สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2552 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2552(อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 19, 2010 14:13 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในช่วงไตรมาสที่ 4 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อยู่ในภาวะทรงตัว ทั้งนี้เนื่องจากความไม่มั่นใจของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และความไม่แน่นอนทางการเมืองยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ใช้เคมีภัณฑ์เป็นวัตถุดิบในการผลิตยังคงทรงตัว ประกอบกับเป็นช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ทั้งการผลิตและการจำหน่ายของเคมีภัณฑ์ลดลงเล็กน้อย

ผลิตภัณฑ์เคมีพื้นฐานที่มีการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบในการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่สำคัญได้แก่ โซดาไฟ คลอรีน ไฮโดรคลอริก(กรดเกลือ) และกรดซัลฟูริก ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้สำรวจข้อมูลการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โซดาไฟ โดยในไตรมาสที่ 4 ปริมาณการผลิต และการจำหน่ายมีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

การผลิต

โซดาไฟ

การผลิตโซดาไฟในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีปริมาณ 233,228.4 ตัน ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 8.57 และการจำหน่ายโซดาไฟในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีปริมาณ 194,881.8 ตัน ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 8.81 การผลิตและการจำหน่ายลดลงเนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่

หมายเหตุ : โซดาไฟเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรา และยังใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย เช่น ในการผลิตเยื่อและกระดาษ สบู่และผลิตภัณฑ์ซักฟอก เคมีภัณฑ์ การทำความสะอาด โรงกลั่นน้ำมัน การใช้งานทางอุตสาหกรรมโลหะอุตสาหกรรมอาหาร เส้นใยเรยอน สิ่งทอ และอื่น ๆ

การตลาด

การนำเข้า

ไตรมาส 4 ปี 2552 การนำเข้าเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 10,341 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.33 มื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 5.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าการนำเข้า 21,979 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.56 มื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่านำเข้า 9,658 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.34 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากเป็นนอกฤดูการทำนาปี ปริมาณการใช้ลดลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสีมีการนำเข้า 9,132 ลดลงร้อยละ 3.01 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจนและความไม่มั่นคงทางการเมืองของไทย ประกอบกับธุรกิจบ้านจัดสรรก็ยังมีสต๊อกเก่าค้างอยู่จากปี 2551 ขายยังไม่หมด ทำให้อุตสาหกรรมสีชะลอตัวลง แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเครื่องสำอางมีมูลค่านำเข้า 6,124 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.59 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เนื่องจาก ผู้บริโภคในปัจจุบันนิยมหันมาใช้เครื่องสำอางที่มีราคาถูกกว่าเพิ่มมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ดีคือผลิตภัณฑ์ครีมกันแดด ครีมลบเลือนริ้วรอย ผลิตภัณฑ์เพื่อทำให้ผิวขาว และผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ชาย และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออก

ไตรมาส 4 ปี 2552 การส่งออกเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 3,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.30 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 0.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าส่งออก 10,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 63.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่าการส่งออก 592 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.84 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 15.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอุตสาหกรรมสีมีมูลค่าส่งออก 2,700 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.74 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออก 11,191 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้ม

แนวโน้มของอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ทั้งการผลิต การจำหน่ายนำเข้าและส่งออกน่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล ตรุษจีน และวาเลนไทน์ทำให้ประชาชนน่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยกันเพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเช่น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในกรณีที่เศรษฐกิจของประเทศกรีซ และสเปนกำลังอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินของสหรัฐ ฯ แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าและราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนของการเมืองของไทยในขณะนี้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ