สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2552 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2552(อุตสาหกรรมยานยนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 18, 2010 15:51 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

  • งานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 26 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-13 ธันวาคม 2552 ณ อิมแพค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อน สู่ความยั่งยืน” หรือ “ DRIVING FOR SUSTAINABILITY” ซึ่งมีค่ายรถยนต์นำยานยนต์มาแสดงภายในงานกว่า 32 ยี่ห้อ สำหรับงานนี้ได้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายรถยนต์จากหลากหลายยี่ห้อ โดยมียอดการจองรถยนต์ทั้งสิ้น 25,220 คัน เพิ่มขึ้นจากงานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 25 ในปี 2551 ที่มียอดจองรถยนต์ 14,690 คัน ร้อยละ 71.68 (ที่มา : www.maneger.co.th)
  • เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา ดังนี้ (ที่มา : www.thaigov.go.th)

1. กำหนดให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามร้อยหกสิบห้าวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

2. ยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2540

3. ปรับปรุงการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก.721 — 2551 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3998 (พ.ศ.2552) ออกตามความในพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เรื่อง ยกเลิกและกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ ลงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

  • เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ภาชนะที่ใช้บรรจุก๊าซธรรมชาติอัดเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือเป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... (มาตรการควบคุมการนำเข้าถังก๊าซธรรมชาติอัด) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติ โดยกระทรวงพาณิชย์เสนอว่า (ที่มา : www.thaigov.go.th)

1. ได้รับแจ้งจากกระทรวงพลังงานว่า เนื่องจากได้เกิดอุบัติภัยถังก๊าซธรรมชาติระเบิดหลายครั้ง สาเหตุมาจากถังก๊าซธรรมชาติอัด(CNG) ที่นำเข้าจากต่างประเทศไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด เพื่อป้องกันมิให้มีการนำถังก๊าซธรรมชาติอัดที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในประเทศไทย กระทรวงพลังงาน โดยกรมธุรกิจพลังงานจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายในการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยถังก๊าซ CNG ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อยกร่างกฎหมายกำกับดูแลและตรวจสอบการนำเข้าถังก๊าซ CNG จากต่างประเทศให้ได้มาตรฐาน

2. คณะกรรมการฯ ตามข้อ 1. ได้ประชุมร่วมกัน ได้ข้อสรุปว่า ควรกำหนดมาตรการควบคุมการนำเข้าถังก๊าซธรรมชาติอัดจากต่างประเทศให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 ของกระทรวงพาณิชย์ในการกำหนดมาตรการดังกล่าว เนื่องจากกระทรวงพลังงานไม่มีกฎหมายที่สามารถควบคุมการนำเข้าถังก๊าซฯ ได้

3. คณะกรรมการฯ ได้ยกร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์เพื่อกำกับดูแลการนำเข้าถังก๊าซฯ และจัดให้มีการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย (Focus Group) แล้ว จึงได้ส่งร่างประกาศดังกล่าวให้กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศฯ มีดังนี้

1. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

2. ให้ภาชนะที่ใช้บรรจุก๊าซธรรมชาติอัดที่ใช้แล้ว หรือภาชนะที่ใช้บรรจุก๊าซธรรมชาติอัดที่ไม่ปรากฏรายละเอียดตามมาตรฐานที่ใช้ผลิตแสดงติดอยู่บนภาชนะนั้น เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร

3. ให้ภาชนะที่ใช้บรรจุก๊าซธรรมชาติอัดนอกเหนือจากข้อ 2. เป็นสินค้าที่ต้องผ่านการทดสอบตามหลักเกณฑ์จากกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน หรือผู้ที่กรมธุรกิจพลังงานให้การรับรองและได้รับหนังสือรับรองจากกรมธุรกิจพลังงานไปแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากรในการนำเข้า ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยคำแนะนำของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน

  • เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2552 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการปรับปรุงโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากรปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย และร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากร ตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และส่งร่างประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวให้คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศ มีดังนี้

1. ปรับปรุงโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากรวัตถุดิบ/ ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 9 ประเภทย่อย ในจำนวนนี้ มีประเภทย่อย 7311.00.11 ประเภทย่อย 7311.00.19 ประเภทย่อย 7311.00.91 และประเภทย่อย 7311.00.99 เฉพาะถังบรรจุกาซธรรมชาติ จัดทำด้วยเหล็กกล้า ซึ่งปัจจุบันมีอัตราอากรร้อยละ 17 ปรับใหม่เป็นยกเว้นอากร (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2552 ถึง 31 ธันวาคม 2553)

2. ขยายระยะเวลาการยกเว้นอากรขาเข้าถังบรรจุก๊าซธรรมชาติประเภทถังเหล็กจำนวน 4 ประเภทย่อย ได้แก่ 7311.00.11 ประเภทย่อย 7311.00.19 ประเภทย่อย 7311.00.91 และประเภทย่อย 7311.00.99 ซึ่งการยกเว้นอากรขาเข้าจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 ออกไปอีกหนึ่งปี ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553

3. แก้ไขถ้อยคำรายการสินค้าที่ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างอัตราอากรขาเข้าไปแล้วจำนวน 3 ประเภทย่อย ได้แก่ ประเภทย่อย 7226.92.10 ประเภทย่อย 7226.92.90 และประเภทย่อย 8523.59.40

4. ให้ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป

  • สถานการณ์ด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ ในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2552 มีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวม 13 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวมกว่า 1,087.80 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 700 คน ในจำนวนนี้เป็นโครงการผลิตรถบรรทุก 2 โครงการ และโครงการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ 1 โครงการ (รายละเอียดเพิ่มเติมที่www.boi.go.th)

อุตสาหกรรมรถยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในปี 2552 มีจำนวน 999,378 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตปี 2551 ลดลงร้อยละ 28.31 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ลดลงร้อยละ 21.93, 31.19 และ 14.50 ตามลำดับ ซึ่งจากปริมาณการผลิตรถยนต์โดยรวม เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 552,060 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.24 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด โดยแบ่งเป็นการผลิตรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์นั่งเพื่อการส่งออก ร้อยละ 80 และ 20 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 มีการผลิตรถยนต์ จำนวน 347,750 คันเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.90 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.75, 4.44 และ 37.04 ตามลำดับ หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สี่กับไตรมาสที่สามของปี 2552 ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.45 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.83, 38.23 และ 33.87 ตามลำดับ

การจำหน่าย ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ของประเทศไทยในปี 2552 มีจำนวน 548,871 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ลดลงร้อยละ 10.62 โดยมีการจำหน่ายรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ลดลงร้อยละ 20.41 และ 16.18 ตามลำดับ แต่การจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรถยนต์ PPV รวม SUV เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.86 และ 2.17 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 มีการฃจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 182,387 คัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.42 โดยมีการจำหน่ายรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ PPV รวม SUV เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.81, 9.34, 19.31 และ 28.59 ตามลำดับ หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สี่กับไตรมาสที่สามของปี 2552 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.05 โดยมีการจำหน่ายรถยนต์นั่งรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ และรถยนต์ PPV รวม SUVเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.09, 33.74, 28.56 และ 43.72 ตามลำดับ

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของประเทศไทยในปี 2552 มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ (CBU) โดยรวมจำนวน 535,563 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ลดลงร้อยละ 31.01 ถ้าคิดเป็นมูลค่าการส่งออกมีมูลค่า 251,342.99 ล้านบาท ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 28.52 เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 มีปริมาณการส่งออกรถยนต์โดยรวม จำนวน 171,767 คัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 80,886.50 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 2.80 แต่คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.20 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สี่กับไตรมาสที่สามของปี 2552 ปริมาณการส่งออกรถยนต์โดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.14 คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.14 สำหรับไตรมาสสี่ของปี 2552 การส่งออกมีการขยายตัว สาเหตุสำคัญเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น เอเชีย และออสเตรเลีย เป็นต้น

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ารถยนต์นั่งเป็นประเภทรถยนต์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด โดยในปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 132,673.27 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 20.03 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถยนต์นั่งในปี 2552 ได้แก่ ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 21.42, 13.08 และ 10.02 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถยนต์นั่งไปออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย มีมูลค่าลดลงร้อยละ 37.37 และ 33.66 ตามลำดับ แต่การส่งออกรถยนต์นั่งไปซาอุดีอาระเบีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.83 มูลค่าการส่งออกรถแวนและปิกอัพของไทยในปี 2552 มีมูลค่า 92,034.93 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 38.13 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถแวนและปิกอัพในปี 2552 ได้แก่ ออสเตรเลีย มาเลเซีย และซาอุดีอาระเบีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 36.81, 4.72 และ 4.43 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถแวนและปิกอัพไปซาอุดิอาระเบีย มีมูลค่าลดลงร้อยละ 53.78 แต่การส่งออกรถแวนและปิกอัพไปออสเตรเลีย และมาเลเซีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.67 และ 41.77 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกรถบัสและรถบรรทุกของไทยในปี 2552 มีมูลค่า 27,750.49 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 11.96 ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถบัสและรถบรรทุกในปี 2552 ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย ออสเตรเลีย และจอร์แดน คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 26.92, 20.44 และ 8.17 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถบัสและรถบรรทุกไปออสเตรเลีย มีมูลค่าลดลงร้อยละ 32.32 แต่การส่งออกกรถบัสและรถบรรทุกไปซาอุดีอาระเบีย และจอร์แดน มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.02 และ 26.61 ตามลำดับ

การนำเข้า การนำเข้ารถยนต์ของประเทศไทยในปี 2552 มีการนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถโดยสารและรถบรรทุกคิดเป็นมูลค่า 15,753.29 และ 12,709.38 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 พบว่า การนำเข้ารถยนต์นั่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.66 แต่การนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ลดลงร้อยละ 22.47 เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สี่ปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุก 5,852.20 และ 4,337.09 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่า มูลค่าการนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุกเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.40 และ 18.69 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบไตรมาสที่สี่กับไตรมาสที่สามปี 2552 มูลค่าการนำเข้ารถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารและรถบรรทุกเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.89 และ 37.58 ตามลำดับ แหล่งนำเข้ารถยนต์นั่งที่สำคัญในปี 2552 ได้แก่ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 37.57, 16.86 และ 12.85 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์นั่งจากญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และเยอรมนี เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.11, 0.96 และ 19.56 ตามลำดับ ส่วนแหล่งนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกที่สำคัญในปี 2552 ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 68.74, 6.85 และ 5.13 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถยนต์ โดยสารและรถบรรทุกจากเยอรมนี ลดลงร้อยละ 10.64 แต่การนำเข้ารถยนต์โดยสารและรถบรรทุกจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.71 และ 49.83 ตามลำดับ

ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2552 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรฐกิจโลก ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยชะลอตัว โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552 อุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับสถาบันการเงินต่างๆ มีความเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อซื้อรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการรายหนึ่งหยุดกิจการชั่วคราว อันเป็นผลจากปัญหาด้านแรงงาน อย่างไรก็ดี ภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่สี่ปี 2552 มีการขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับตลาดภายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ สาเหตุเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับเป็นช่วงจัดงาน Motor Expo มีบริษัทรถยนต์ค่ายต่างๆ แนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ และจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงสิ้นปี ในขณะที่การส่งออกยังชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น จากข้อมูลแผนการผลิตของผู้ประกอบการ ประมาณการว่า ในไตรมาสที่หนึ่งปี 2553 จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 380,000 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 90.98 แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 150,000 คัน และการผลิตเพื่อการส่งออก 230,000 คัน สำหรับการขยายตัวที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วนั้น คาดว่ามาจากผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของประเทศ โดยตลาดในประเทศยังได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ตลาดส่งออกคาดว่าจะได้รับผลดีจากการยกเว้นอากรภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน อย่างไรก็ดี ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งอาจเกิดจากฐานปริมาณการผลิตที่ค่อนข้างต่ำในไตรมาสที่หนึ่ง ปี 2552 สำหรับในปี 2553 คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1.40 ล้านคัน โดยเป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศประมาณ 6 แสนคัน และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 8 แสนคัน

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

การผลิต ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในปี 2552 มีจำนวน 1,635,193 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตปี 2551 ลดลงร้อยละ 15.00 โดยมีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 1,511,242 คัน ลดลงร้อยละ 14.41 และมีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 123,951 คันลดลงร้อยละ 21.50 เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์จำนวน 470,822 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ลดลงร้อยละ 3.24 โดยมีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต ลดลงร้อยละ 41.08 แต่มีการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.07 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สี่กับไตรมาสที่สามปี 2552 มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.00 โดยเป็นการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.20 และ 26.48 ตามลำดับ

การจำหน่าย ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในปี 2552 มีจำนวน 1,535,461 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการจำหน่ายปี 2551 ลดลงร้อยละ 9.86 โดยมีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว 753,458 คัน รถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์ 714,247 คัน และรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต 67,756 คัน ลดลงร้อยละ 13.48, 5.76 และ 9.20 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์จำนวน 397,606 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.71 โดยมีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.85, 7.24 และ 11.78 ตามลำดับ หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สี่กับไตรมาสที่สามของปี 2552 มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.12 โดยมีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสกูตเตอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.92 และ 1.52 ตามลำดับ แต่มีการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสปอร์ต ลดลงร้อยละ 0.31

การส่งออก ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ (CBU&CKD) ของประเทศไทยในปี 2552 มีจำนวน 587,877 คัน (เป็นการส่งออก CBU จำนวน 115,280 คัน และ CKD จำนวน 472,597 ชุด) เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ลดลงร้อยละ 53.17 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 19,331.49 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27.19 เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 มีปริมาณการส่งออก 191,317 คัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 5,019.61 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 3.66 และคิดเป็นมูลค่าลดลงร้อยละ 31.44 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สี่กับไตรมาสที่สามของปี 2552 ปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.77 คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.86 จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์พบว่า ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของรถจักรยานยนต์ในปี 2552 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 27.24, 15.48 และ 10.94 ตามลำดับ โดยการส่งออกรถจักรยานยนต์ไปสหราชอาณาจักร ลดลงร้อยละ 6.55 โดยการส่งออกรถจักรยานยนต์ไปสหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.66 และ 6.85 ตามลำดับ

การนำเข้า การนำเข้ารถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในปี 2552 มีการนำเข้ารถจักรยานยนต์คิดเป็นมูลค่า 274.66 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ลดลงร้อยละ 37.35 เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 มีมูลค่าการนำเข้ารถจักรยานยนต์ 78.73 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 28.96 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สี่กับไตรมาสที่สามของปี 2552 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.77 แหล่งนำเข้ารถจักรยานยนต์ที่สำคัญในปี 2552 ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 25.14, 25.13 และ 23.97 ตามลำดับ โดยการนำเข้ารถจักรยานยนต์จากญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 34.80 และ 0.27 ตามลำดับ แต่มีการนำเข้ารถจักรยานยนต์จากเยอรมนี เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.80

ภาพรวมอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ปี 2552 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัว ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทย และคู่ค้าที่สำคัญชะลอตัวตามไปด้วย สำหรับตลาดในประเทศชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับราคาพืชผลทางการเกษตรซึ่งเป็นลูกค้าหลักของรถจักรยานยนต์ ในขณะที่ตลาดส่งออกชะลอตัว ทั้งการส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) และรถจักรยานยนต์ในลักษณะชิ้นส่วนครบชุด (CKD) มีปริมาณการส่งออกลดลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ประกอบกับในช่วงปี 2551 มีการฐานข้อมูลสถิติการส่งออกที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการส่งออกรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ที่สามารถใช้เทคโนโลยีระบบจ่ายน้ำมันแบบหัวฉีด อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่สี่ ปี 2552 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่สาม ปี 2552 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการแนะนำรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดนอกจากนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 2 ซึ่งเริ่มดำเนินการในไตรมาสนี้ จากข้อมูลแผนการผลิตของผู้ประกอบการ ประมาณการว่า ในไตรมาสที่หนึ่งปี 2553 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์(CBU) ประมาณ 470,000 คัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.05 แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 94 และการผลิตเพื่อการส่งออก ร้อยละ 6

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) ในปี 2552 มีมูลค่า 100,891.11 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ร้อยละ 24.04 การส่งออกเครื่องยนต์ มีมูลค่า 13,266.37 ล้านบาท ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ร้อยละ 26.42 การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ 12,531.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ร้อยละ 12.17 เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ (OEM) มีมูลค่า 30,853.15 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.08 การส่งออกเครื่องยนต์มีมูลค่า 4,525.99 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.78 การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์มีมูลค่า 3,215.79 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ลดลงร้อยละ 8.30 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สี่กับไตรมาสที่สามของปี 2552 มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์(OEM) เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.62, 13.80 และ 0.94 ตามลำดับ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของไทยในปี 2552 มีมูลค่า 125,916.07 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 24.60 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ในปี 2552 ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 14.75, 12.67 และ 8.98 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ไปญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 39.15, 10.35 และ 45.63 ตามลำดับ

การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ของประเทศไทยปี 2552 มีมูลค่า 115,746.55 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ลดลงร้อยละ 13.26 เมื่อพิจารณาไตรมาสที่สี่ของปี 2552 ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์มีมูลค่า 41,425.85 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.67 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สี่กับไตรมาสที่สามของปี 2552 มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.86 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ที่สำคัญในปี 2552 ได้แก่ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และ นโดนีเซีย คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 60.85, 6.46 และ 6.41 ตามลำดับ โดยการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์จากญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ลดลงร้อยละ 12.85, 23.17 และ 0.56 ตามลำดับ

การส่งออกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์(OEM) 2552 มีมูลค่า 11,651.81 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ลดลงร้อยละ 41.98 การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์ของประเทศไทยในปี 2552 มีมูลค่า 418.11 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ลดลงร้อยละ 35.10 เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สี่ของปี 2552 มูลค่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) มีมูลค่า 3,261.95 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วลดลงร้อยละ 27.62 การส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์มีมูลค่า 117.13 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ลดลงร้อยละ 11.60 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สี่กับไตรมาสที่สามของปี2552 การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ (OEM) และชิ้นส่วนอะไหล่รถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.66 และ 18.34 ตามลำดับ จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่ามูลค่าการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ของไทยในปี 2552มีมูลค่า 18,141.75 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 23.89 ตลาดส่งออกที่สำคัญของส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ในปี 2552 ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 27.89, 18.59 และ 11.09 ตามลำดับ โดยการส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ไปอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ลดลงร้อยละ 19.23 และ 8.71 ตามลำดับ แต่การส่งออกส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ไปเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.37

การนำเข้าชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ฯ การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ ของประเทศไทยในปี 2552 มีมูลค่า 11,484.44 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ลดลงร้อยละ 18.93 มื่อพิจารณาไตรมาสที่สี่ของปี 2552 ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ มีมูลค่านำเข้า 3,342.03 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ ลดลงร้อยละ 7.24 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สี่กับไตรมาสที่สามของปี 2552 มูลค่าการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.58 แหล่งนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ ที่สำคัญในช่วงปี 2552 ได้แก่ ญี่ปุ่น, จีน และเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนการนำ เข้าร้อยละ 35.58, 20.55 และ 9.34 ตามลำ ดับ โดยการนำ เข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ จากญี่ปุ่น และจีน ลดลงร้อยละ 17.09 และ 22.08 ตามลำดับ แต่การนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์ฯ จากเวียดนาม เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.04

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ