สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2552 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2552(อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 19, 2010 14:59 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภายใต้วิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งผลกระทบวิกฤตการเงินของสหรัฐอเมริกาได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ในต้นปี 2552 รัฐบาลได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน โดยการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคประชาชนและมาตรการเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย ตลอดจนการเสริมสภาพคล่องทางการเงินแก่สถาบันการเงิน และได้มีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานที่จำเป็น โดยเฉพาะการกระตุ้นการลงทุนด้านต่าง ๆ ของภาครัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มมีการปรับตัวฟื้นขึ้นอย่างช้าๆ และมีแนวโน้มดีขึ้นช่วงไตรมาสที่ 4 และส่งผลดีต่อหลายอุตสาหกรรมที่ขยายตัวมากขึ้น

1. การผลิต

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 เริ่มมีสัญญาการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลายผลิตภัณฑ์ แต่บางผลิตภัณฑ์ที่ยังคงปรับตัวลดลง อาทิการผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ (ISIC 1711) ลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่ดัชนีผลผลิตการผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งหรือโครเชท์ (ISIC 1730) การผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (ISIC 1810) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 และ 2.6 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และเร็วกว่าที่คาด อีกทั้งผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลาย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันสูงทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกอีกทั้งแนวโน้มแฟชั่นที่มีการออกแบบที่มีลักษณะที่โดดเด่นจึงได้รับการตอบรับที่ดีมากจากผู้บริโภค

2. การส่งออก

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 1,717.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก 1,670.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯและเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการจำหน่าย 1,674.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจำแนกผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ๆ ดังนี้

2.1 เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 633.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 669.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการจำหน่าย 742.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากฝ้ายมีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดถึงร้อยละ 41.8 ของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด

2.2 ผ้าผืน ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 326.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการจำหน่าย 298.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.3 ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 206.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 163.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.4 เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 154.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 85.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 83.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

3. ตลาดส่งออก

ตลาดส่งออกที่สำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย มีดังนี้

สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นตลาดส่งออกสิ่งทอหลักของไทย ซึ่งการส่งออกสิ่งทอของไทยไปสหรัฐอเมริกา ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่า 349.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 20.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสัดส่วนการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.3 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมดของไทย สินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่ เป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ เคหะสิ่งทอและผ้าผืน ตามลำดับ

สหภาพยุโรป ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 333.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.4 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืนเครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น

อาเซียน ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 299.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.4 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ เป็นต้น

ญี่ปุ่น ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 116.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.8 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของเสื้อผ้าสำเร็จรูปด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ เป็นต้น

4. การนำเข้า

การนำเข้าสิ่งทอในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 (วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ) ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน รวมถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูปในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้า ได้แก่

4.1 สิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอ (เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ)รวมทั้งสิ้น 1,110.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 93.6 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้ามี ดังนี้

4.1.1 เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 189.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 157.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และลดลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และบราซิล สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 25.1, 23.0 และ 7.7 ตามลำดับ

4.1.2 ด้ายทอผ้าฯ มีมูลค่านำเข้า 130.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 112.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 19.7, 18.1 และ 14.4 ตามลำดับ

4.1.3 ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 340.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนร้อยละ 16.1 ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 293.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ลดลงร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 44.8,15.8 และ 7.5 ตามลำดับ

4.1.4 วัตถุทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 33.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 28.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และ สหรัฐอเมริกา สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 26.9, 12.8 และ 8.9 ตามลำดับ

4.2 เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 76.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 73.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.4 ของการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ตลาดนำเข้าหลักคือ จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 53.7, 11.1 และ 4.4 ตามลำดับ

5. สรุปและแนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตเริ่มฟื้นตัวแม้ว่าในหลาย ๆ ประเทศจะประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจก็ตาม สิ่งทอไทยยังขยายตัวในตลาดอาเซียน ร้อยละ 11.6 ตลาดสหภาพยุโรป ร้อยละ 4.4 และตลาดญี่ปุ่นร้อยละ 7.6 จะเห็นได้ว่าตลาดอาเซียนและตลาดญี่ปุ่นมีการขยายตัวมากว่าตลาดอื่นๆ เป็นผลมาจากการทำข้อตกลงทางการค้า ซึ่งมีส่วนทำให้การค้าขยายตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ และลดการพึ่งพาการส่งออกยังตลาดสหรัฐอเมริกา โดยให้ความสำคัญกับตลาดข้อตกลงของอาเซียน เช่น อาเซียน-จีน,อาเซียน-ญี่ปุ่น และกรอบความร่วมมือด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มภายใต้ JTEPA โดย AJCEP จะช่วยต่อยอด JTEPA และสร้างแรงจูงใจในการทำการค้าการลงทุนด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มกับไทยและอาเซียนมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้มีปัจจัยบวกหลักจากเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว และมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการผลิตและการส่งออกสิ่งทอของไทย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ