จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 หดตัวร้อยละ -2.8 ซึ่งหดตัวน้อยลงจากไตรมาสที่ 1 (-7.1) และไตรมาสที่ 2 (-4.9)ของปี 2552 แต่หดตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวน้อยลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา คือ การใช้จ่ายอุปโภคของรัฐบาลที่ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนในประเทศหดตัวน้อยกว่าไตรมาสที่ผ่านมา จากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 1 ของรัฐบาลและอัตราการว่างงานเริ่มลดลงทำให้กำลังซื้อของประชาชนเริ่มสูงขึ้น ในขณะที่การลงทุนของภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง
ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 หดตัวร้อยละ -5.9 ซึ่งหดตัวน้อยลงจากไตรมาสที่ 1 (-14.4) และไตรมาสที่ 2 (-8.7) ของปี 2552 แต่หดตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 การที่ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 หดตัวน้อยลงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากอุตสาหกรรมวัตถุดิบ (โรงกลั่นน้ำมัน เคมีและเคมีภัณฑ์) และอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยี (เครื่องจักรสำนักงาน ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์) เริ่มปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมเบา (อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม หนังและเครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ) หดตัวต่อเนื่อง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าทั้งปี 2552 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ -3.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2551
สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 พบว่า ส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิต สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการผลิตและการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เช่น Hard Disk Drive ยานยนต์ และเบียร์ เป็นต้น โดยจะเห็นว่าในเดือนธันวาคม 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายเดือนในภาพรวมมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 30.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2551 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานตัวเลขการผลิตที่ต่ำในเดือนธันวาคม 2551 และเศรษฐกิจมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน สำหรับมูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลงร้อยละ 14.2 (ม.ค.-ธ.ค.52) เมื่อเทียบกับปี 2551 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอัญมณีและเครื่องประดับ
ในส่วนของการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 เช่นเดียวกัน
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ 185.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (174.6) ร้อยละ 6.0 และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (165.9) ร้อยละ 11.5
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ เบียร์ น้ำตาล ผลไม้และผักแปรรูป เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ Hard Disk Drive อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้นในปี 2552 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีค่า 166.1 ลดลงจากปี 2551 (178.9) ร้อยละ 7.2 โดย
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย เบียร์ โทรทัศน์สีเป็นต้น
ดัชนีการส่งสินค้า
ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 185.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (175.4) ร้อยละ 5.9 และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (165.1)ร้อยละ 12.6
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive เบียร์น้ำโซดาและน้ำดื่มบริสุทธิ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ Hard Disk Drive อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เหล็ก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เป็นต้น
ในปี 2552 ดัชนีการส่งสินค้า มีค่า 164.6 ลดลงจากปี 2551 (178.9) ร้อยละ 8.0 โดยอุตสาหกรรมหลักที่สงผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โทรทัศน์สี ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์รถจักรยานยนต์ เป็นต้น
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 172.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (169.3) ร้อยละ 1.6 แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (201.7) ร้อยละ 14.7
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ รองเท้า เบียร์ เหล็ก Hard Disk Drive ยานยนต์ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ เบียร์ ยานยนต์ เส้นใยสิ่งทอ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น
ในปี 2552 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง มีค่า 181.6 ลดลงจากปี 2551 (189.1) ร้อยละ 4.0 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่ Hard Disk Drive เส้นใยสิ่งทอ โทรทัศน์สี เบียร์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น
อัตราการใช้กำลังการผลิต
อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 61.1 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 57.9) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (ร้อยละ 56.5)
อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ เหล็ก Hard Disk Drive น้ำโซดาและน้ำดื่มบริสุทธิ์ เบียร์ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ได้แก่ Hard Disk Drive เหล็ก เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น
ในปี 2552 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 56.3 ลดลงจากปี 2551 (ร้อยละ 62.6) โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ ยานยนต์ เส้นใยสิ่งทอ Hard Disk Drive โทรทัศน์สี ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ เป็นต้น
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยรวมเฉลี่ยมีค่า 79.5 พิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (74.5) และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (74.9) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนีได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งจากไตรมาสที่ผ่านมาและ
ไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ส่วนดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ คณะรัฐมนตรีพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ กระทรวงการคลังคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2553 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 จากในปี 2552 ที่คาดว่าจะติดลบร้อยละ 2.8 โครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเริ่มมีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยที่ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงลบอยู่ เช่น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในปัจจุบัน สถานการณ์ไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกความกังวลเกี่ยวกับการชะลอโครงการลงทุนที่มาบตาพุด
เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีค่า 69.2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (67.3) แต่ยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคขาดแคลนความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับที่ดีเนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภควิตกกังวล
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีค่า 67.9 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (66.4) แต่ยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวการณ์จ้างงานโดยรวมยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีค่า 92.5 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (89.8) แต่ยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แม้ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับรายได้
ในอนาคต แต่ระดับความเชื่อมั่นยังคงสูงกว่าความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจและโอกาสการหางานทำในปี 2552 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยมีค่า 77.8 ปรับตัวลดลงจากปี 2551 ที่มีค่า 75.0
จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีค่าเท่ากับ 49.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (46.7) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (36.5) โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ดัชนีโดยรวมมีค่าใกล้เคียง 50 แล้ว แสดงว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจทรงตัว ผู้ประกอบการยังคงมองว่าภาวการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตมีแนวโน้มทรงตัว สำหรับดัชนีที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2551 คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การลงทุนของบริษัท การจ้างงานของบริษัท และการผลิตของบริษัท
ในปี 2552 ดัชนีโดยรวมมีค่า 44.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2551 ที่มีค่า 41.5 โดยดัชนีที่เพิ่มขึ้นจากปี 2551 คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด และการผลิตของบริษัท
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI) จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 107.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (91.3) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (70.1) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นว่าภาวการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับดี หรือมีสภาพดีขึ้น โดยในเดือนธันวาคม 2552 ดัชนีมีค่า 113.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2552 (104.7) ซึ่งค่าดัชนีปรับตัวเกิน 100 เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 โดยเป็นผลมาจากองค์ประกอบดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อรวม ยอดขายรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังคงขยายตัว ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นประกอบกับอยู่ในช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ จึงทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีความกังวลในด้านต้นทุน ซึ่งสะท้อนจากความเชื่อมั่นในองค์ประกอบด้านต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้เป็นเพราะราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นตามปริมาณความต้องการวัตถุดิบที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ให้มีการเร่งรัดการแก้ปัญหามาบตาพุดให้กับภาคอุตสาหกรรม ให้ภาครัฐสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ SME มากขึ้น อยากเห็นการเมืองที่มีเสถียรภาพ เพราะไม่ต้องการให้มีเหตุการณ์ทางการเมืองกระทบกับเศรษฐกิจที่กำลังดีขึ้น สนับสนุนการจัดหาแรงงานในประเทศ หรือลดขั้นตอนในการจัดจ้างแรงงานต่างด้าว รวมทั้งมีมาตรการเพื่อพัฒนาคุณภาพแรงงานในระยะยาว และดูแลราคาเชื้อเพลิงไม่ให้สูงจนเกินไป
ในปี 2552 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 85.9 สูงกว่าปี 2551 ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 77.3
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index: LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 121.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 119.2 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง ณ ราคาคงที่ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดัชนีราคาส่วนกลับน้ำมันดิบ และมูลค่าการส่งออกณ ราคาคงที่
สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีค่าเฉลี่ย 120.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่มีค่า118.5 และดัชนีในปี 2552 มีค่าเฉลี่ย 118.7 เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ที่มีค่า 115.1
ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ
ค่าประมาณการเบื้องต้น ของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index: CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนธันวาคม 2552 อยู่ที่ระดับ 118.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 117.0 ตามการเพิ่มขึ้นของเครื่องชี้วัด ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ มูลค่าการนำเข้า ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ
สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีค่า 117.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่มีค่า 116.0 และดัชนีในปี 2552 มีค่าเฉลี่ย 114.7 ลดลงจากปี 2551 ที่มีค่า 117.7
การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค
ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีค่า 132.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (129.9) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (129.4) ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายหมวดเครื่องดื่ม ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและจักรยานยนต์ (ตารางที่ 5)
ในปี 2552 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2551 ตามการลดลงของปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ อย่างไรก็ตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ต่อเนื่องกัน 3 ไตรมาสแล้ว คาดว่าในปี 2553 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2552
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประมาณ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมมีค่า 167.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (159.6) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (171.6)
หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 4 ของปี2552 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551
การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551
ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ (ยังไม่มีข้อมูล ณ ขณะจัดทำรายงานฉบับนี้)
ในปี 2552 การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม ลดลงจากปี 2551 โดยเป็นการลดลงในปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ต่อเนื่องกัน 3 ไตรมาสแล้ว คาดว่าในปี 2553 การลงทุนภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2552 ภาวะราคาสินค้า
จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเท่ากับ 105.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (105.0) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (103.7) การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามราคาข้าว ผักและผลไม้ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร และกลุ่มอาหารและพลังงาน
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีค่าเท่ากับ 157.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (149.9) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2551 (147.9) โดยราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หมวดผลผลิตเกษตรกรรมและหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2551
ในปี 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่า 104.5 ปรับตัวลดลงจากปี 2551 ที่มีค่า 105.4 สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิตในปี 2552 มีค่า 150.9 ปรับตัวลดลงจากปี 2551 ที่มีค่า 156.9
แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 (ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.80 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 38.327 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.78 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.391 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.01)
สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่สี่ของปี 2552 มีจำนวน 5.465 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 14.26 ของผู้มีงานทำทั้งหมด
การค้าต่างประเทศ
สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ขยายตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 โดยในไตรมาสที่ 4 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 83,537.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 43,281.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 40,256.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 5.32 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.81 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ดุลการค้าเกินดุล 3,025.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.90 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.26
การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่าการส่งออกทั้ง 3 เดือน(ตุลาคม-ธันวาคม) มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนมูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรก ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 และในเดือนธันวาคมมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 13,839.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 14,628.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ
- โครงสร้างการส่งออก
การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 32,635.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 75.40) สินค้าเกษตรกรรม 4,987 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 11.52) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 3,153.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.29) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิง 2,505.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.79)
เมื่อเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่ามูลค่าการส่งออกของในทุกหมวดสินค้าเพิ่มขึ้น โดยสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.25 สินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.43 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.02 และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.34
ปี 2552 สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 16,018.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 10.50) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 11,121.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.29) อัญมณีและเครื่องประดับ 9,761.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.40) แผงวงจรไฟฟ้า 6,444.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อละ 4.23)น้ำมันสำเร็จรูป 5,429.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.56) ข้าว 5,046.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.31) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 4,952.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.25)ผลิตภัณฑ์ยาง 4,487.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.94) เคมีภัณฑ์ 4,466.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.93) และเม็ดพลาสติกมีมูลค่าการส่งออก 4,457.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.92) โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 72,186.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 47.33 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
- ตลาดส่งออก
การส่งออกไปยังตลาดหลักของไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 55.69 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกในตลาดสำคัญมีมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยมูลค่าการส่งออกในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.27 ตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.10 และตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.50 ยกเว้นการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นซึ่งลดลงร้อยละ 2.60
- โครงสร้างการนำเข้า
การนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด โดยมีมูลค่าการนำเข้า 16,768.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 41.66) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุนโดยมีมูลค่า 10,335.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 25.67) สินค้าเชื้อเพลิง 7,626.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 18.94) สินค้าอุปโภคบริโภค 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.44) สินค้าหมวดยานพาหนะ 1,663.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.13) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ 62.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.16) ตามลำดับ
โดยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าในหมวดหลักๆ อย่างสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่านำเข้าลดลง โดยสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 2.62 สินค้าทุนลดลงร้อยละ 1.43 และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 1.51 สำหรับสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งมีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.24 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.47 และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.40
- แหล่งนำเข้า
แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 51.62 ซึ่งสัดส่วนการนำเข้าของแหล่งนำเข้าสำคัญนั้นยังคงอยู่ระดับเดิมเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 แต่เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าแล้วจะพบว่ามีมูลค่าลดลงทั้งจากสภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่านำเข้าลดลงร้อยละ 4.07 และ 18.70 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าจากกลุ่มอาเซียนนั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.00 และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.07
แนวโน้มการส่งออก ปี 2553
ในปี 2553 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 14 คิดเป็นมูลค่า 173,852 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ปัจจัยบวกการส่งออกในปี 2553 มี 3 ด้านหลัก คือ 1) ภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ส่งผลดีต่อการส่งออก 2) แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปน่าจะปรับตัวสูงขึ้น หลังจากเกิดวิกฤตการณ์อาหารและภาวะโลกร้อนจนส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรทั่วโลก ซึ่งจะมีปริมาณสต๊อกลดลงซึ่งจะส่งผลดีทั้งในด้านปริมาณและราคา ส่งออกสินค้าหมวดเกษตรทั้งข้าว มันสำปะหลัง และน้ำตาล เป็นต้น และหมวดอุตสาหกรรมเกษตร 3) การลดภาษีภายใต้กรอบการค้าเสรี อาทิ กรอบการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งจะลดภาษีสินค้าทั้งหมด 100% หรือกว่า 8,000 รายการ เป็น 0% ในวันที่ 1 ม.ค. 2553 ซึ่งน่าจะทำให้ตลาดอาเซียนมีโอกาสขยายส่วนแบ่งการตลาดได้ถึงร้อยละ 20 ทั้งยังมีความตกลงเอฟทีเออาเซียน-คู่ค้า ทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นอินเดีย และออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งมีผลตามมา แต่ประเทศไทยต้องระวังว่า การลดภาษีในกลุ่มอาเซียนก็อาจจะนำมาซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงด้วยเช่นกัน
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบการส่งออกไทย ได้แก่ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีโอกาสจะปรับแข็งค่าขึ้นเป็น 32-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ตามเงินเหรียญสหรัฐ ที่อ่อนค่า ขณะที่คู่แข่งส่งออก เช่น เวียดนามค่าเงินอ่อนค่าลงไป ทำให้คู่ค้าต่างชะลอการสั่งซื้อ เพราะคาดว่าเวียดนามอาจจะปรับค่าเงินด่องลงอีก ซึ่งปัจจัยนี้จะส่งผลให้สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยแข่งขันกับคู่แข่งลำบากขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการใช้มาตรการ ที่มิใช่ภาษีของประเทศคู่ค้า เพราะยังมีสัญญาณว่าการปกป้องสินค้าในประเทศ (Protectionism)มากขึ้น โดยเฉพาะ ด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคเอกชนยังมีความกังวลปัญหาความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เกิดปัญหามาบตาพุดซึ่งส่งผลให้ขาดความมั่นใจในการประกอบธุรกิจและการลงทุน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยการเมืองที่ยังคงไม่มีเสถียรภาพอีก ขณะที่ปัจจัยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อาจจะก่อให้เกิดผลทั้งในเชิงบวกที่จะช่วยตลาดคู่ค้าไทย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันมีกำลังซื้อสูงขึ้น แต่ผลในเชิงลบจะสร้างภาระต้นทุน ด้านการผลิตและการขนส่งให้กับผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และยังมีความผันผวน อันเป็นผลมาจากหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณว่าการถดถอยทางเศรษฐกิจอาจจะถึงจุดต่ำสุด ทำให้มีการคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเข้ามาเก็งกำไรของกองทุนต่าง ๆ และปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกหนึ่งอย่าง คือเรื่องปัญหาการขาดแคลนแรงงานของอุตสาหกรรมส่งออกที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการปลดแรงงานจำนวนมากในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เมื่อคำสั่งซื้อเริ่มกลับเข้ามา แต่ไม่สามารถเรียกแรงงานที่ปลดไปแล้วกลับเข้ามาได้ ทำให้ประสบปัญหาด้านการผลิตเพื่อการส่งออก
การลงทุนจากต่างประเทศ
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนมีมูลค่ารวม 45,287.95 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 68.18 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนตุลาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 29,003.92 ล้านบาท และเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่า 16,284.03 ล้านบาท เมื่อพิจารณาตลอดทั้ง 11 เดือน ในปี 2552 พบว่าในเดือนตุลาคมมีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดซึ่งเกินระดับ 25,000 ล้านบาท
หมายเหตุ: 1/ เป็นการลงทุนในภาคธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารเท่านั้น
2/ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ = การลงทุนในทุนเรือนหุ้นบวกกับเงินกู้ในเครือ
3/ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไป เนื่องจากได้มีการปรับปรุงแบบรายงานซื้อขายเงินตราต่างประเทศของลูกค้ากับธนาคารทำให้ข้อมูลการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศผ่านบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศสมบูรณ์ขึ้น
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
การลงทุนจากต่างประเทศ
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนมีมูลค่ารวม 45,287.95 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 68.18 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนตุลาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 29,003.92 ล้านบาท และเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่า 16,284.03 ล้านบาท เมื่อพิจารณาตลอดทั้ง 11 เดือน ในปี 2552 พบว่าในเดือนตุลาคมมีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดซึ่งเกินระดับ 25,000 ล้านบาทในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 สาขาอุตสาหกรรมเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุดเป็นเงินลงทุน 20,509.47 ล้านบาท โดยหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีการลงทุนสุทธิมากที่สุดโดยมีมูลค่าเงินลงทุน 8,547.67 ล้านบาท รองลงมาคือหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ซึ่งมีเงินลงทุน 6,286.15 ล้านบาท และหมวดอื่นๆ 3,088.57 ล้านบาท ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนคือประเทศญี่ปุ่นมีเงินลงทุนสุทธิ 14,827.22 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์โดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 13,126.16 ล้านบาท และ 3,057.58 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOIมีจำนวนทั้งสิ้น 316 โครงการ ซึ่งลดลงจากจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 453 โครงการ โดยโครงการทั้ง 316 โครงการนั้นมีเงินลงทุน 105,400 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 53.97 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 111 โครงการคิดเป็นเงินลงทุน 28,200 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 87 โครงการ เป็นเงินลงทุน 60,300 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 56,000 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 26,400 ล้านบาท และเคมี กระดาษ และพลาสติกมีเงินลงทุน 10,000 ล้านบาท
สำหรับแหล่งทุนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 77 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 18,039 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์จำนวน 19 โครงการ มีเงินลงทุน 13,086 ล้านบาท ประเทศจีนจำนวน 4 โครงการ เป็นเงินลงทุน 6,446 ล้านบาท และประเทศมาเลเซีย 7 โครงการ เป็นเงินลงทุน 4,500 ล้านบาท
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--