สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2552 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2552(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 19, 2010 15:03 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีปริมาณการผลิต 2.48 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.40 และร้อยละ 5.70 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่ลดลง เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่โดยรวมยังซบเซาจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก ต้นทุนวัตถุดิบที่ยังสูง เช่น ราคาน้ำมัน และค่าแรง ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ผู้ประกอบการยังขาดความมั่นใจและปรับลดปริมาณการผลิตลง

2. การตลาด

2.1 การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีปริมาณการจำหน่าย 0.93 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.90 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 11.43 ทั้งนี้ปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ที่ยังมีอยู่โดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบน ผู้บริโภคที่ได้รับอานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และการหันมาทำตลาดภายในประเทศของผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆในช่วงปลายปี

2.2 การส่งออก

การส่งออกของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 628.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.76 และ 22.44 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร มีสัญญาณฟื้นตัว และการส่งออกไปประเทศในสหภาพยุโรป และไปตลาดใหม่ เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย และประเทศแถบตะวันออกกลาง ขยายตัวได้ดี

สำหรับรายละเอียดการส่งออกในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ในไตรมาสนี้ มีมูลค่าการส่งออก 260.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 41 ของมูลค่าการส่งออกในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.78 และ 3.61 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทเครื่องเรือนไม้ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน คือ ประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วยเครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และ รูปแกะสลักไม้ ในไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 65.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกร้อยละ 11 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 3.30 และ 17.37 ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ กรอบรูปไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์

3) กลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป แผ่นไม้ วีเนียร์ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ โดยไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 302.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 48 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด มูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.29 และ 65.84 ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูปรองลงมาคือ ไฟเบอร์บอร์ดและไม้อัด สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่นได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม

2.3 การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีจำนวน 121.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.92 และ 13.13 ตามลำดับ การนำเข้าสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ท่อนประเภทไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้แปรรูปและไม้ซุง ซึ่งนำเข้ามาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น เครื่องเรือนประเภทต่าง ๆ โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว และสหรัฐอเมริกา สำหรับไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์และมาเลเซียและในส่วนของผลิตภัณฑ์ไม้อัดและไม้วีเนียร์นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย และเมียนมาร์

3. สรุปและแนวโน้ม

การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่มีผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และอุปสงค์ของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน ที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

การจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ที่ยังมีอยู่โดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยขาลง และการที่ผู้ประกอบการหันมาทำการตลาดภายในประเทศมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการส่งออก

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว รวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า และโครงการที่อยู่อาศัยอื่นๆ ซึ่งจะทำให้ความต้องการอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นด้วย อีกทั้งผู้ประกอบการเพิ่มการทำการตลาดภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบ ได้แก่ ความผันผวนของราคาน้ำมัน และความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมือง

การส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร มีสัญญาณฟื้นตัว อีกทั้งการส่งออกไปตลาดใหม่ โดยเฉพาะ ออสเตรเลีย อินเดีย จีน และประเทศแถบตะวันออกกลาง ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพ

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 คาดว่าจะขยายตัว เนื่องจากการเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทยและของโลก การที่จีนประสบปัญหาคุณภาพสินค้าในตลาดโลกและโดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา น่าจะเป็นโอกาสให้สหรัฐฯ นำเข้าผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือนจากไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การขยายตัวจะอยู่ที่การเริ่มฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ของตลาดหลักของไทย แต่ปัจจัยลบได้แก่ การแข็งตัวของค่าเงินบาท และความผันผวนของราคาน้ำมัน

ดังนั้น ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจของประเทศและของโลกซบเซา การแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มในลักษณะคลัสเตอร์ หรือการดำเนินโครงการที่อยู่อาศัย จึงเป็นสิ่งจำเป็น รวมถึง การค้นพบศักยภาพของผู้ประกอบการ และการสร้างคุณค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสามารถต่อสู้กับคู่แข่ง เช่น จีน มาเลเซีย และเวียดนาม ในตลาดโลกได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ