สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2552 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2552(อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 19, 2010 14:36 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ไตรมาส 4 ปี 2552 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียตลอดไตรมาสมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ โดยมีสาเหตุจากอุปทานมีจำกัด ผู้ประกอบการแครกเกอร์ในตลาด Northeast Asia โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่นมีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มกำลังการผลิตส่วนราคาเอทิลีนโดยเฉลี่ยช่วงต้นไตรมาสมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของอุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตะวันออกกลางและจีน ประกอบกับความต้องการของตลาดผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง PE ลดลง ในช่วงกลางไตรมาสต่อเนื่องถึงปลายไตรมาสราคาเอทิลีนเฉลี่ยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจากปริมาณสินค้ามีเริ่มมีจำกัด เนื่องจากแครกเกอร์ที่มีการปิดซ่อมบำรุงเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตรวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย ได้แก่ PE, Benzene, SM และ PVC

สำหรับการซื้อขายเม็ดพลาสติกทั้ง PE และ PP ช่วงต้นไตรมาสราคาปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดลงของราคาวัตถุดิบเอทิลีนและโพรพิลีน และราคาในตลาดต่างประเทศ ความต้องการสินค้ามีน้อย ประกอบกับผู้ซื้อมีการคาดการณ์ว่าราคาจะปรับลดลงอีกจากอุปทานสินค้าที่มีมาก ช่วงกลางไตรมาสต่อเนื่องถึงปลายไตรมาสราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบเอทิลีนและแนฟธา รวมถึงอุปทานสินค้ามีจำกัด ความต้องการสินค้าของผู้ใช้ปลายทางเพิ่มขึ้น

การผลิต

ไตรมาส 4 ปี 2552 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีภายในประเทศ มีแผนเปิดดำเนินการอีเทนแครกเกอร์แห่งใหม่ขนาด 1 ล้านตันต่อปี แต่ประสบปัญหาด้านเทคนิคและการก่อสร้าง ทำให้ต้องเลื่อนเปิดดำเนินการจากเดือนธันวาคม 2552 เป็นต้นไตรมาสแรกของปี 2553 นอกจากนั้น มีแผนเปิดดำเนินการโรงงานผลิต LLDPE แห่งใหม่ขนาด 400,000 ตัน/ปี ในช่วงปลายปี 2552

สำหรับการผลิตในภูมิภาคเอเชีย รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นอินเดียมีแผนร่วมมือจัดสร้างศูนย์กลางปิโตรเลียม เคมี และปิโตรเคมี พื้นที่ 604 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย โรงงานน้ำมันขนาด 15 ล้านตัน/ปี โรงงานผลิตโพรพิลีนขนาด 450,000 ตัน/ปี ขณะนี้ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจเรียบร้อยแล้ว

ไต้หวัน มีแผนปิดซ่อมบำรุงแครกเกอร์ขนาด 500,000 ตัน/ปี ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี2553 และปิดซ่อมบำรุงแครกเกอร์ขนาด 385,000 ตัน/ปี ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553

จีน มีแผนลงทุนสร้างแครกเกอร์แห่งใหม่ขนาด 600,000 ตัน/ปี และ downstream Facilities ซึ่งประกอบด้วย โรงงานผลิต PE, PP, หน่วยแยก gasoline hydrogenation และโรงงานผลิต aromatics ขนาด 250,000 300,000 600,000 และ 400,000 ตัน/ปี ตามลำดับ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2555 และสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2556 นอกจากนั้น ในไตรมาสแรกของปี 2553 จะเปิดดำเนินการแนฟธาแครกเกอร์ และโรงงานผลิต MEG แห่งใหม่ ขนาด 800,000 และ 750,000 ตัน/ปี ตามลำดับ รวมถึงมีการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีเพิ่มอีก 3 แห่ง ประกอบด้วยแครกเกอร์ขนาด 500,000 ตัน/ปี โรงงานผลิตโพรพิลีนขนาด 30,000 ตัน/ปี และโรงแยกก๊าซขนาด 80,000 ตัน/ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2553

อิหร่านและตุรกี ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมลงทุนสร้างโรงงานผลิต suspension polyvinyl chloride (S-PVC) ขนาด 300,000 ตัน/ปี ที่ประเทศอิหร่าน

ซาอุดิอาระเบีย ทดลองเดินเครื่องโรงงานผลิต HDPE ขนาด 400,000 ตัน/ปี และ LLDPE ขนาด 400,000 ตัน/ปี มีแผนเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงงานทั้งสอง ในช่วงปลายไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 โดยที่โรงงานผลิต HDPE แห่งใหม่นี้วางแผนที่จะส่งออกเม็ดพลาสติกเกรดท่อในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 และมีแผนที่จะส่งออก black colour compounded HDPE 100 และ HDPE 80 ไปยังประเทศจีนด้วย

การตลาด

ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2552 ราคาจำหน่ายเม็ดพลาสติก(ราคาเฉลี่ย SE Asia CIF) ในเดือนธันวาคม 2552 ของ LDPE, HDPE, และ PP อยู่ที่ระดับ 45.41, 41.64,และ 40.08 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ LDPE มีระดับราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2552 ที่ระดับราคา 43.13 บาท/กิโลกรัม ส่วน HDPE และ PP มีระดับราคาเฉลี่ยลดลงจากไตรมาส 3 ปี 2552 ที่ระดับราคา 42.46 และ 40.49 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

การนำเข้า

ไตรมาส 4 ปี 2552 การนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่า 3,902.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่านำเข้า 5,580.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่านำเข้า 22,281.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.70 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออก

ไตรมาส 4 ปี 2552 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 6,562.60 ล้านบาท ลดลงร้อยละ10.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 12,997.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.25 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วและเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 54.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 38,159.20ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.71 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้ม

การขยายกำลังการผลิตของประเทศในแถบตะวันออกกลาง และจีน รวมถึงไทย ซึ่งจะส่งผลให้มีอุปทานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ผ่านแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ผู้ประกอบการควรต้องเร่งปรับตัวเพื่อพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ การรุกหาตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดของประเทศที่เริ่มพัฒนาประเทศ และไม่ควรมองข้ามประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่กำลังอยู่ในความสนใจของสังคมในปัจจุบันดังกรณีปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ