สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2553 (อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 15:47 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีประมาณ 1,907,056 เมตริกตัน (ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.36 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนและเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กทุกตัวมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น เหล็กทรงแบนมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 62.68 โดย เหล็กแผ่นรีดเย็นมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 144.34 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 90.13 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเคลือบโครเมียม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 60.63 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น ร้อยละ 27.20 ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศกำลังเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากความต้องการบริโภคของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากที่ผ่านมาปริมาณสต๊อกที่มีอยู่ทั้งของโรงงานเหล็กและพ่อค้าคนกลางเริ่มลดลง ผู้ผลิตเหล็กจึงขยายการผลิตเพิ่มขึ้น รายละเอียดตามตารางที่ 1

การใช้ในประเทศ(1)

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ประมาณ 3,064,311 เมตริกตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 69.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากปริมาณการใช้ของเหล็กทรงแบนที่เพิ่มขึ้น ถึง ร้อยละ 90.99 และเหล็กทรงยาวที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 34.67 สำหรับภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กทรงยาวที่สำคัญ จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมขยายตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากจำนวนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในเชตกรุงเทพและปริมณฑลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากขึ้น

การนำเข้า-การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีจำนวนประมาณ 66,484 ล้านบาท และ 2,748,279 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 65.08 และ 118.46 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 331.94 เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 117.60 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 105.30 ซึ่งเหล็กแผ่นทั้ง 2 ชนิดนี้จะใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กแท่งแบน มีมูลค่า 9,767 ล้านบาท เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน มีมูลค่า 8,543 ล้านบาท และเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต มีมูลค่า 7,055 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นและรัสเซีย รายละเอียดตามตารางที่ 2

การส่งออก

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีจำนวนประมาณ 13,730 ล้านบาท และ 422,213 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 51.12 และ 18.75 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 418.53 เหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 151.73 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 143.64

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการมูลค่าการส่งออกมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ท่อเหล็กมีตะเข็บ มีมูลค่า 3,607 ล้านบาท รองลงมาคือ ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ มีมูลค่า 1,883 ล้านบาท เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนมีมูลค่า 1,621 ล้านบาท โดยสาเหตุที่มีการส่งออกท่อเหล็กไปยังประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจีนจากการที่รัฐบาลจีนได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่วนหนึ่งเป็นการขยายสินเชื่อผ่านธนาคารขนาดใหญ่ของภาครัฐเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ เป็นผลมาจากการที่ไทยได้มีความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งจะมีการยกเลิกภาษีสินค้าปกติหลายรายการภายใต้ ACFTA จึงทำให้ผู้ประกอบการไทยได้ใช้สิทธิดังกล่าวเพื่อส่งออกท่อเหล็กไปยังจีน รายละเอียดตามตารางที่ 3

2. สรุป

สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนพบว่าการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.36 ความต้องการใช้ในประเทศ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 69.09 สำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 65.08 และ 118.46 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 331.94 เหล็กแผ่นบางรีดร้อนชนิดผ่านการกัดล้างและชุบน้ำมัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 117.60 และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 105.30 สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 51.12 และ 18.75 ตามลำดับ โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของท่อเหล็กไร้ตะเข็บ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 418.53 เหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 151.73 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 143.64 ซึ่งเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยการขยายตัวของตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่จะมาจากการฟื้นตัวของประเทศในแถบเอเชีย ได้ ประเทศจีน อินเดีย

สำหรับสถานการณ์ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กที่สำคัญ(FOB) ในตลาดโลกจาก CIS ณ ท่า Black

Sea ณ วันที่ 22 เมษายน 2553 เป็นดังนี้

  • ราคาเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต 625 เหรียญสหรัฐต่อตัน
  • ราคาเหล็กเส้น 705 เหรียญสหรัฐต่อตัน
  • ราคาเหล็กแท่งแบน 653 เหรียญสหรัฐต่อตัน
  • ราคาเหล็กแผ่นรีดร้อน 705 เหรียญสหรัฐต่อตัน
  • ราคาเหล็กแผ่นรีดเย็น 818 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ซึ่งพบว่าสถานการณ์ราคาเหล็กได้ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากราคาวัตถุดิบ คือ สินแร่เหล็กและถ่านโค้กได้ปรับตัวขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจาก ความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้กำลังการผลิตของเหมืองแร่เหล็กขยายตัวไม่ทันกับความต้องการใช้

3.แนวโน้ม

แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของ ปี 2553 คาดการณ์ว่าเหล็กทรงยาว คาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กทรงยาวที่สำคัญมีสถานการณ์ที่ฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากปริมาณสต๊อกที่มีอยู่เริ่มลดลง ผู้ผลิตจึงต้องผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

หมายเหตุ (1) ข้อมูลการใช้ในประเทศจะเป็นปริมาณการใช้ปรากฎ (Apparent Steel Use) ซึ่งรวมสต๊อกไว้ด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ