สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2552 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2552(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 19, 2010 14:45 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีค่าดัชนีผลผลิต 106.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 7.2 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษที่ลดลง เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศชะลอตัวทั่วโลก ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคและกำลังการผลิตของผู้ผลิตชะลอตัวตาม ส่วนภาวะการผลิตกระดาษโดยรวม ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตกระดาษโดยรวมที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากการผลิตกระดาษแข็ง กระดาษคราฟท์ และกระดาษลูกฟูก จะนำมาผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษ เพื่อใช้ในสินค้าเกษตรกรรม สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม

สำหรับรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่คาดว่าผู้บริโภคจะเพิ่มกำลังซื้อสินค้าในแต่ละประเภทมากขึ้นสำหรับภาวะการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษทุกชนิด เมื่อเทียบปี 2552 กับปี 2551 ลดลงโดยอัตราการใช้กำลังการผลิตของเยื่อกระดาษและกระดาษทุกชนิดลดลงด้วยเช่นกัน (ตารางที่ 1 และ ตารางที่ 2) เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2551 ประกอบกับราคาเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวมได้ปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย

2. การนำเข้าและการส่งออก

2.1 การนำเข้า

ภาวะการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่า 144.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 และ 32.9 ตามลำดับ (ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า เป็นเพราะราคาเยื่อกระดาษและเศษกระดาษได้ปรับตัวสูงขึ้น แต่หากเทียบไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปี 2551 ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า (ตารางที่ 4) เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศในไตรมาสนี้เริ่มทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยแหล่งนำเข้าเยื่อกระดาษที่สำคัญ คือแคนาดา และสหรัฐอเมริกา แหล่งนำเข้าเศษกระดาษที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

ภาวะการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่า 289.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 1.2 และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงเช่นกัน(ตารางที่ 3) หากพิจารณาปริมาณการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า (ตารางที่ 4) เนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อความต้องการสินค้าและการลงทุน รวมถึงการส่งออกสินค้าประเภทต่าง ๆ ของไทยชะลอตัวลง ทำให้มีการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษโดยรวมลดลง อาทิกระดาษหนังสือพิมพ์ กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟท์ กระดาษแข็ง รวมทั้งบรรจุภัณฑ์กระดาษ

ภาวะการนำเข้าสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่า 45.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.5 หากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 31.5 (ตารางที่ 3) ซึ่งเมื่อพิจารณาปริมาณการนำเข้าสิ่งพิมพ์ในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงเช่นกัน (ตารางที่ 4) สำหรับสาเหตุที่ในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อนมีการนำเข้าสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า เป็นผลจากการนำเข้าหนังสือเป็นเล่มจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น ส่วนสาเหตุที่ในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีการนำเข้าสิ่งพิมพ์ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า เนื่องจากปีก่อนกระแสความนิยมภาพยนตร์ ละคร บทเพลง และตัวดารานักร้องจากเกาหลีใต้มาแรง ทำให้มีการนำเข้าสิ่งพิมพ์ฟุ่มเฟือยประเภทภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และอื่น ๆ จากประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้นมากกว่าในปัจจุบันที่ผู้บริโภคลดค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

สำหรับภาวะการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ ในภาพรวม ปี 2552 มีมูลค่า 426.4 1,096.0 และ 190.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงร้อยละ 35.5 17.2 และ 30.9 ตามลำดับ (ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ ? เมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้าร้อยละ 15.3 16.3 และ 22.9 ตามลำดับ (ตารางที่ 4) โดยสาเหตุที่มีการนำเข้าลดลงทั้งมูลค่าและปริมาณ เป็นเพราะผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนในหลายประเทศระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตาม

2.2 การส่งออก

ภาวะการส่งออกเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่า 23.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.2 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 23.9 (ตารางที่ 5) หากพิจารณาปริมาณการส่งออกเยื่อกระดาษ ในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกร้อยละ 31.3 เป็นผลจากผู้บริโภคในต่างประเทศมีความต้องการเยื่อกระดาษสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษและสิ่งพิมพ์เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่โดยเฉพาะจีน ประกอบกับราคาเยื่อกระดาษได้ปรับตัวสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบปริมาณการส่งออกเยื่อกระดาษไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงเช่นเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก (ตารางที่ 6)เป็นเพราะคู่ค้าสำคัญของไทย คือ จีน ชะลอการนำเข้าตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก ประกอบกับจีนเริ่มมีการผลิตเยื่อกระดาษได้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศมากขึ้น

ส่วนภาวะการส่งออกเยื่อกระดาษในภาพรวม ปี 2552 มีมูลค่า 78.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2551 ลดลงร้อยละ 35.7 (ตารางที่ 5) หากพิจารณาปริมาณการส่งออกเยื่อกระดาษ เมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกร้อยละ 9.2 (ตารางที่ 6) เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าและทั่วโลกชะลอตัวจากปี 2551

ภาวะการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่า 313.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 2.0 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1(ตารางที่ 5) ซึ่งหากพิจารณาปริมาณการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อนลดลงในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออกร้อยละ 10.6 (ตารางที่ 6) โดยมีสาเหตุจากการที่ภาวะเศรษฐกิจโลกและในประเทศชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการลดกำลังการผลิต ประกอบกับราคากระดาษได้ปรับสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบปริมาณการส่งออกในไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของคู่ค้าในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนชะลอตัวในอัตราคงที่

สำหรับภาวะการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษในภาพรวม ปี 2552 มีมูลค่า 1,200.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงร้อยละ 9.2 (ตารางที่ 5) เนื่องจากการส่งออกหดตัวในตลาดอาเซียนซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกของไทย และหากพิจารณาปริมาณการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เมื่อเทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้นสวนทางกับมูลค่าการส่งออก (ตารางที่ 6) เป็นเพราะการขยายตัวของปริมาณการส่งออกกระดาษประเภทกระดาษและและผลิตภัณฑ์กระดาษอื่น ๆ ที่มิใช่กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษคราฟท์ กระดาษแข็ง กระดาษชำระ และบรรจุภัณฑ์กระดาษไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 200

ภาวะการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่า 487.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 และ 40.4 ตามลำดับ (ตารางที่ 5) เนื่องจากยังคงมีมูลค่าการส่งออกสิ่งพิมพ์ประเภทปลอดการปลอมแปลงขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังฮ่องกงร้อยละ 85.0 ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ของไตรมาสนี้กับไตรมาสก่อนลดลงสวนทางกับมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น(ตารางที่ 6) เป็นเพราะมีการส่งออกสิ่งพิมพ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น หรือมีการสั่งซื้อสิ่งพิมพ์ที่มีมูลค่าสูงและมีน้ำหนักเบา เช่น สิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลง

ส่วนภาวะการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ในภาพรวม ปี 2552 มีมูลค่า 1,566.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 (ตารางที่ 5) หากพิจารณาปริมาณการส่งออกหนังสือและสิ่งพิมพ์ เมื่อเทียบกับปีก่อนลดลงสวนทางกับมูลค่าการส่งออก (ตารางที่ 6) เนื่องจากยังคงได้รับงานพิมพ์ประเภทปลอดการปลอมแปลงจากฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากในปัจจุบันงานสิ่งพิมพ์ไทยเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศมากขึ้นจากงานประกวดสิ่งพิมพ์ระดับอาเซียน และเอเชีย

3. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะการผลิต การนำเข้า และการส่งออกอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ภาพรวมในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นผลมาจากปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคเตรียมรองรับสำหรับการผลิต การจำหน่าย และการบริโภคในเทศกาลดังกล่าว แต่ยังคงมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งการลงทุนที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ประกอบกับมีการลดภาระต้นทุนการจัดเก็บสินค้าโดยการบริหารจัดการให้สินค้ามีการหมุนเวียนที่เร็วขึ้น

ส่วนภาวะการผลิต การนำเข้า และการส่งออกอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์โดยรวม ในปี 2552 ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ผู้ผลิตลดกำลังการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง

สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 คาดว่า จะทรงตัว เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงชะลอตัว ความมีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ประกอบกับราคาเยื่อกระดาษ และกระดาษน่าจะปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยสนับสนุนทางด้านเศรษฐกิจจากผลการดำเนินงานตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในประเทศและคู่ค้าหลักของไทยที่คาดว่า จะฟื้นตัว รวมถึงนโยบายการส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ โดยการผลักดันให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติก็ตาม

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ