สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2552 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2552(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 19, 2010 15:27 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย)เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มผักผลไม้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ธัญพืชและแป้งปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์นมและอาหารสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.6 38.1 10.1 8.1 7.8 และ 1.4 ตามลำดับ (ตารางที่ 1)เป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะ จีน ที่เพิ่มการสั่งซื้อในผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งนี้หากพิจารณารวมการผลิตน้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 36.1 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมากจากการปรับลดลงของสต็อกตลาดโลก และเป็นผลสืบเนื่องจากอินเดียประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่สามารถส่งออกน้ำตาลได้สำหรับภาวะการผลิตน้ำตาลทรายของปี 2552 เมื่อเทียบกับปี 2551 พบว่า ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 2.6 ตามการลดลงของผลผลิตอ้อยที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในบางพื้นที่

ภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญในช่วงไตรมาสที่ 4 สรุปได้ดังนี้

  • กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและร้อยละ 16.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ประกอบกับประเทศผู้ผลิตธัญพืชสำคัญ เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ความต้องการเพิ่มสูงขึ้นและราคาในตลาดโลกเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม ส่งผลดีต่อโครงการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกำลังทะยอยส่งออกผลิตภัณฑ์ได้มูลค่าเพิ่มขึ้น
  • กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงอย่างไรก็ตามความต้องการกุ้งแปรรูป และกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น สหรัฐฯ ซึ่งได้ประกาศยกเลิกการเรียกเก็บภาษีทุ่มตลาดในสินค้ากุ้งแช่เย็นแช่แข็งของไทยไปแล้ว
  • กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไก่ต้มสุกแปรรูปไปยังตลาด EU เต็มโควตาแล้ว ส่วนตลาดญี่ปุ่น เริ่มกลับมานำเข้าจากจีน หลังจากที่ทางการจีนได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสารตกค้างและความปลอดภัยในสินค้าอาหาร ทำให้ญี่ปุ่นชะลอการนำเข้าสินค้าจากไทยที่มีราคาสูงกว่า ส่งผลให้การผลิตชะลอตัวลงจากปีก่อน
  • กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 69.6 เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบ เช่น สับปะรด ข้าวโพดฝักอ่อน และข้าวโพดหวาน เริ่มออกสู่ตลาด แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 18.0 เป็นผลจากการส่งออกที่ชะลอตัวจากปัญหาเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงทำให้การสั่งซื้อชะลอตัว ประกอบกับมีการคาดการณ์ราคาผลผลิตในฤดูกาลใหม่ที่อาจปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ
  • การผลิตสินค้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบและบริโภคในประเทศ มีการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำมันพืช ลดลงร้อยละ 5.6 และ 5.2 ตามลำดับ เป็นผลจากราคาน้ำมันพืชในประเทศยังไม่ปรับลดลง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการบริโภคลง สำหรับผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 และร้อยละ 10.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากกระทรวงพาณิชย์ได้ประกาศชดเชยราคานมให้กับผู้ประกอบการ และมีการรณรงค์การดื่มนมอย่างแพร่หลายในส่วนของอาหารสัตว์ มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และร้อยละ 58.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการในภาคปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น

สรุปภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในปี 2552 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมรวมและอาหาร แม้ว่าระดับราคาสินค้าอาหารโดยภาพรวมจะปรับตัวสูงสุดในช่วงกลางปี2551และลดต่ำลงจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 และเริ่มปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามภาครัฐของประเทศต่างๆ ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายระดับ เช่น การลดอัตราภาษีสำหรับการซื้อสินค้าต่างๆ การช่วยเหลือประชาชนโดยเพิ่มสวัสดิการค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภค ทำให้สินค้าอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวันได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 28.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลได้ประกาศมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน 6 มาตรการประกอบกับระดับราคาน้ำมันได้ปรับตัวขึ้นลงในกรอบแคบๆ ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าบางรายการได้ปรับตัวลดลง ทำให้การบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ภาพรวมการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมอาหารในไตรมาสที่ 4 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเฉพาะในกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ธัญพืช และแป้ง ปศุสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม ประมงและอาหารสัตว์

หากเปรียบเทียบปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศของปี 2551 และ 2552 พบว่า ภาพรวมการจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของการจำหน่ายธัญพืชและแป้ง ผลิตภัณฑ์นม ประมง อาหารสัตว์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและ ปศุสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ22.1 10.9 10.8 6.8 4.6 และ 3.8 ตามลำดับ แต่หากพิจารณากลุ่มอื่นๆ พบว่า มีปริมาณการจำหน่ายลดลง คือ ผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ และน้ำตาล ร้อยละ 6.6 และ 3.5 ตามลำดับ

2.2 ตลาดต่างประเทศ

1) การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 5,246.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 189,961.6 ล้านบาท โดยหดตัวร้อยละ 4.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ แต่ขยายตัวร้อยละ 2.4 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าเริ่มฟื้นตัว แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3-4) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 13.6 ในรูปของเงินบาท โดยพบว่า มูลค่าการส่งออกทั้งในรูปของเงินบาทและดอลลาร์ฯ มีการขยายตัวในกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าวและธัญพืช น้ำตาล และผักผลไม้ เนื่องจากระดับราคาสินค้าอาหารได้ปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มคลี่คลาย แม้ว่าค่าเงินบาทได้ปรับแข็งค่าขึ้น แต่การส่งออกอาหารในภาพรวมยังปรับเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2551 และ 2552 จะเห็นว่าอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 9.0 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 3.4 ในรูปของเงินบาท สำหรับการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเล มีมูลค่าการส่งออก 1,762.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 58,541.2 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 0.4 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มอาหารทะเลกระป๋อง และอาหารทะเลแปรรูป และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ในรูปของดอลลาร์ฯ แต่ลดลงร้อยละ 1.4 ในรูปของเงินบาท สำหรับมูลค่าการส่งออกโดยเปรียบเทียบตลอดปี 2551และปี 2552 มีมูลค่าการส่งออก 6,212.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 211,722.9 ล้านบาท ลดลงจากปี 2551 ร้อยละ 4.9 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 1.8 ในรูปของเงินบาท ซึ่งหากพิจารณาการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปริมาณและมูลค่าส่งออกในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและปีก่อน เนื่องจากได้รับผลดีจากข่าวที่ไทยชนะคดีฟ้องร้องภาษีทุ่มตลาดและการเรียกเก็บค่าพันธบัตรประกันการนำเข้ากุ้งของสหรัฐฯ และจะต้องมีการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นย้อนหลัง ส่วนปลาทูน่ากระป๋อง ส่งออกลดลงทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่าในรูปของดอลลาร์ฯ หรือเงินบาท โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 528.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 17,535.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.1 ในของรูปดอลลาร์ฯ และลดลงร้อยละ 15.8 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบลดลงโดยเฉพาะสับปะรด และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 0.4 ในรูปของเงินบาท เป็นผลจากการที่ประเทศคู่แข่งประสบภัยธรรมชาติทำให้ปริมาณการผลิตและการส่งออกลดลง อย่างไรก็ตามในส่วนของผักกระป๋องและแปรรูปที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง สามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2551 และ 2552 พบว่า มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ในภาพรวมลดลงร้อยละ 2.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ในรูปของเงินบาท
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 443.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 14,728.0ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ แต่ปรับลดลงในรูปของเงินบาทร้อยละ 0.8 จากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 10.9 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 13.6 ในรูปของเงินบาท แม้ว่าความต้องการบริโภคจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไก่แปรรูป จากการที่ประเทศญี่ปุ่นนำเข้าไก่แปรรูปจากไทยทดแทนจีน แต่เริ่มมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประเทศจีนได้ปรับปรุงคุณภาพและเน้นความปลอดภัยในอาหารมากขึ้น นอกจากนี้สหภาพยุโรปได้กำหนดโควตาในการนำเข้า ซึ่งประเทศไทยใช้โควตาครบแล้ว ประกอบกับระดับราคาที่ปรับตัวลดลง ทำให้มูลค่าการส่งออกชะลอตัวลง และหากพิจารณาเปรียบเทียบตลอดปี 2551 และ 2552 มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.0 และ 2.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ และเงินบาทตามลำดับ
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 2,163.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 71,787.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 11.5 ในรูปของเงินบาทจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น โดยผู้ส่งออกไทยเริ่มกลับมาส่งออกเพิ่มขึ้น หลังจากประเทศผู้นำเข้าคาดการณ์ว่าสต็อกมันสำปะหลังของไทยจะมีมาก และต้องทำการระบายส่งออกประกอบกับประเทศผู้ส่งออกเกิดปัญหาภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ความต้องการยิ่งเพิ่มขึ้น และราคาสูงขึ้นตาม และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 40.0 ในรูปของเงินบาท โดยเป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 100 เนื่องจากระดับราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นหลังจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2551 และ 2552 มูลค่าการส่งออกหดตัวลดลงร้อยละ 12.3 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 8.9 ในรูปของเงินบาท เป็นผลจากมูลค่าการส่งออกข้าวลดลง
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 475.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ15,780.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.8 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 4.5 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นมาก จากการที่ประเทศผู้ผลิตอย่างอินเดียประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและส่งออกลดลง และมีผลต่อสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกลดลง อย่างไรก็ตามประเทศผู้นำเข้ายังคงชะลอการนำเข้า เนื่องจากรอฟังข่าวการประกาศเพิ่มโควตาส่งออกน้ำตาลทรายของสหภาพยุโรป และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 64.3 ในรูปของเงินบาท นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบตลอดปี 2551 และ 2552 พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 27.7 ในรูปของเงินบาทเช่นกัน เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นตามสต็อกน้ำตาลที่ลดลง
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 348.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ11,588.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 9.5 ในรูปของเงินบาทจากไตรมาสก่อน และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 4.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 7.2 ในรูปของเงินบาท นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2551 และ 2552 มูลค่าการส่งออกในภาพรวมของกลุ่มลดลงร้อยละ 22.0 ในรูปของดอลลาร์ และร้อยละ 18.9 ในรูปของเงินบาท โดยเป็นผลจากการส่งออกลดลงในกลุ่มสินค้าประเภทไขมันพืชและสัตว์ และนมและผลิตภัณฑ์นม

2) การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่ารวม 1,781.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 59,808.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ และลดลงร้อยละ 3.7 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการนำเข้ากากพืชน้ำมันลดลงร้อยละ 23.3 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 24.7 ในรูปของเงินบาท (ตารางที่ 5) และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมลดลงร้อยละ 15.0 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือ ร้อยละ 17.4 ในรูปของเงินบาท จากการนำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง เมล็ดและกากพืชน้ำมัน รวมถึงนมและผลิตภัณฑ์นมลดลงทั้งในรูปของดอลลาร์ฯ และเงินบาท ตามราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4

นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2551 และ 2552 พบว่า มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารโดยรวมลดลงร้อยละ 17.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 14.4 ในรูปของเงินบาท ซึ่งเป็นการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมลดลงมากที่สุด ร้อยละ 47.8 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 46.1 ในรูปของเงินบาท รองลงมา คือเมล็ดพืชน้ำมัน ร้อยละ 27.6 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 25.0 ในรูปของเงินบาท ปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็งร้อยละ 26.6 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 24.0 ในรูปของเงินบาท และกากพืชน้ำมัน ร้อยละ 13.9 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 11.2 ในรูปของเงินบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก กระทบต่อความต้องการสินค้าและการลงทุนในแต่ละประเทศชะลอตัวลง

3. นโยบายของภาครัฐ

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 รัฐบาลได้ดำ เนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและระดับราคาลดลง รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาปัจจัยการผลิต ได้แก่

3.1 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือราคาน้ำมันให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ให้ต่ำกว่าราคาท้องตลาด 2 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 1 ปี ในวงเงิน 24ล้านบาท และอนุมัติใช้เงิน 600 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการรวบรวมผลผลิตกุ้งด้วยระบบ Contract Farming ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

3.2 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 และวันที่ 22 ธันวาคม 2552 เห็นชอบการกำหนดนโยบายนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ปี 2553 ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลาป่น และกากถั่วเหลือง ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการนำเข้าสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในบางช่วงเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาด โดยการกำหนดช่วงเวลานำเข้า ประกอบกับเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีที่ได้ตกลงไว้กับนานาประเทศ

3.3 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยการจำหน่ายน้ำตาลทรายให้แก่ผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการยื่นขอรับสิทธิ์ซื้อน้ำตาลทรายโควตา ก. ให้ผู้ผลิตที่ไม่ได้ส่งสินค้าออกด้วยตนเอง แต่มอบหมายให้ผู้อื่นส่งออกแทน โดยยื่นคำขอมากกว่าปีละครั้ง ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนด เช่น การกำหนดราคา การขออนุญาตขนย้าย การแจ้งการส่งออกสินค้าและการควบคุมการจำหน่ายน้ำตาล

4. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2552 จัดอยู่ในช่วงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากไตรมาสที่ 3 และช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จากปริมาณคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ที่นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ขณะที่สหรัฐอเมริกา ที่เป็นตลาดหลักของสินค้าอาหารของไทย ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ระดับที่เพิ่มจะไม่สูงมากนัก แต่ทำให้การผลิตและการส่งออกสินค้าในกลุ่มประมงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง ที่ราคาปรับตัวลดลงจากการยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด นอกจากนี้สต็อกสินค้าในตลาดโลกที่สำคัญ คือ น้ำตาลทราย ได้ปรับตัวลดลงจากการที่ประเทศอินเดีย ประสบปัญหาภัยแล้งทำให้ส่งออกน้ำตาลได้ลดลง ส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดียังมีสินค้าที่การผลิตปรับตัวลดลง คือ ไก่และปศุสัตว์ เนื่องจากความต้องการจากต่างประเทศชะลอตัวลงจากสหภาพยุโรปนำเข้าในปริมาณที่เต็มโควตาแล้ว และญี่ปุ่นเริ่มนำเข้าไก่จากจีน จากการที่จีนเร่งรัดแก้ปัญหาความปลอดภัยของอาหารได้ แต่หากพิจารณาตลอดปี 2552 การผลิตของอุตสาหกรรมอาหารยังจัดอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2551 แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากระดับราคาที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่ยังได้รับผลดีจากสินค้าบางชนิดที่ความต้องการไม่ลดลงมากนัก และสามารถจำหน่ายในประเทศได้เพิ่มขึ้น เช่น สินค้ากลุ่มเนื้อสัตว์ และอาหารทะเล

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 คาดว่าหากเปรียบเทียบกับปีก่อน จะมีทิศทางการผลิต และการส่งออกปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก และหากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคดีขึ้น จะส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีความผันผวนลดลง เหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบ คือ ความรุนแรงของการระบาดของโรคใหม่ๆ ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ การก่อการร้ายในหลายประเทศ และมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต เช่น การประกาศมาตรการเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์สัมผัสอาหารของยุโรป มาตรการบังคับปิดฉลากเพิ่มเติมของหลายประเทศ และการประกาศเกณฑ์ขั้นต่ำของสารตกค้างในอาหารที่เข้มงวดมากขึ้นในหลายสินค้าของจีน ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ นอกจากนี้การกลับมาส่งออกสินค้าอาหารจากจีนไปญี่ปุ่น ที่เกิดจากการปรับปรุงความปลอดภัยของอาหารที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นของประเทศ อาจทำให้โอกาสที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทย กระทำได้ยากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ