สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2553 (เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 15:31 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 5.8 ซึ่งขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2551 เป็นต้นมา ซึ่งขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -2.7 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ -4.2 โดยปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 คือ การส่งออกสุทธิที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน การใช้จ่ายอุปโภคของรัฐบาลที่ขยายตัว และการลงทุนรวมที่หดตัวน้อยกว่าไตรมาสที่ 3 ปี 2552 จากการก่อสร้างที่ขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสที่ 4 ที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนการนำเข้าสินค้าและบริการยังคง หดตัว

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ขยายตัวร้อยละ 9.9 ซึ่งขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2551 เช่นกัน ซึ่งขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -5.9 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ที่หดตัวร้อยละ -6.8 โดย GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 ขยายตัวจากอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่ขยายตัวสูง เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และอาหารทะเลแปรรูป จากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยี อุตสาหกรรมวัตถุดิบขยายตัว ส่วนอุตสาหกรรมเบา (เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ) หดตัว

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 — 4.5 จากในปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ -2.3 โดยเป็นการขยายตัวภายใต้แรงส่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะกระจุกตัวในบางสาขาและมีความเสี่ยงจากความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอลงอีกในช่วงครึ่งหลังของปี

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 พบว่า ส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิต สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการผลิตและการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เช่น ยานยนต์ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศ สบู่และผงซักฟอก เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการผลิตและการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 เช่น Hard Disk Drive ยานยนต์เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น สำหรับมูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.6 (ม.ค.-มี.ค.53)เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา

นอกจากนี้ การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคของภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552 เช่นเดียวกัน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 191.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (185.2) ร้อยละ 3.4 และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (146.2) ร้อยละ 31.0

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ น้ำ ตาล ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ ปูนซีเมนต์ สบู่และผงซักฟอก เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 190.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (185.7) ร้อยละ 2.6 และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552(143.1) ร้อยละ 33.1

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เหล็ก ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ลวดเชื่อมไฟฟ้า สกรู น็อต เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เหล็ก เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 182.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (172.2) ร้อยละ 5.8 แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (198.1) ร้อยละ 8.0

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ เบียร์ น้ำตาล Hard Disk Drive ยานยนต์ แป้งมัน เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ เบียร์ เส้นใย สิ่งทอ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก กระดาษลูกฟูก เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 62.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 60.8) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (ร้อยละ 52.2)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศ สบู่และผงซักฟอก เครื่องแต่งกาย เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive เหล็ก เส้นใยสิ่งทอ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมเฉลี่ยมีค่า 78.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (76.5) และไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (74.0) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ดัชนีทั้ง 3 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ การประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2553 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 3.5 จะขยายตัวเป็นร้อยละ 4.5 ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยที่มีการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่องโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งเริ่มมีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมเป็นรายเดือน จะเห็นว่าดัชนีเริ่มปรับตัวลดลงมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2553 เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่อาจปรับตัวแย่ลงเพราะปัญหาทางการเมืองที่อาจขาดเสถียรภาพ หลังจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช. ในเดือนมีนาคม ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง และภาวะค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูงในสายตาของผู้บริโภคที่อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานในอนาคต

เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนีพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีค่า 70.9 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (69.2) แต่ยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับที่ดีเนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภควิตกกังวล

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีค่า 69.5 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (67.9) แต่ยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวมยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีค่า 94.7 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (92.5) แต่ยังอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แม้ผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต แต่ระดับความเชื่อมั่นยังคงสูงกว่าความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจและโอกาสหางานทำ

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3)พบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีค่าเท่ากับ 52.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (49.9) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (37.9) โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ดัชนีโดยรวมมีค่ามากกว่า 50 แล้วแสดงว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้น ผู้ประกอบการมองว่าภาวการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตจะดีขึ้น สำหรับดัชนีที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2552 คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การลงทุนของบริษัท การจ้างงานของบริษัท และการผลิตของบริษัท

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 110.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (107.5) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (65.5) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100 แสดงว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นว่าภาวการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับดี หรือมีสภาพดีขึ้น อย่างไรก็ตามในเดือนมีนาคม 2553 ดัชนีมีค่า 101.6 ปรับตัวลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2553 (114.5) โดยเป็นผลมาจากการปรับลดลงขององค์ประกอบดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการชุมนุมที่ยืดเยื้อและความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจเกิดความรุนแรง ทำให้ผู้บริโภคมีการชะลอการใช้จ่ายลง นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ยังส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ซึ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีวัตถุดิบในการผลิตลดลง ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ เร่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบทางการเมือง เร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มช่างฝีมือ ทั้งนี้ต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการสร้างแรงงานฝีมือซึ่งกำลังขาดแคลนดูแลอัตราการแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ ต้องการให้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและเร่งอนุมัติงบไทยเข้มแข็งเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และเร่งแก้ไขปัญหาตลอดจนให้ความช่วยเหลือผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2553 อยู่ที่ระดับ 121.3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 121.0 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าการส่งออก ณ ราคาคงที่

สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีค่าเฉลี่ย 120.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 120.0

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนมีนาคม 2553 อยู่ที่ระดับ 119.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 118.8 ตามการเพิ่มขึ้นของเครื่องชี้วัด ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาษีมูลค่า ณ ราคาคงที่ และมูลค่าการนำเข้า ณ ราคาคงที่

สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีค่า 118.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 117.6

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีค่า 133.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (131.9) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (124.0) ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (ตารางที่ 5)

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ พบว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมมีค่า 178.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (165.9) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (151.2)

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 1 ของปี2553 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552

การนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552

(สำหรับข้อมูลปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ณ ขณะจัดทำรายงานฉบับนี้ ข้อมูลล่าสุดมีถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เท่านั้น)

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเท่ากับ 106.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (105.7) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (102.9) การที่ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามราคาข้าว เนื้อสัตว์ ไข่ นมและผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคายานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง กลุ่มอาหารสดและพลังงาน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีค่าเท่ากับ 161.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (157.2) และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2552 (144.4) โดยราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หมวดผลผลิตเกษตรกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2552

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่หนึ่งของปี 2553 (ข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์)โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.273 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 37.601 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 98.24 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.383 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.00)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่หนึ่งของปี 2553 มีจำนวน 6.085 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 16.18 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ขยายตัวขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 โดยในไตรมาสที่ 1 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 86,651.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 44,380.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 42,270.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.54 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ดุลการค้าเกินดุล 2,110.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.61 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.13

การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่าการส่งออกทั้ง 3 เดือน(มกราคม - มีนาคม) มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมูลค่าการส่งออกขยายตัวติดต่อกันทั้ง 3 เดือน โดยเฉพาะเดือนมีนาคมมีมูลค่าการส่งออก 16,253.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 40.9 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 สำหรับเดือนมกราคมมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8 และเดือนกุมภาพันธ์มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 13,723.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 14,403.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 33,912.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 76.41) สินค้าเกษตรกรรม 5,190.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 11.70)สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 3,353.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.56) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิง1,924.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.34)

เมื่อเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่ามูลค่าการส่งออกของในทุกหมวดสินค้าเพิ่มขึ้น โดยสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.19 สินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.90 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.12 และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.18

สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 4,863.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 10.96)รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 4,188.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.44) ยางพารา 1,926.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.34) แผงวงจรไฟฟ้า 1,835.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อละ 4.13) อัญมณีและเครื่องประดับ 1,620.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.65) ผลิตภัณฑ์ยาง 1,523.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.43) เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เหล็ก 1,410.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.18) ข้าว 1,318.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.97) เม็ดพลาสติก 1,293.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.91) และเคมีภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออก 1,275.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 2.87) โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 21,254.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 47.89 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

ตลาดส่งออก

การส่งออกไปยังตลาดหลักของไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 55.62 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกในตลาดสำคัญมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในทุกตลาด โดยมูลค่าการส่งออกในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.30 ตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.25 ตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.40 และตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.81

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด โดยมีมูลค่าการนำเข้า 19,440.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 45.99) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุนโดยมีมูลค่า 10,775.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 25.49) สินค้าเชื้อเพลิง 6,297.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 14.90) สินค้าอุปโภคบริโภค 3,942.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.33)สินค้าหมวดยานพาหนะ 1,749.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.14) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ 64.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.15) ตามลำดับ

โดยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าในหมวดหลักๆ มีมูลค่านำเข้ากลับมาขยายตัว โดยสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งมีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 101.70 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 95.47 สินค้าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.57 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.94 และสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.87 สำหรับสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ มีมูค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 16.78

แหล่งนำเข้า

แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 มีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 51.03 ซึ่งสัดส่วนการนำเข้าจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 เนื่องจากผลของการเปิดเสรีทางการค้า ส่วนแหล่งนำเข้าสำคัญอื่นนั้นยังคงอยู่ระดับเดิม เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าแล้วจะพบว่าในไตรมาสที่ 1 นี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากทุกแหล่งนำเข้าทั้งจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 73.70 สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.31 กลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.88 และสภาพยุโรปมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.98 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552

แนวโน้มการส่งออก ปี 2553

ในปี 2553 กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 14 คิดเป็นมูลค่า 173,852 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยกระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าปัญหาการเมืองในประเทศขณะนี้ ยังไม่กระทบต่อการส่งออก เพราะส่วนใหญ่มีการสั่งซื้อล่วงหน้า นอกจากนี้หลังจากนายกรัฐมนตรีเสนอแผนปรองดองแห่งชาติ 5 ข้อหลายฝ่ายขานรับแนวทาง แต่ยังมีบางฝ่ายที่ยังไม่เข้าใจในแนวนโยบาย ซึ่งอยู่ระหว่างการทำความเข้าใจกับกลุ่มต่างๆ เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขโดยเร็ว ทั้งนี้สถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ต่างชาติน่าจะกลับเข้ามาทำการค้าและลงทุนได้ตามปกติในเร็วๆ นี้ ซึ่งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้สำนักงานผู้แทนการค้าในต่างประเทศทำความเข้าใจและชี้แจงต่อผู้ค้าในแต่ละประเทศถึงสถานการณ์การเมืองของไทยที่เริ่มกลับมาคลี่คลาย

แต่ในส่วนของปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอาจส่งผลต่อการแข่งขันของสินค้าไทย ก็ได้มีการแนะนำให้ผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้แล้ว จึงไม่น่าเกิดผลกระทบมาก สำหรับปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกนั้น จะส่งผลกระทบกับการส่งออกของประเทศไทยไม่มากเพราะไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่ประสบปัญหา (กรีซ ,ไอแลนด์ ,สเปน และโปรตุเกส) น้อยมาก กล่าวคือส่งออกยัง 4 ประเทศดังกล่าวในสัดส่วนไม่ถึง 1% ของการส่งออกทั้งหมด และสัดส่วนการส่งออกของไทยไปตลาดอียูและสหรัฐอเมริกาลดลงหลังจากไทยหันมาพึ่งพาการส่งออกไปตลาดอาเซียนซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของการส่งออกทั้งหมด ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกในไตรมาส 2/2553 จะขยายตัวได้กว่าร้อยละ 16 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีมูลค่ารวม 36,385.55 ล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.92 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนมกราคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 19,741.89 ล้านบาท และเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่า 16,643.66 ล้านบาท เมื่อพิจารณาตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในปี 2553 พบว่ามูลค่าการลงทุนเกินระดับ 15,000 ล้านบาท โดยในเดือนมกราคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิใกล้ระดับ 20,000 ล้านบาท

ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 สาขาอุตสาหกรรมเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุดเป็นเงินลงทุน 16,210.47 ล้านบาท โดยหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์มีการลงทุนสุทธิมากที่สุด โดยมีมูลค่าเงินลงทุน 8,042.14 ล้านบาท รองลงมาคือหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งซึ่งมีเงินลงทุน 4,541.54 ล้านบาท และหมวดอาหาร และน้ำตาลมีเงินลงทุน 3,941.82 ล้านบาท

ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์คือประเทศญี่ปุ่นมีเงินลงทุนสุทธิ 9,494.44 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์และประเทศฮ่องกงโดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 4,468.54 ล้านบาท และ 3,897.46 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOIมีจำนวนทั้งสิ้น 354 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 213 โครงการโดยโครงการทั้ง 354 โครงการนั้นมีเงินลงทุน 88,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 172.22 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โครงการลงทุนนั้นประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 116 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 22,100 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 83 โครงการ เป็นเงินลงทุน 31,400 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 41,500 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีเงินลงทุน 16,900 ล้านบาท และเกษตรกรรม และผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 13,000 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 73 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 22,705 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศฮ่องกงจำนวน 6 โครงการ มีเงินลงทุน 8,121 ล้านบาท ประเทศสวิสเซอร์แลนด์จำนวน 2 โครงการ เป็นเงินลงทุน 3,136 ล้านบาท และประเทศสิงคโปร์ 15 โครงการ เป็นเงินลงทุน 3,071 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ