สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2552 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2552(อุตสาหกรรมพลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 19, 2010 14:20 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจในหลายๆประเทศปรับตัวดีขึ้น เช่น ญี่ปุ่นที่มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 80 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยท่ามกลางภาวะเงินฝืดที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยดีต่อเนื่อง การบริโภคและการลงทุน ปรับตัวทิศทางที่ดีขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ได้รับอานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อีกทั้งภาวะการลงทุนไตรมาส 4 ปี 2552 ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนไทยปรับตัวในเชิงบวกเป็นผลจากการกระจายการลงทุน ประกอบกับการที่นักลงทุนยอมรับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

ด้านราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวค่อนข้างผันผวนเนื่องจาก การอ่อนค่าลงของดอลลาร์สหรัฐ และการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะฟื้นตัว ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันแกว่งตัว คือ ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ของสหรัฐยังไม่ดีขึ้น อัตราการกลั่นของโรงกลั่นยังอยู่ในระดับต่ำ และการขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯเพิ่มขึ้น

การผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

การผลิตเม็ดพลาสติกปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ตามยังคงมีคำสั่งซื้อของผลิตภัณฑ์พลาสติกบ้าง แต่ไม่มาก อีกทั้งยังมีเรื่องของมาบตาพุดที่ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน จึงส่งผลให้การผลิตเม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

การค้า

นำเข้า

ในไตรมาสที่ 4 มีมูลค่านำเข้า 23,057 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดอยู่ที่หมวด 3920 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกแผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่ไม่ทำเป็นแบบเซลลูลาร์ และไม่เสริมให้แข็งแรง

ส่งออก

ในไตรมาสที่ 4 มีมูลค่าส่งออก 20,475 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ แล้วและเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุดอยู่ที่หมวด3923 คือของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้า

ดุลการค้า

ดุลการค้าของไทยเริ่มกลับมาขาดดุลการค้า ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 และต่อเนื่องมายังไตรมาสที่ 3 และ 4 การนำเข้ายังคงมีอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่ามีการนำเข้าสินค้าที่ราคาต่ำเข้ามา ส่วนการส่งออกนั้นยังทรงๆ ตัวอยู่ คำสั่งซื้อเริ่มกลับเข้ามาแต่ไม่มากนัก

แนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ภาพรวมในแต่ละอุตสาหกรรมที่พลาสติกเข้าไปเกี่ยวข้องน่าจะปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร ทีต้องใช้บรรจุภัณฑ์ในการหีบห่อ ซึ่งตอนนี้มีความต้องการอาหารที่เพิ่มมากขึ้น หรือมาตรการลดค่าธรรมเนียมในการซื้อบ้านที่จะมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 28 มีนาคม 2553 ที่น่าจะทำให้ยอดของการซื้อบ้านเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีเทศกาลตรุษจีน และวาเลนไทน์ที่จะทำให้เกิดการจับจ่ายสินค้ามากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเช่น ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในกรณีของมาบตาพุดที่ระงับการดำเนินการของ 65 โครงการ และความไม่แน่นอนของการเมืองในขณะนี้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ