สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2552 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2552(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 18, 2010 15:33 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีประมาณ 2,394,248 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 142.85 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงนี้เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น ยานยนต์ มีการผลิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากโครงการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 ของภาครัฐส่งผลให้อุตสาหกรรมก่อสร้างได้รับผลบวกไปด้วย และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 146.30 รองลงมาคือ เหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 140.10

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในปี 2552 มีประมาณ 6,967,722 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ )ลดลง ร้อยละ 8.49 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 50.45 รองลงมาคือผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 29.78 โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอตัวตั้งแต่ช่วงกลางปี 2551 จึงมีผลทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีความต้องการใช้เหล็กลดลง

การใช้ในประเทศ(1)

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ประมาณ 3,733,158 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 76.93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงยาวที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 146.26 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งมีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานจึงมีผลทำให้ความต้องการเหล็กใช้เหล็กในประเทศเพิ่มมากขึ้น สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 51.18 อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระดับสต๊อกที่เพิ่มขึ้นด้วย

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญใน ปี 2552 ประมาณ 9,845,951 เมตริกตันลดลง ร้อยละ 19.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงยาวที่ลดลง ร้อยละ 19.42 และเหล็กทรงแบนที่ลดลง ร้อยละ 18.95

การนำเข้า-การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีจำนวนประมาณ 75,525 ล้านบาท และ 3,453,548 เมตริกตัน โดยมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 12.45 แต่ปริมาณการนำเข้ากลับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 51.66 เนื่องจากเหล็กในตลาดโลกช่วงนี้มีราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระดับสต็อกเหล็กที่สูงของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่คือประเทศจีน จึงเป็นเหตุให้ผู้ค้าเหล็กบางรายเริ่มขายสินค้าในราคาต่ำกว่าทุน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและเร่งระบายสต็อกสินค้าก่อนที่ราคาเหล็กจะลดลงไปมากกว่านี้ โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ประเทศรัสเซียและญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน (HR plate) ลดลง ร้อยละ 78.08 รองลงมาคือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 71.53 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 66.40 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก (Billet) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 248.96 รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 139.71

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กแท่งแบน (Slab) มีมูลค่า 15,563 ล้านบาท รองลงมาคือ เหล็กแท่งแบน (Slab) มีมูลค่า 9,805 ล้านบาทและเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน มีมูลค่า 8,298 ล้านบาท รายละเอียดตามตารางที่ 3

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญใน ปี 2552 มีจำนวนประมาณ 194,432 ล้านบาท และ 8,072,049 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการนำเข้าลดลง ร้อยละ 42.01 และ 21.21 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นบางรีดร้อน (HR sheet) ลดลง ร้อยละ 58.96 รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆลดลง ร้อยละ 57.20 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 50.63 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กแท่งแบน (Slab) มีมูลค่า 31,438 ล้านบาท รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน มีมูลค่า 20,893 ล้านบาท

การส่งออก

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีจำนวนประมาณ 10,042 ล้านบาท และ 297,809 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 43.34 และ 48.16 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลง ทำให้ผู้ซื้อต่างชะลอการซื้อเพื่อรอดูสถานการณ์ทางด้านราคาที่ชัดเจน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก ลดลง ร้อยละ 98.77 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 95.15 และ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า ลดลง ร้อยละ 90.39

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าในปี 2552 มีจำนวนประมาณ 37,376 ล้านบาท และ 1,352,558 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออก ลดลง ร้อยละ 49.86 และ 37.98 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดในช่วงนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน ลดลง ร้อยละ 84.87 เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลงร้อยละ 76.13 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า ลดลง ร้อยละ 75.41

2. สรุป

สถานการณ์เหล็กโดยรวมใน ปี 2552 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมลดลงขึ้น ร้อยละ 8.49 ความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ 19.13 สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้า ลดลง ร้อยละ 42.01 และ 21.21 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กแผ่นบางรีดร้อน (HR sheet) ลดลง ร้อยละ 58.96 รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ชนิดอื่นๆลดลง ร้อยละ 57.20 และ เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน (HR sheet P&O) ลดลงร้อยละ 50.63 สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออก ลดลง ร้อยละ 49.86 และ 37.98 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดในช่วงนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแผ่นหนารีดร้อน ลดลงร้อยละ 84.87 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน ลดลง ร้อยละ 76.13 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลก ทำให้ความต้องการเหล็กในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง(ยานยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า) รวมทั้งเหล็กที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ลดลงอย่างมาก สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กลดลงโดยเฉพาะเหล็กทรงแบน สาเหตุหลักมาจากอุตสาหกรรมปลายทางที่มีการบริโภคในเหล็กกลุ่มนี้โดยเฉพาะเหล็กที่เป็นเกรดคุณภาพสูงที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีภาวะการผลิตที่ชะลอตัว ในขณะที่การส่งออกก็ยังไม่มีการฟื้นตัว

3.แนวโน้ม

แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2552 คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวโดย

  • เหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าการผลิตจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเริ่มขยายตัวขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งมีการลงทุนทางด้านโครงการการขนส่ง Logistic จะมีผลทำให้ความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากขึ้น
  • เหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้นและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีการฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้เหล็กชนิดนี้มากยิ่งขึ้น

หมายเหตุ

(1) ข้อมูลการใช้ในประเทศจะเป็นปริมาณการใช้ปรากฎ (Apparent Steel Use) ซึ่งรวมสต๊อกไว้ด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ