สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 (มกราคม — มีนาคม) พ.ศ. 2553 (อุตสาหกรรมพลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 3, 2010 14:19 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลต่อการส่งออกของไทยเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลาย ทำให้การบริโภคและการลงทุนปรับตัวดีขึ้น ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ของไทยทั้ง 10 แห่ง ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนเริ่มมั่นใจมากขึ้น มีการใช้จ่ายมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ยังมีปัจจัยของการชุมนุมที่ควรคำนึงถึงหากแต่ยังไม่ได้ส่งผลทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกมีการเติบโตดี ดังจะเห็นได้จากตัวเลขยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นถึง 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ โดยเป็นรถเพื่อการพาณิชย์ที่ปรับตัวขึ้นถึง 58 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนให้เห็นสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยรถยนต์ที่เป็นประหยัดพลังงาน รถยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลาง จะเป็นที่นิยมมากขึ้น ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัว จึงมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ในด้านการเกษตร ก็มีการส่งออกเพิ่มขึ้น มีการลงทุนเพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมพลาสติก

ด้านราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวค่อนข้างผันผวนโดยได้รับแรงสนับสนุนจากหลายปัจจัยได้แก่ การคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะฟื้นตัว ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น ความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้น การจ้างงานที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันแกว่งตัว คือ ปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ของสหรัฐยังไม่ดีขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบ ดูไบเฉลี่ยไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 73.48 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ราคาเอทิลีนและโพรพิลีน ปรับตัวตามราคาน้ำมัน ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิต แต่ในช่วงเดือนมีนาคม ราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากตลาดมีความต้องการลดลง และอุปทานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตะวันออกกลางและอิหร่าน อันเป็นผลมาจากการเปิดดำเนินการของแครกเกอร์ใหม่ๆ

การผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ด้านของการผลิตเม็ดพลาสติกปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ยังคงมี คำสั่งซื้อของผลิตภัณฑ์พลาสติกบ้าง ดังจะเห็นได้จากในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่นอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มียอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้น อีกทั้งด้านอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ก็มีการเจริญเติบโตเพิ่ม ส่วนด้านปริมาณการผลิตเม็ดพลาสติก ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ได้มีกำลังการผลิตใหม่ของเม็ด LLDPE ของบริษัท PTTEP เข้ามาสู่ตลาด ในขณะเดียวกัน บริษัท Eternal Plastic ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก PS ก็มีการหยุดการผลิตลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการผลิตในบางเม็ดพลาสติกเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต ในกรณีเรื่องของมาบตาพุดที่ทำให้โรงงานวัตถุดิบตั้งต้นสามารถเปิดดำเนินการได้ จึงส่งผลให้การผลิตเม็ดพลาสติกไม่เพิ่มขึ้นมากนัก

การค้า

ในไตรมาสนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 มีมูลค่านำเข้าประมาณ จาก 23,253 ล้านบาท มาที่ 24,031 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2552 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 48%

และปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 96,738 ตัน เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 และเพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบไตรมาส 1 ของปี 2552โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดอยู่ที่หมวด 3920 คือ ผลิตภัณฑ์พลาสติกแผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่ไม่ทำเป็นแบบเซลลูลาร์ และไม่เสริมให้แข็งแรง และหมวด 3923 ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้า

ส่วนมูลค่าส่งออกลดลง 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 มูลค่าส่งออกเท่ากับ 20,725 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2552

และปริมาณส่งออก เท่ากับ 216,968 ตัน เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 และเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552

หมายเหตุ การเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2552 จะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปี 2551

หากพิจารณาในเรื่องดุลการค้าจะเห็นได้ว่าไทยก็ยังคงขาดดุลการค้าในผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าตัวเลขการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกจะส่งออกลดลง สวนทางกับการส่งออกทั้งหมดของประเทศที่เพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกยังคงปรับตัวสูงขึ้นนั้น เนื่องจากเป็นการส่งออกทางอ้อม ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ถูกจัดในหมวดสินค้าอื่นที่ไม่ใช้พลาสติก เช่น รถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

แนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ภาพรวมในแต่ละอุตสาหกรรมที่พลาสติกเข้าไปเกี่ยวข้องน่าจะปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยายยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ก็ยังมีปัจจัยทางการเมืองที่สำคัญยิ่ง ที่ต้องคำนึงเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ลดความมั่นใจในการใช้จับจ่ายสินค้าของผู้บริโภค หรือการลดแหล่งชอปปิ้ง หรือการปิดกั้นการเดินทาง อีกทั้งกรณีลดความมั่นใจนักลงทุน ในกรณีของการฟ้องร้องโรงงานในมาบตพุด หรือแนวโน้มการขึ้นราคารถเมล์ ล้วนเป็นปัจจัยลบต่อการบริโภค แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง ในกรณีที่รัฐบาลจะมีการจำหน่ายพันธบัตรไทยเข้มแข็ง เพื่อนำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ