สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2552 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2552(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 19, 2010 15:06 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิตในประเทศ

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 มีปริมาณ 7,348.7 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.9 สำหรับในปี 2552 มีปริมาณการผลิต 28,288.1 ตันเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 9.7 โดย ยาน้ำ เป็นยาที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากผู้ผลิตมีการวางแผนการผลิตที่แตกต่างไปจากปีก่อน โดยเปลี่ยนมาทำการผลิตสินค้าแต่ละประเภทในแต่ละครั้งเป็นปริมาณมาก ก่อนเปลี่ยนไปผลิตสินค้าประเภทอื่น เพื่อเป็นการลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ประกอบกับมีคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยา รวมถึงตลาดส่งออก ทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และเป็นการรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองไม่ให้ลดลงนอกจากนี้ยังมีการผลิตยาสามัญใหม่ๆ ออกมา ทั้งประเภทยาเม็ดและยาครีม ส่งผลให้การผลิตเพิ่มขึ้นด้วยอย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปริมาณการผลิตลดลงเล็กน้อย เนื่องจากได้มีการผลิตไปปริมาณมากในช่วงไตรมาสที่ 3 แล้ว ประกอบกับมีคำสั่งซื้อลดลง จึงชะลอการผลิตลง โดย ยาผง มีการชะลอตัวลงมากกว่ายาประเภทอื่น

2. การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 มีปริมาณ 7,067.7 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.9 สำหรับในปี 2552 มีปริมาณการจำหน่าย 26,945.2 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.8 ตามความต้องการของตลาดทั้งจากโรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยา โดย ยาน้ำ เป็นประเภทสินค้าที่มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมีต้นทุนในการผลิตต่ำ จึงจำหน่ายได้ง่ายกว่ายาชนิดอื่น อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปริมาณการจำหน่ายลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นร้อยละ 0.3 เนื่องจากยาเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์จึงสามารถจำหน่ายได้เรื่อย ๆ ไม่ได้ขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจมากนัก

3. การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 มีมูลค่า 8,878.5 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.5 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 3,692.2 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 41.6 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับในปี 2552 มูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคมีมูลค่า 37,039.9 ล้านบาทขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.3 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 15,970.8 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 43.1 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ประเภทของยาที่นำเข้าส่วนใหญ่มีสิทธิบัตร และมีราคาแพง นอกจากนี้การนำเข้ายาสามัญมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย มีข้อสังเกตว่าแม้มูลค่าการนำเข้ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงส่วนหนึ่งเนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทำให้การสั่งซื้อยาราคาแพงลดลง ทั้งโรงพยาบาลและร้านขายยาประกอบกับโรงพยาบาลภาครัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น เพื่อควบคุมการใช้ยาให้มีความเหมาะสมและลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมูลค่าการนำเข้าลดลง ร้อยละ 9.7 เนื่องจากโรงพยาบาลได้ทำการสั่งซื้อปริมาณมากในช่วงปลายปีงบประมาณ หรือในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีแล้ว

4. การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 มีมูลค่า 1,534.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 11 และ 9.2 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และฮ่องกง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวม 1,008.6 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 65.7 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับในปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 5,610.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.6 ตลาดส่งออกสำคัญในปีนี้ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยการส่งออกไปประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 3,790 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 67.5 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด การส่งออกมีการขยายตัวดีขึ้นในตลาดหลัก ซึ่งอาจเกิดจากผู้ซื้อสินค้ามีความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าของไทย และหันกลับมาซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น หลังจากที่ผู้ผลิตไทยต้องทำการแข่งขันสูงในตลาดหลักกับประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย

5. สรุปและแนวโน้ม

ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดย ยาน้ำ เป็นยาที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากผู้ผลิตเปลี่ยนมาทำการผลิตสินค้าแต่ละประเภทในแต่ละครั้งเป็นปริมาณมาก เพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิตประกอบกับมีคำสั่งซื้อจากโรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา และตลาดส่งออก นอกจากนี้ยังมีการผลิตยาสามัญใหม่ออกมาอีกด้วย ทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และเป็นการรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองไม่ให้ลดลง สำหรับการจำหน่าย เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด โดย ยาน้ำ เป็นประเภทสินค้าที่มีการจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำ จึงจำหน่ายได้ง่ายกว่ายาชนิดอื่น ด้านการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงส่วนหนึ่งเนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทำให้การสั่งซื้อยาราคาแพงลดลง ทั้งโรงพยาบาลและร้านขายยานอกจากนี้โรงพยาบาลภาครัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ยาสามัญที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น เพื่อควบคุมการใช้ยาให้มีความเหมาะสมและลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สำหรับการส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้น จากการที่ผู้ซื้อสินค้าในตลาดหลักมีความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าของไทย และกลับมาซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น หลังจากที่ผู้ผลิตไทยต้องแข่งขันอย่างรุนแรงกับประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย

สำหรับไตรมาสแรก ของปี 2553 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยา จะมีแนวโน้มทรงตัวหรือชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการผลิตและจำหน่ายไปจำนวนมากในช่วงไตรมาสที่ 3 แล้ว ซึ่งผู้ซื้ออาจจะยังมีสินค้าเก่าเหลืออยู่ สำหรับมูลค่าการนำเข้าและส่งออกคาดว่า จะมีแนวโน้มทรงตัวหรือชะลอตัวเล็กน้อยเช่นเดียวกัน และอาจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ตามวัฏจักรธุรกิจ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ