สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2552 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2552(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 19, 2010 15:10 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

1.1 การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.66 และ 23.69 ตามลำดับ. แต่ถ้าพิจารณาในภาพรวมทั้งปี 2552 การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น ลดลงร้อยละ 10.10 เนื่องจากความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นของตลาดในประเทศและตลาดโลกลดลง ตามยอดการจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวนอกจากนี้การที่ความต้องการใช้ยางในตลาดโลกชะลอตัวลง ส่งผลให้ราคายางมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศผู้ผลิตยางที่สำคัญของโลก หันมาร่วมมือกันลดปริมาณการผลิตและการส่งออกยางเพื่อรักษาระดับราคายางในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นได้กระเตื้องขึ้นในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณว่าจะฟื้นตัว โดยเฉพาะในประเทศจีน เริ่มดำเนินการแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น จึงนำเข้ายางแปรรูปขั้นต้นจากไทยเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายหลังที่จีนได้มีการปรับลดภาษีรถยนต์บางรุ่นลงสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 แบ่งเป็นการผลิตยางนอกรถยนต์นั่ง 6.29 ล้านเส้น กลุ่มยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน 10.51 ล้านเส้น และกลุ่มยางใน 17.23 ล้านเส้นซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.97 7.63 และ 33.26 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เช่น ถุงมือยาง ถุงมือตรวจโรค เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.08 การผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะฟื้นตัว

สำหรับในส่วนของถุงมือยางไม่มีผลกระทบ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะซบเซาเนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

1.2 การจำหน่ายในประเทศ

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศโดยรวมเพิ่มขึ้นโดยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.74 และ 38.75 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาง ในประเทศ กลุ่มยางนอกรถยนต์ กลุ่มยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.05 20.32 และ 34.04 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายถุงมือยางในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.57

สำหรับในปี 2552 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.74 สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ กลุ่มยางนอกรถยนต์ ลดลงร้อยละ 16.58 ส่วนยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ยางใน และ ถุงยางและถุงมือตรวจโรค เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.23 9.47 และ 25.22 ตามลำดับ

2.การส่งออกและการนำเข้า

2.1 การส่งออก

ยางแปรรูปขั้นต้นที่ไทยส่งออก ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยมีมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 จำนวน 1,583.23 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.93 และ 22.27 ตามลำดับ สำหรับในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้ประเทศคิดเป็นร้อยละ 50 ของมูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมด ผลิตภัณฑ์ยางที่ไทยส่งออก ประกอบด้วยยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและสายพานส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยมีมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 จำนวน 3,921.74 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อนกว่าสองเท่าตัว โดยเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ยางเกือบทุกประเภท โดยเฉพาะยางยานพาหนะ ที่เพิ่มขึ้นถึงห้าเท่าตัวตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และ มาเลเซีย มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มขึ้นนี้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการใช้ยางธรรมชาติในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย

สำหรับภาพรวมทั้งปี ในปี 2552 มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางมีจำนวน 4,308.01 และ 4,487.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งลดลงจากปีก่อนร้อยละ 36.57 และ1.38 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราของโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้ยางสำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ สหภาพยุโรป ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าคงทน โดยเฉพาะรถยนต์รวมถึงการเปลี่ยนยางทดแทนออกไป

2.2 การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางรวมเศษยาง และวัสดุทำจากยางมีมูลค่า 285.29 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 16.48 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 17.61 ประเภทสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางวัลแคไนซ์ ยางรถยนต์ ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวันและเยอรมนี

สำหรับใน ปี 2552 มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางและเศษยาง วัสดุทำจากยาง มีจำนวน 1,118.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 23.07 โดยลดลงทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ยาง ยางรวมเศษยาง และวัสดุทำจากยาง ทั้งนี้มูลค่าการนำเข้าที่ลดลงนี้เนื่องมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอตัวทำให้ความต้องการใช้ยางของผู้บริโภคลดลง

3. สรุปและแนวโน้ม

ในปี 2552 จากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางชะลอตัวลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นของตลาดในประเทศ และตลาดโลกลดลง ตามยอดการจำหน่ายรถยนต์ที่ลดลง นอกจากนี้ความต้องการใช้ยางในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ยังส่งผลให้ราคายางลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2551 อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ประเทศผู้ใช้ยางที่สำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย มีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีน มีแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น จึงนำเข้ายางแปรรูปขั้นต้นจากไทยเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์

สำหรับผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตผลิตภัณฑ์ยางในกลุ่มยางนอกรถยนต์นั่งลดลง ตามยอดการจำหน่ายของอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา อย่างไรก็ตามการผลิตผลิตภัณฑ์ยางได้เริ่มกระเตื้องขึ้น ตั้งแต่ในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะฟื้นตัว สำหรับในส่วนของถุงมือยาง ไม่ได้รับผลกระทบ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะซบเซา เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลต่อมูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทยคือ การปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้ายางรถยนต์นั่ง และรถบรรทุกขนาดเล็กทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา จากประเทศจีนเป็นระยะเวลาทั้งหมด 3 ปี ซึ่งจากการที่สหรัฐอเมริกานำเข้ายางรถยนต์จากจีนลดลง อาจส่งผลต่อประเทศไทย ในฐานะที่เป็นประเทศที่ส่งออกยางแปรรูปขึ้นต้นไปยังอุตสาหกรรมยางรถยนต์ของจีน แต่ในขณะเดียวกันอาจกลายเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกยางรถยนต์ของไทยไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดส่งออกยางรถยนต์ที่สำคัญของไทย แต่การที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้น้อยลง อาจทำให้มีการผลักสินค้าไปสู่ตลาดอื่นๆมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นตลาดส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่เน้นข้อได้เปรียบด้านราคามากกว่าคุณภาพ

สำหรับผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง คาดว่าจะขยายตัวได้ดี จากความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย

สำหรับด้านราคายางในปี 2553 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ผลผลิตยางลดลง และในช่วงต้นปีเป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ ทำให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดโลกลดลงประกอบกับความต้องการใช้ยางในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ