552 GDP ขยายตัวร้อยละ 0.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 1.9 เนื่องจากประชาชนเพิ่มการใช้จ่ายและมีความต้องการสินค้าภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาคธุรกิจเพิ่มการผลิตเพื่อเพิ่มระดับสินค้าคงคลัง การบริโภคภาคเอกชนไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 1.8 การลงทุนภาคเอกชนไตรมาส 4 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 13.8 เป็นการหดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่หดตัวอยู่ร้อยละ 12.5 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 60.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 40.7 อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 71.49 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 74.2 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 99.7 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 104.4

การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 1.4 น้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 3.4 การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.4 ลดลงมากกว่าไตรมาส 4 ปี 2551 ที่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.1

อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ -1.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.6 อัตราการว่างงานไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 10.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.0

ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2553 ให้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.25 เพื่อฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ปี 2552 ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยมีสัญญาณจากการใช้จ่ายของภาคประชาชน และการเพิ่มการผลิตของภาคเอกชน แต่อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการลดภาษีเพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กให้จ้างคนงานใหม่ ๆ

เศรษฐกิจจีน(3)

เศรษฐกิจประเทศจีนในไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 10.7 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 มูลค่าการค้าปลีกในไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 16.5 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 20.6 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 103.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 105.0 ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาส 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 31.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 26.7 เนื่องจากมาตรการการเร่งปล่อยสินเชื่อของรัฐบาล ทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้น ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 60.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 39.7

การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 น้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เนื่องจากการค้าโลกยังคงซบเซา การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ที่มีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.0

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศจีนในไตรมาส 4 ปี 2552 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -1.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -3.8 อัตราการว่างงานในไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.2 อัตราการว่างงานยังคงทรงตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4

ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 5.31 นอกจากนี้ธนาคารกลางจีนมีมาตรการคุมเข้มนโยบายการเงินและสินเชื่อหลังอัตราการปล่อยกู้จากธนาคารเพิ่มสูงขึ้นมากจนอาจทำให้เกิดภาวะฟองสบู่และหนี้เสียจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 4 ปี 2552 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน รวมถึงการปล่อยกู้ในประเทศจีน ทำให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นและชดเชยกับการส่งออกที่ยังคงลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น(4)

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 2552 GDP หดตัวร้อยละ 4.7 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 1.4 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 0.03 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 0.7 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 38.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 26.9 การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคครัวเรือนในไตรมาส 3 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 0.03 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 0.8 การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 3 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 16.4 เป็นการหดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 5.3 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 88.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 92.8

การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 5.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 23.2 เป็นการลดลงในตลาดส่งออกหลัก เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป การนำเข้าไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 19.3 หดตัวมากกว่าไตรมาส 4 ปี 2551 มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 9.5

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 4 ปี 2552 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -2.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.0 เป็นผลมาจากราคาสินค้าบริโภคลดลง อัตราการว่างงานในไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 5.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.9

ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2552 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.1

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 4 ปี 2552 คาดว่ายังคงอยู่ในภาวะถดถอย เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังประสบปัญหาเงินฝืด ค่าเงินเยนแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และปัญหาภาวะตกต่ำของราคาสินค้า

เศรษฐกิจสหภาพยุโรป(5)

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปในไตรมาส 3 ปี 2552 GDP หดตัวร้อยละ 4.0 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 ในส่วนของ GDP ภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 16.7 หดตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ 0.5 การบริโภคไตรมาส 3 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 0.9 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 88.5 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ ระดับ 104.2 ในขณะที่เดือนตุลาคม และพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 88.2 และ 88.9 ตามลำดับ

การส่งออกไตรมาส 3 ปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 18.6 น้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 สำหรับมูลค่าการส่งออกในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน ลดลงร้อยละ 17.0 และ 2.3 ตามลำดับ การนำเข้าไตรมาส 3 ปี 2552 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 27.8 น้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 สำหรับมูลค่าการนำเข้าในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายนลดลงร้อยละ 24.5 และ 16.6 ตามลำดับ

ภาวะเงินเฟ้อทั่วไปของกลุ่มประเทศยุโรปในไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.3 อัตราการว่างงานในไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 9.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.7

ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 1.0

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหภาพยุโรปในไตรมาส 4 ปี 2552 ยังคงอยู่ในภาวะถดถอย และในขณะนี้ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปบางประเทศประสบปัญหาภาระหนี้สินและการขาดดุลงบประมาณ เช่น ประเทศกรีซ สเปน และโปรตุเกส

เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมในเอเชีย

เศรษฐกิจฮ่องกง(6)

เศรษฐกิจของฮ่องกงในไตรมาส 3 ปี 2552 GDP หดตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดย GDP มีการหดตัวน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากความต้องการภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนหลังจากหดตัวต่อเนื่องนาน 4 ไตรมาสในไตรมาส 3 ปี 2552 ได้กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 การบริโภคของภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.3 ขณะที่อัตราการว่างงานหลังปรับฤดูกาลในไตรมาส 3 ปี 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 5.3 ลดลงจากไตรมาส 2 ปี 2552 ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 5.4 สาเหตุสำคัญมาจากการจ้างงานในภาคการก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้น ในส่วนของภาคการผลิต ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 96.7 หดตัวร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านการส่งออกในไตรมาส 4 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกสินค้า 92,859 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ปรับตัวดีขึ้นโดยเริ่มมีขนาดของการหดตัวน้อยลงเป็นผลจากการส่งออกไปยังตลาดจีนขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของฮ่องกง มีมูลค่าการส่งออก 47,048 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.7 ของมูลค่า การส่งออกทั้งหมด ส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่มูลค่าการส่งออกยังคงลดลงร้อยละ 15.5 และ 1.6 ตามลำดับ สินค้าส่งออกสำคัญของฮ่องกงได้แก่ Electrical Machinery ที่มีมูลค่าการส่งออก 42,336 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2551 รองลงมาคือ Machinery (Reactors, Boilers) มีมูลค่าการส่งออก 12,206 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 11.0

ด้านการนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้าสินค้า 101,112 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดนำเข้าสำคัญอย่างจีน มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 2.9 ส่วนตลาดญี่ปุ่นมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 สำหรับสินค้านำเข้าที่สำคัญอย่าง Electrical Machinery มีมูลค่าการนำเข้า 45,640 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3

ด้านการเงินการธนาคารในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ฮ่องกงยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 0.5 โดยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงราคาหุ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

เกาหลีใต้(7)

เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ไตรมาส 4 ปี 2552 GDP ขยายตัวร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นจากความต้องการภายในประเทศและการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.6 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 6.4 และภาคการส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.3 ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม ปี 2552 ยังคงอยู่ที่ระดับ 113 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับในเดือนพฤศจิกายน ปี 2552 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในระดับสูงกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 ด้านดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ระดับ 129.9 ขยายตัวร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม ปี 2552 อยู่ที่ระดับร้อย ละ 3.5 เพิ่มขึ้นจากในเดือนพฤศจิกายน ปี 2551 ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 3.3

ด้านการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกสินค้า 103,971 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างจีนมีมูลค่าการส่งออก 25,445 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 45.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนรองลงมาคือ สหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออก 10,034 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.2 สินค้าส่งออกสำคัญของเกาหลีใต้ยังคงเป็นสินค้าประเภท Electrical Machinery, Vehicles และ Machinery (Reactors, Boilers) ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7, 3.9 และ 18.4 ตามลำดับ

ด้านการนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้า 92,852 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญอย่างจีนมีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 5.7 ส่วนตลาดญี่ปุ่น และสหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 และ 0.6 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น การนำเข้าสินค้าประเภทเชื้อเพลิงที่มีมูลค่าการนำเข้า 27,047 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.7 รองลงมาเป็นสินค้าประเภท Electrical Machinery และ Machinery (Reactors, Boilers) ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 และ 10.4 ตามลำดับ

ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 113.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลายรายการ โดยค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งขยายตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ร้อยละ 6.8

ด้านการเงินการธนาคาร เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2010 มติที่ประชุมของธนาคารกลางของเกาหลีใต้ยังให้คงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.0 แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเริ่มส่งสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นแล้ว ก็ตาม เนื่องจากธนาคารกลางเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอน

สิงคโปร์(8)

เศรษฐกิจของสิงคโปร์ในไตรมาส 4 ปี 2552 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 เนื่องมาจากการปรับตัวดีขึ้นของภาคการก่อสร้าง และภาคการบริการที่ขยายตัวร้อยละ 11.2 และ 3.7 ตามลำดับ ในส่วนของภาคการผลิตขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0 อย่างไรก็ตาม GDP ในไตรมาส 4 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2552 หดตัวร้อยละ 6.8 จากการที่ภาคการผลิตหดตัวลงถึงร้อยละ 38.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ด้านดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม ปี 2552 ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 100.2 ขยายตัวร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการที่ผลผลิตในกลุ่มสินค้าอิเลคทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับวิศวกรรมการวัดคุม (Precision Engineering) และ กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตทั่วไปขยายตัวร้อยละ 57.3 27.7 14.7 และ 2.1 ตามลำดับ ขณะที่อัตราการว่างงานหลังปรับฤดูกาลในไตรมาส 4 ปี 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 2.1 ลดลงจากไตรมาส 3 ปี 2552 ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 3.4

ดัชนีการค้าปลีกในเดือนพฤศจิกายน ปี 2552 ลดลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนปี 2551 ขณะที่ดัชนีการค้าปลีกไม่รวมกลุ่มยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 แสดงถึงการบริโภคภายในประเทศ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจนาฬิกาและเครื่องประดับมียอดค้าปลีกปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดที่ระดับร้อยละ 14.8

ทางด้านอัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนโดยค่าใช้จ่ายด้านขนส่งและการสื่อสารมีการปรับตัวของราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ค่าดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ส่วนราคาของที่อยู่อาศัยลดลงร้อยละ 5.6

ด้านการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกสินค้า 72,457 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 22.3 การส่งออกไปยังตลาดสำคัญทั้งมาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย และจีน ต่างมีมูลค่าการส่งออกลดลงมาก โดยตลาดมาเลเซียมีมูลค่าการส่งออก 8,575 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 23.8 ส่วนฮ่องกง อินโดนีเซีย และจีน มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 12.8 30.9 และ 22.3 ตามลำดับ ซึ่งสินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่ต่างมีมูลค่าการส่งออกลดลงเป็นตัวเลขถึงสองหลักทั้งสินค้าประเภท Electrical Machinery ที่มีมูลค่า การส่งออกลดลงร้อยละ 18.4 Machinery (Reactors, Boilers) ลดลงร้อยละ 19.0 และ Mineral Fuel, Oilลดลงถึงร้อยละ 40.5

ด้านการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้า 65,748 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 25.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการนำเข้าจากตลาดสำคัญต่างมีมูลค่าการนำเข้าติดลบในทุกตลาด ทั้งมาเลเซียที่มีมูลค่าการนำเข้าทั้งสิ้น 7,468 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 28.7 สหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 24.3 และจีนมีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 27.7 ซึ่งสินค้านำเข้าที่สำคัญทั้ง Electrical Machinery, Mineral Fuel, Oil และ Machinery (Reactors, Boilers) ต่างมีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 19.3 36.2 และ 21.8 ตามลำดับ

อินโดนีเซีย(9)

เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 โดย GDP ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 นั้น GDP ขยายตัวร้อยละ 5.6 ซึ่งปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซียขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งในไตรมาสที่ 3 นั้นการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สำหรับการลงทุนภาคเอกชนนั้นขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยดัชนีราคาผู้บริโภคมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 ในไตรมาสที่ 3 และทั้งปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 4.8 ขณะที่ดัชนีภาคการผลิตในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ด้านการเงินการธนาคารนั้น ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ6.75 เป็น ร้อยละ 6.5 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ

สำหรับการส่งออกของประเทศอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 3 มีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 21.4 ซึ่งเป็นการหดตัวที่ลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2552 สำหรับการส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกนั้นมีมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 92,386 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงร้อยละ 22.01 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศที่เป็นตลาดหลักได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน และ สหรัฐอเมริกา มูลค่าการส่งออกของตลาดหลักเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้นลดลงในทุกตลาด โดยการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นหดตัวมากถึงร้อยละ 37.62 ซึ่งหมวดสินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุดได้แก่ น้ำมัน และแร่เชื้อเพลิง มูลค่าส่งออก 25,351 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 27.64

สำหรับการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 นั้นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 26.1 และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552 การนำเข้ามีมูลค่า 77,714 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.84 จากมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าทำให้ประเทศอินโดนีเซียเกินดุลการค้าทั้งในไตรมาสที่ 3 และ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2552

มาเลเซีย(10)

เศรษฐกิจของมาเลเซียในไตรมาส 3 ปี 2552 GDP หดตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 เศรษฐกิจเริ่มปรับฟื้นตัวโดย GDP มีการหดตัวน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการบริโภคของภาคเอกชน ที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 และการบริโภคของรัฐที่ขยายตัวถึงร้อยละ 10.9 ทางด้านอุปทานภาคการบริการ และภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.4 และ 7.9 ตามลำดับ ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิตหดตัวร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายนปี 2552 หดตัว ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากการหดตัวของดัชนีผลผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ลดลงร้อยละ 7.4 จากการที่ดัชนีผลผลิตน้ำมันดิบหดตัว ขณะที่ผลผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ขยายตัวร้อยละ 0.9 จากการขยายตัวของการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก สำหรับกลุ่มไฟฟ้าการผลิตขยายตัวร้อยละ 5.9 ขณะที่อัตราการว่างงานในไตรมาส 3 ปี 2552 อยู่ที่ระดับเดียวกับในไตรมาส 2 ปี 2552 คือ ร้อยละ 3.6

ด้านการส่งออกในไตรมาส 3 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกสินค้า 40,891 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 26.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญลดลงในทุกตลาด ทั้งตลาดสิงคโปร์ จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ลดลงร้อยละ 29.2 7.9 34.0 และ 31.2 ตามลำดับ สินค้าส่งออกสำคัญเป็นสินค้าประเภท Electrical Machinery มีมูลค่าการส่งออก 12,450 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 17.2 รองลงมาคือ สินค้าประเภท Machinery (Reactors, Boilers) มีมูลค่าการส่งออก 6,663 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 22.8

ด้านการนำเข้าในไตรมาส 3 ปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้าสินค้า 33,303 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 22.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการนำเข้าจากตลาดคู่ค้าหลักมีมูลค่าการนำเข้าลดลงในทุกตลาด ทั้งตลาดจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 18.8 19.2 18.8 และ 18.8 ตามลำดับ โดยสินค้านำเข้าหลักอย่าง Electrical Machinery มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 23.8 รองลงมาคือ Machinery (Reactors, Boilers) และ Mineral Fuel,Oil ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 10.1 และ 42.3 ตามลำดับ

ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2552 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 113.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคกลับมาเพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดลงต่อเนื่องนาน 6 เดือน ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 ธนาคารกลางมาเลเซียยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.0 เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป

ฟิลิปปินส์(11)

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาส 4 ปี 2552 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2551 เนื่องมาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 และการบริโภคของภาครัฐที่ขยายตัวถึงร้อยละ 12.1 ส่วนทางด้านอุปทาน ภาคการบริการ และภาคอุตสาหกรรมการผลิตขยายตัวร้อยละ 4.2 และ 1.1 ตามลำดับ ในส่วนของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม ปี 2552 หดตัวร้อยละ 11.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการผลิตในสาขาหลัก 10 สาขาหดตัวเป็นตัวเลข 2 หลัก โดยผลผลิตในกลุ่มผลิตภัณฑ์หนัง หดตัวมากสุดที่ระดับร้อยละ 42.1 รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 35.3 และ 34.2 ตามลำดับ ขณะที่อัตราการว่างงานในไตรมาส 3 ปี 2552 อยู่ที่ระดับร้อยละ 7.6 เพิ่มขึ้นจากในไตรมาส 2 ปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับร้อยละ 7.5

ด้านการส่งออกในไตรมาส 3 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกสินค้า 10,419 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 21.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และฮ่องกงต่างมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 14.4 16.3 และ 25.1 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังเนเธอร์แลนด์ที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 3 มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของฟิลิปปินส์ได้แก่ สินค้าประเภท Electrical Machinery มีมูลค่าการส่งออก 3,250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 รองลงมาคือ สินค้าประเภท Special Classification Provisions และ Machinery (Reactors, Boilers) ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 38.5 และ 5.7 ตามลำดับ

ด้านการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้าสินค้า 11,313 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 28.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการนำเข้าจากตลาดคู่ค้าหลักมีมูลค่าการนำเข้าลดลงในทุกตลาด ทั้งตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ และจีน ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 12.5 29.4 และ 6.1 ตามลำดับ โดยสินค้านำเข้าหลัก อย่าง Electrical Machinery, Mineral Fuel,Oil และ Special Classification Provisions ต่างมีมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 11.6, 48.6 และ 24.9 ตามลำดับ

ทางด้านอัตราเงินเฟ้อ ในเดือนธันวาคม ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 8 เดือน ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

อินเดีย(12)

อินเดียถือเป็นประเทศที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกร่วมกับจีน โดยภาวะเศรษฐกิจอินเดียในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม ปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านการส่งออกในไตรมาส 3 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกสินค้า 41,166.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 21.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนพฤศจิกายน ปี 2552 อินเดียมีมูลค่าการส่งออก 13,199 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 ซึ่งถือเป็นเดือนแรกของปี 2552 ที่มูลค่าการส่งออกของอินเดียเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ด้านการนำเข้าในไตรมาส 3 ปี 2552 มีมูลการนำเข้าสินค้า 63,912.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 33.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนพฤศจิกายน ปี 2552 อินเดียมีมูลค่าการนำเข้า 22,888 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทางด้านการเงินการธนาคาร เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2553 ธนาคารกลางอินเดียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4.75 และปรับเพิ่มปริมาณเงินสดสำรองที่ธนาคารพาณิชย์ต้องถือครองเป็นร้อยละ 5.75 เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

หมายเหตุ

(1) - ข้อมูลบางส่วนของบางประเทศล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาส 3 ปี 2552

ที่มา www.eia.doe.gov www.thaioil.co.th

(2) - ที่มา www.worldbank.org www.imf.org www.bea.gov www.ceicdata.com

(3) ที่มา www.stats.gov.cn, www.pbc.gov.cn, www.ceicdata.com

(4) - ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 3 ปี 2552

www.cao.go.jp www.boj.or.jp www.stat.go.jp www.ceicdata.com

(5) - ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 3 ปี 2552

ที่มา eurostat, www.ecb.int www.ceicdata.com

(6) - ที่มา www.hkeconomy.gov.hk, www.gov.hk/en/business,

www.apecthai.org, www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 3 ปี 2552

(7) - ที่มา www.nso.go.kr, www.apecthai.org, www.bok.or.kr/

www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

(8) - ที่มา www.singstat.gov.sg/, www.apecthai.org

www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาส 3 ปี 2552

(9) - ที่มา www.apecthai.org, www.bi.go.id

www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาส 3 ปี 2552

(10)- ที่มา www.statistics.gov.my, www.bnm.gov.my

www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาส 3 ปี 2552

(11)- ที่มา www.nscb.gov.ph, www.bsp.gov.ph, www.otp.moc.go.th

www.ceicdata.com, www.gtis.com/gta

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาส 3 ปี 2552

(12)- ที่มา www.exim.go.th, www.ceicdata.com , www.otp.moc.go.th

ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาส 3 ปี 2552

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ