1. การผลิต
การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ และภาวะซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ โดยการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 36.09 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.53 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงในอัตราร้อยละ 1.86 และ 0.68 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน การผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 27.71 ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ลดลงในอัตราร้อยละ 12.07 (ดังตารางที่ 1 และ 2)
การผลิตเซรามิก ในปี 2552 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 141.77 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ในอัตราร้อยละ 1.51 ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 5.87 ล้านชิ้น ลดลงจากปี 2551 ในอัตราร้อยละ 29.34 ทั้งนี้การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศมากกว่าการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ที่มีตลาดกว้างกว่าทั้งตลาดซ่อมแซมบ้านเก่าที่รองรับอยู่ และตลาดส่งออกในกลุ่มอาเซียนที่ยังมีการเติบโตเพิ่มขึ้น
2. การตลาด
2.1 ตลาดในประเทศ
การจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 35.61 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 0.99 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงในอัตราร้อยละ 1.06 และ 0.39 ตามลำดับ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ และภาวะซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน การจำหน่ายกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และ เครื่องสุขภัณฑ์ สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 8.52 และ 11.55 ตามลำดับ (ดังตารางที่ 1 และ 2)การจำหน่ายเซรามิกนอกจากต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจในประเทศแล้ว ยังต้องแข่งขันอย่างรุนแรงกับสินค้านำเข้าที่มีราคาถูกจากจีนด้วย
การจำหน่ายเซรามิก ในปี 2552 อยู่ในภาวะที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ จึงทำให้การจำหน่ายลดลง โดยการจำหน่ายกระเบื้องปูพื้น บุผนังมีปริมาณ 145.70 ล้านตารางเมตร และเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 3.89 ล้านชิ้น ลดลงจากปี 2551 ในอัตราร้อยละ 3.40 และ 12.79 ตามลำดับ
2.2 การส่งออก
การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่ารวม 143.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 4.20 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น ๆ เครื่องสุขภัณฑ์ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และลูกถ้วยไฟฟ้า แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ลดลงในอัตราร้อยละ 29.84 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น ๆ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ของชำร่วยเครื่องประดับ และเครื่องสุขภัณฑ์(ดังตารางที่ 3)
การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกจะส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน สหราชอาณาจักร เยอรมนี และประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ในปี 2552 มีมูลค่ารวม 544.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปี 2551 ในอัตราร้อยละ 43.00 ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงมากที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลิตภัณฑ์เซรามิกเป็นผลิตภัณฑ์ที่พึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ เมื่อเกิดผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ตลาดหลักที่สำคัญทั้ง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ต่างลดการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เซรามิกของไทย จึงทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกลดลงอย่างมาก
2.3 การนำเข้า
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสเปน โดยไตรมาสที่ 4 ปี 2552 การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกมีมูลค่ารวม 69.74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 3.55 และ 13.45 ตามลำดับ (ดังตารางที่ 4) สำหรับการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ในปี 2552 มีมูลค่ารวม 227.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากปี 2551 ในอัตราร้อยละ 14.50 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกสำหรับใช้ตามห้องปฏิบัติการจากญี่ปุ่น และมาเลเซีย และนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น ได้แก่ อิฐทนไฟจากประเทศจีน ญี่ปุ่น อิตาลี และเยอรมนี นำเข้ากระเบื้องปูพื้น บุผนัง ที่มีราคาถูกจากจีน อินโดนีเซีย และ เวียดนาม
3. สรุป
การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากภาวะซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ นอกจากนี้การจำหน่ายเซรามิกยังเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงโดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากจีน ทำให้ปริมาณการผลิตและจำหน่ายเซรามิกลดลง สำหรับแนวโน้มการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากไตรมาสนี้เป็นช่วงที่ตลาดเข้าสู่ฤดูการขาย ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจในประเทศเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี จึงทำให้การผลิตและจำหน่ายเซรามิกน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น
การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่ยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น ๆ เครื่องสุขภัณฑ์ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และลูกถ้วยไฟฟ้า สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 คาดว่าจะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามสถานการณ์เศรษฐกิจของตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ที่มีการคาดการณ์ว่าจะสามารถขยายตัวได้เล็กน้อย
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--