รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 23, 2010 15:13 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนมกราคม 2553

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2553 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2552 ร้อยละ 7.7 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเกือบทุกอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ Hard Disk Drive เครื่องปรับอากาศ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อาหารกระป๋อง ทั้งนี้การที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหนึ่งมาจากฐานตัวเลขการผลิตที่ต่ำในเดือนมกราคม 2552 และเศรษฐกิจมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน

  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนมกราคม 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 60.4 ลดลงจากร้อยละ 61.8 ในเดือนธันวาคม 2552
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ 2553

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

  • การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม 2553 มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้าง และมีปัจจัยบวกคือ รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการอัดฉีดงบภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งมากขึ้น

สำหรับการส่งออก เศรษฐกิจโลกเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของตลาดส่งออก ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นประเทศกำลังพัฒนา มีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการไทยก็มีขีดความสามารถในการแข่งขันเนื่องจากมีการพัฒนาระบบการผลิตและมีเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ปูนซีเมนต์เป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมาก มีต้นทุนค่าขนส่งในการส่งออกสูง การหาโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

  • แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.74 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นเป็นหลัก โดยประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.34 และ 28.64 ตามลำดับ จากกำลังซื้อเริ่มกลับมาของตลาด EU และอาเซียน
  • ขณะที่ แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.14 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของส่วนประกอบ HDD ชิ้นส่วน IC และเซมิคอนดักเตอร์โดยเฉพาะการผลิต HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากมีความต้องการสินค้าสำเร็จรูปที่มีส่วนประกอบเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ธ.ค. 52 = 194.7

ม.ค. 53 = 179.6

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • เบียร์
  • เครื่องแต่งกาย
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

ธ.ค. 52 = 61.8

ม.ค. 53 = 60.4

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • เบียร์
  • ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2553 มีค่า 179.6 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2552(194.7) ร้อยละ 7.7 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนมกราคม 2552 (139.1) ร้อยละ 29.1

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2552 ได้แก่ Hard Disk Drive เบียร์ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนได้แก่ Hard Disk Drive เครื่องปรับอากาศ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนมกราคม 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 60.4 ลดลงจากเดือนธันวาคม2552 (ร้อยละ 61.8) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนมกราคม 2552 (ร้อยละ 51.7)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนธันวาคม 2552 ได้แก่ Hard Disk Drive เบียร์ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องแต่งกาย เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive เส้นใยสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2553

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2552 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 245 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 324 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 24.38 การจ้างงานรวมมีจำนวน 4,822 คน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2552 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 5,456 คนร้อยละ 11.62 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 476,142 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งมีการลงทุน11,673 ล้านบาท ร้อยละ 3,978.90

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนมกราคม 2552 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 267 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 8.24 การจ้างงานรวมลดลงจากเดือนมกราคม 2552 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,046 คน ร้อยละ 31.56 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2552 ซึ่งมีการลงทุน 6,642 ล้านบาท ร้อยละ 7,067.68

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนมกราคม 2553 คือ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องเรือนจากไม้ เช่น ชุดรับแขก จำนวน 20 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขุดหรือลอก กรวด ทรายหรือดิน 18 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนมกราคม 2553 คือ อุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า พลังงานไฟฟ้า เงินลงทุน 468,248 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลทราย เงินลงทุน 2,871 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนมกราคม 2553 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวนคนงาน 400 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ทำผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์ จำนวนคนงาน 331 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2552 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 84 ราย เท่ากับเดือนธันวาคม 2552 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 893 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนธันวาคม 2552 ที่ การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,493 ล้านบาท และการเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,571 คน น้อยกว่าเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,460 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนมกราคม 2552 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 127 ราย คิดเป็นร้อยละ 33.86 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนมกราคม 2552 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,823 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานน้อยกว่าเดือนมกราคม 2552 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 6,866 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนมกราคม 2553 คือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต คอนกรีตผสม ผลิตภัณฑ์ยิมซั่ม ปูนปลาสเตอร์ และอุตสาหกรรมซ่อมยานที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หรือส่วนประกอบ จำนวน 10 รายเท่ากัน รองลงมาคืออุตสาหกรรมกลึง เจาะ คว้าน กัด ไส เจียน เชื่อมโลหะทั่วไป จำนวน 6 ราย
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนมกราคม 2553 คืออุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องเคลือบ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องดินเผา เงินทุน 234 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และหม้อแปลงไฟฟ้า เงินทุน 153 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนมกราคม 2553 คือ อุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องเคลือบ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องดินเผา คนงาน 905 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ หนังเทียม ซึ่งมิใช่เครื่องแต่งกาย รองเท้า คนงาน 217 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสกท. ทั้งสิ้น 111 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน 49 โครงการ ร้อยละ 126.53 และมีเงินลงทุน 36,300 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 2,800 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1,196.43

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม 2553
             การร่วมทุน                 จำนวน(โครงการ)        มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%              60                     19,400
          2.โครงการต่างชาติ 100%             29                      3,900
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ       22                     13,000
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม 2553 คือหมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 19,000 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้า มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 5,600 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรม อาหาร คาดว่า จะดีขึ้นตามระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้น สำหรับการจำหน่ายภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมกราคม 2553 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7 แต่ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 7.8 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่น ไก่แปรรูป กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.1 5.5 6.0 และ 52.2 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อของต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากผลิตเพื่อสำรองเพิ่มขึ้น จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการเกรงว่าราคาวัตถุดิบจะมีแนวโน้มสูงขึ้น

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนมกราคม 2553 สินค้าอาหารและเกษตร มีปริมาณการจำหน่ายลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 7.7 เนื่องจากเลยช่วงเทศกาลสำคัญ แต่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 1.2 จากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

2) ตลาดต่างประเทศ เดือนมกราคม 2553 มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหารในรูปเงินบาทลดลงร้อยละ 10.7 จากเดือนก่อนเนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาท แต่หากเปรียบเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.7 จากปริมาณสต๊อกสินค้าในตลาดโลกลดลง ประกอบกับราคาสินค้าอาหารและเกษตรในตลาดโลกเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีการเร่งนำเข้า ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้าเกือบทุกชนิดมูลค่าการส่งออกจึงเพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและน้ำตาล เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 175.9 และ 65.8 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้น ตามระดับราคาที่เพิ่มขึ้น สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศคาดว่า จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตามความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“การผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะขยายตัวตามคำสั่งซื้อ ซึ่งมีปัจจัยบวกหลักจากเศรษฐกิจคู่ค้าอย่างสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว”

1. การผลิต

ภาวะการผลิตในเดือนมกราคม 2553 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอต้นน้ำมีการผลิตที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ(+0.1,+26.8%) ผ้าผืน (+2.1,+11.7%) สิ่งทอสำเร็จรูปอื่นๆ (+5.8,+30.6%) เนื่องจากมีคำสั่งซื้อค่อนข้างมากจากประเทศในอาเซียน ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอย่างเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ และผลิตจากผ้าถักลดลงร้อยละ -14.1 และ -11.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -18.9 และ -13.9 ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังมีไม่มากนัก รวมทั้งการบริโภคของประชาชนยังชะลอตัว

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เดือนมกราคม 2553 ส่วนใหญ่มีการบริโภคเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ในขณะที่การส่งออกลดลงร้อยละ9.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป (-9.5%) ผ้าผืน (-8.2%) ด้ายฝ้าย (-4.3%) เคหะสิ่งทอ (-27.9%)และเส้นใยประดิษฐ์ (-8.7%) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ8.7 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในสินค้าผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ และเส้นใยประดิษฐ์ ร้อยละ 20.3, 52.5, 88.2 และ 84.0ตามลำดับ และเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 16.8

การส่งออก สำหรับตลาดส่งออกปรับตัวลดลงในตลาดหลักทุกตลาดเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งออกตลาดสหรัฐอเมริกา (-10.7%)สหภาพยุโรป (-9.8%) ญี่ปุ่น (-9.1%) และอาเซียน(-5.6%) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 ซึ่งเพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียน และสหภาพยุโรป ร้อยละ 62.1 และ 4.0 แต่ยังติดลบในตลาดสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นร้อยละ 23.3 และ 19.7 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเดือนมีนาคม คาดว่าจะขยายตัวตามคำสั่งซื้อ ซึ่งมีปัจจัยบวกหลักจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว เป็นแรงส่งให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น อีกทั้งการเปิดเสรีทางการค้าที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการผู้นำเข้าวัตถุดิบและผู้ผลิตปลายน้ำ ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบต่ำลง

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • กระทรวงพาณิชย์ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ประกาศผลการไต่สวนขั้นสุดท้ายกรณีการทุ่มตลาดของสินค้าท่อเหล็กเชื่อมชนิดเหล็กกล้าคาร์บอนที่ผลิตจากประเทศไทย โดยอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสูงสุดอยู่ที่ ร้อยละ 37.55

1.การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมกราคม 2553 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.39 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 138.58 เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวพบว่า ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.28 โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 69.30 เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.86 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ “โครงการไทยเข้มแข็ง” ที่ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กเส้นในช่วงนี้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านฤดูกาลซึ่งช่วงไตรมาสแรกของทุกปีจะเป็นช่วง High Season ของอุตสาหกรรม สำหรับเหล็กทรงแบน พบว่า ดัชนีผลผลิต ลดลง ร้อยละ 6.55 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 15.55 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 11.92 เพื่อเป็นการระบายสินค้าคงคลังที่มีอยู่

ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 44.27 โดยเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 52.78 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ลวดเหล็กแรงดึงสูง ร้อยละ 99.18 รองลงมาคือ เหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 83.16 สำหรับเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 42.20 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นร้อยละ 146.52 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 56.89

2.ราคาเหล็ก

การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กที่สำคัญส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นโดย เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้นจาก 421 เป็น 458 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.80 เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต เพิ่มขึ้นจาก 436 เป็น 465 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.59 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 521 เป็น 547 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.88 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้นจาก 463 เป็น 485 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.86 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 621 เป็น 647 เหรียญสหรัฐต่อตันเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.20 ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาโดยเฉลี่ยของเหล็กทุกผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น จากหลายประเทศ เช่น ประเทศอิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากราคาสินค้า commodity เช่น น้ำมันเพิ่มมากขึ้น

3. แนวโน้ม

สถานการณ์เหล็กในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 คาดว่าจะมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น โดยเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้ปัจจัยหนุนของเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับเหล็กทรงแบนพบว่ามีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม 2553 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ตามสภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลให้การจำหน่ายและการส่งออกรถยนต์ขยายตัว โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม มีดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 103,849 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2552 ซึ่งมีการผลิต 72,456 คัน ร้อยละ 43.33 แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนธันวาคม 2552 ร้อยละ 7.05
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 49,560 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2552 ซึ่งมีการจำหน่าย 32,085 คัน ร้อยละ 54.46 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถยนต์ทุกประเภท แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงจากเดือนธันวาคม 2552 ร้อยละ 31.25
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 58,525 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2552 ซึ่งมีการส่งออก 49,454 คัน ร้อยละ 18.34 และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2552 ร้อยละ 9.19
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2553 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 39 และส่งออกร้อยละ 61

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2553 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว อีกทั้งรายได้ของภาคการเกษตรมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 155,102 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2552 ซึ่งมีการผลิต 138,630 คัน ร้อยละ 11.88 และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2552 ร้อยละ 9.69
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 153,312 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2552 ซึ่งมีการจำหน่าย 109,940 คัน ร้อยละ 39.45 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2552ร้อยละ 3.99
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 6,434 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม 2552 ซึ่งมีการส่งออก 11,237 คัน ร้อยละ 42.74 อย่างไรก็ดี การส่งออกรถจักรยานยนต์ในลักษณะชิ้นส่วนครบชุด(CKD) เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.51 และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนธันวาคม 2552 ร้อยละ 23.59
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2553 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 94 และส่งออกร้อยละ 6
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว สำหรับการส่งออกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น และตลาดส่งออกหลักของไทย เป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังคงมีการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนมกราคม 2553 ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.74 และ6.39 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.47 และ 5.91 ตามลำดับ เนื่องจากมีปัจจัยบวกที่เป็นการกระตุ้นตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศคือ ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับรัฐบาลเริ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการอัดฉีดงบภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งลงระบบมากขึ้น ทำให้ธุรกิจภาคเอกชนมีการขยายตัวด้านการลงทุนมากขึ้น

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนมกราคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ลดลงร้อยละ 12.47 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.22 ตามลำดับ ในภาพรวมการส่งออกปูนซีเมนต์มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีเนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของตลาดส่งออกหลักที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะประเทศในแถบอาเซียน ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

3.แนวโน้ม

การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม 2553 มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้าง และมีปัจจัยบวกคือ รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการอัดฉีดงบภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งมากขึ้น

สำหรับการส่งออก เศรษฐกิจโลกเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของตลาดส่งออก ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นประเทศกำลังพัฒนา มีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการไทยก็มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากมีการพัฒนาระบบการผลิตและมีเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตามปูนซีเมนต์เป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมาก มีต้นทุนค่าขนส่งในการส่งออกสูงการหาโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.74 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นเป็นหลัก โดยประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.34 และ 28.64 ตามลำดับ จากกำลังซื้อเริ่มกลับมาของตลาด EU และอาเซียน
  • ขณะที่ แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.14 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของส่วนประกอบ HDD ชิ้นส่วน IC และเซมิคอนดักเตอร์ที่เริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการผลิต HDD ปรับตัวสูงมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากมีความต้องการสินค้าสำเร็จรูปที่มีส่วนประกอบเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ม.ค. 2553
          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์                    มูลค่า            %MoM           %YoY
          อุปกรณ์คอมพิวเตอร์                        1,585.11           -2.21           71.17
          IC                                      580.83           -9.22           78.60
          เครื่องปรับอากาศ                           216.98           17.57           36.22
          เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า                          139.84           -3.60           40.90
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์           3,970.37           -4.26           58.22

ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมกราคม2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 15.39 และ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.66 เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นของหลายกลุ่มอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น รวมถึงเกิดจากการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมโดยรวมที่ส่งผลต่อเนื่องมาจากช่วงปลายปี 2552 โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.90 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเช่นเดียวกันกับเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.07 ทั้งนี้ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสินค้าเครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์ สายไฟฟ้า หม้อหุงข้าว ยกเว้นกระติกน้ำร้อนและ เครื่องรับโทรทัศน์สีที่ปรับตัวลดลง

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลง ร้อยละ 18.62 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขณะที่ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 76.04 โดยมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 482.50 เนื่องจากฐานตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเดือนมกราคมปี 2552 ประกอบกับภาวะความต้องการเพิ่มสูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมกราคม 2553 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 4.26 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 58.22 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 3,970.37 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกรวมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 2.08 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.42 ตลาดส่งออกทุกตลาดมีการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกตลาดโดยเฉพาะตลาดอาเซียนที่มีการส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทั้งอัตราการขยายตัวและมูลค่าส่งออก สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 5.43 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 70.15 ตลาดส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม 2553 ได้แก่ ตลาดจีนที่มีมูลค่าการส่งออก 588.38 ล้านเหรียฐสหรัฐ โดยมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 126.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

3. แนวโน้ม

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.74 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นเป็นหลัก โดยประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.34 และ 28.64 ตามลำดับ จากกำลังซื้อเริ่มกลับมาของตลาด EU และอาเซียน

ขณะที่ แนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.14 เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของส่วนประกอบ HDD ชิ้นส่วน IC และเซมิคอนดักเตอร์เริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการผลิต HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากมีความต้องการสินค้าสำเร็จรูปที่มีส่วนประกอบเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น มาก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ